คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 577/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ปัญหาว่าค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นค่าภาษีอากรหรือค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องเป็นผู้ชำระตามข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ โจทก์และจำเลยทั้งสี่เคยโต้เถียงกันมาแล้วและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษาว่าปัญหาดังกล่าวคู่ความมิได้โต้เถียงกันแล้วเนื่องจากโจทก์แถลงยอมรับว่าจะเป็นผู้ชำระเอง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวอีกเป็นการไม่ชอบและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ว่าคู่ความฝ่ายใดผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ คดีถึงที่สุดโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ดังนั้น ปัญหาดังกล่าวย่อมเป็นอันยุติ และเมื่อศาลชั้นต้นได้พิจารณาและมีคำสั่งใหม่ว่าจำเลยทั้งสี่เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสัญญาต่างตอบแทนและคู่ความยกเลิกวันนัดชำระหนี้เดิมเป็นการชั่วคราว เนื่องจากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีท้องถิ่น ต่อมาศาลชั้นต้นได้ไกล่เกลี่ยคู่ความและแก้ไขเหตุโต้แย้งดังกล่าว คู่ความจะต้องกำหนดวันนัดให้จำเลยทั้งสี่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์และกำหนดวันให้โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยทั้งสี่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ไม่ปรากฏคู่ความหรือศาลชั้นต้นได้กำหนดวันชำระหนี้ขึ้นใหม่เพื่อให้คู่ความปฏิบัติแทนวันนัดเดิมตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อหน้าที่ในการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความยังไม่ถึงกำหนดชำระ จึงยังไม่มีคู่ความฝ่ายใดตกเป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อเนื้อหาในฎีกาของจำเลยทั้งสี่ยกขึ้นกล่าวอ้างหาได้มีข้อความส่วนใดที่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ แต่กลับฎีกากล่าวอ้างว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดินและภาษีธุรกิจเฉพาะก็เป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ยอมชำระ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้ง ๆ ที่ปัญหาเช่นว่านั้นได้ถึงที่สุดไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ฎีกาของจำเลยทั้งสี่เป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ถือว่าเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความโดยให้จำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 72264 พร้อมบ้านเลขที่ 40/52 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์และในวันดังกล่าวให้โจทก์ชำระเงินแก่จำเลยทั้งสี่จำนวน 400,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียม ค่าภาษีอากรและค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์โจทก์เป็นผู้ชำระ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวให้ถือว่าจำเลยทั้งสี่ตกเป็นผู้ผิดนัด และให้โจทก์ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่นำไปจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องชำระเงินใด ๆ ให้แก่จำเลยทั้งสี่ หากโจทก์ผิดนัดไม่ไปจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านภายในกำหนด หรือมิได้ชำระเงินจำนวน 400,000 บาท ให้แก่จำเลยทั้งสี่ภายในวันดังกล่าว ให้จำเลยทั้งสี่ริบเงินที่โจทก์ชำระไว้แก่จำเลยทั้งสี่ได้ทั้งหมด โจทก์ยื่นคำร้องว่า เมื่อถึงวันนัดโอนกรรมสิทธิ์และชำระเงิน โจทก์และจำเลยทั้งสี่ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐม สาขาสามพราน เพื่อจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ แต่ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวได้ เนื่องจากโจทก์และจำเลยทั้งสี่ไม่สามารถตกลงกันได้ว่าคู่ความฝ่ายใดจะต้องเป็นผู้ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีท้องถิ่น ขอให้ศาลนัดพร้อมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดพร้อม ในวันนัดพร้อมทนายความโจทก์แถลงว่า ปัญหาเรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะนั้น โจทก์ยินยอมที่จะเป็นผู้ชำระ แต่ทนายความจำเลยทั้งสี่แถลงว่า จำเลยทั้งสี่ยังไม่สามารถโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้ ศาลจึงให้เลื่อนไปนัดสอบถามตัวจำเลยที่ 4 เมื่อถึงวันนัดคู่ความแถลงร่วมกันว่า คดีตกลงกันได้โดยจำเลยทั้งสี่ประสงค์จะโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสี่ได้ขายสิ่งปลูกสร้างบ้านแบบทาวน์เฮาส์บนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นซึ่งก็ได้เข้ามาอยู่อาศัยแล้วจำเลยทั้งสี่จะไปเจรจาให้บุคคลดังกล่าวออกไปเสียก่อน กับขอให้ศาลเลื่อนไปนัดพร้อมใหม่เมื่อถึงวันนัด ทนายความจำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นตีความสัญญาประนีประนอมยอมความว่าคู่ความฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า ค่าภาษีอากรตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่รวมถึงค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ว่าคู่ความฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความตามคำร้องของจำเลยทั้งสี่ฉบับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า จำเลยทั้งสี่เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดให้จำเลยทั้งสี่ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์และกำหนดวันนัดให้โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยทั้งสี่ 400,000 บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ที่ว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะตามสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อความระบุชัดเจนว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดิน และภาษีธุรกิจเฉพาะก็เป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ยอมชำระ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เห็นว่า คดีนี้ในปัญหาที่ว่าค่าภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นค่าภาษีอากรหรือค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องเป็นผู้ชำระตามข้อความในสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยทั้งสี่เคยโต้เถียงกันมาแล้วและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษาลงวันที่ 29 มกราคม 2545 ว่าปัญหาดังกล่าวคู่ความมิได้โต้เถียงกันแล้วเนื่องจากโจทก์แถลงยอมรับว่าจะเป็นผู้ชำระเอง การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและมีคำสั่งในเรื่องดังกล่าวอีกเป็นการไม่ชอบและศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้มีคำพิพากษายกคำสั่งของศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและมีคำสั่งใหม่ว่าคู่ความฝ่ายใดผิดสัญญาประนีประนอมยอมความตามคำร้องของจำเลยทั้งสี่ ฉบับลงวันที่ 15 ธันวาคม 2543 ต่อไป คดีถึงที่สุดโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ดังนั้น ปัญหาว่าโจทก์หรือจำเลยทั้งสี่ฝ่ายใดจะต้องเป็นผู้ชำระค่าภาษีธุรกิจเฉพาะย่อมเป็นอันยุติแล้ว และศาลชั้นต้นได้พิจารณาและมีคำสั่งใหม่ในปัญหาว่าคู่ความฝ่ายใดผิดสัญญาประนีประนอมยอมความตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังกล่าวแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่เป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสัญญาต่างตอบแทนและคู่ความยกเลิกวันนัดชำระหนี้เดิมเป็นการชั่วคราวเนื่องจากมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีท้องถิ่น ต่อมาศาลชั้นต้นได้ไกล่เกลี่ยคู่ความและแก้ไขเหตุโต้แย้งดังกล่าวไปแล้ว คู่ความจะต้องกำหนดวันนัดให้จำเลยทั้งสี่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้แก่โจทก์และกำหนดวันให้โจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยทั้งสี่จำนวน 400,000 บาท ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว แต่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าคู่ความหรือศาลชั้นต้นได้กำหนดวันชำระหนี้ขึ้นใหม่เพื่อให้คู่ความปฏิบัติแทนวันนัดเดิมตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น เมื่อหน้าที่ในการชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวยังไม่ถึงกำหนดชำระ จึงยังไม่มีคู่ความฝ่ายใดตกเป็นฝ่ายผิดสัญญาเมื่อเนื้อหาในฎีกาของจำเลยทั้งสี่ยกขึ้นกล่าวอ้างหาได้มีข้อความส่วนใดที่โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ดังกล่าวนี้ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างไรไม่ แต่กลับฎีกากล่าวอ้างว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการโอนที่ดินและภาษีธุรกิจเฉพาะก็เป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ยอมชำระ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ทั้ง ๆ ที่ปัญหาเช่นว่านั้นได้ถึงที่สุดไปแล้วตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงวันที่ 29 มกราคม 2545 นั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสี่จึงเป็นฎีกาที่มิได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ถือว่าเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสี่

Share