คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1711/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม ป.อ. มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80 และ 83 ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 76 ประกอบ ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม แล้ว คงจำคุก 25 ปี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นฝึกและอบรม ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้อง ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้วเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เนื่องจาก ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม บัญญัติว่า ในกรณีผู้ซึ่งกระทำผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ได้กระทำผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุก 50 ปี ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นวางโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแล้วลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งโดยประกอบ ป.อ. มาตรา 18 วรรคสาม คงจำคุก 25 ปี นั้นไม่ถูกต้อง เพราะ จะทำให้จำเลยซึ่งมีอายุเกินสิบแปดปีไม่ได้รับประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 18 วรรคสาม และจะทำให้เด็กได้รับโทษเท่ากับผู้ใหญ่ จึงให้เปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นห้าสิบปีเสียก่อน แล้วจึงนำ ป.อ. มาตรา 80 ซึ่งให้ระวางโทษสองในสามของโทษห้าสิบปีมาปรับ หลังจากนั้นจึงลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 76 ประกอบมาตรา 18 วรรคสาม ดังนั้น จึงคงจำคุกเพียง 16 ปี 8 เดือน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโทษให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 83, 91, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบปลอกกระสุนปืนลูกซอง และหัวกระสุนปืนลูกซองของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบกับมาตรา 80 และมาตรา 83, มาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง อันเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 วรรคสามแล้ว คงจำคุก 25 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และโดยไม่มีเหตุอันสมควร ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 6 เดือน รวมเป็นโทษจำคุก 26 ปี อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) จึงให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นให้ส่งจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานครมีกำหนด 3 ปีนับแต่วันพิพากษา หากจำเลยมีอายุครบ 24 ปีก่อนครบกำหนดระยะเวลาฝึกอบรม ให้ส่งจำเลยไปจำคุกเท่ากับระยะเวลาฝึกอบรมที่เหลือ ริบปลอกกระสุนปืนลูกซอง และหัวกระสุนปืนลูกซองของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบปลอกกระสุนปืนลูกซองและหัวกระสุนปืนลูกซองของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดกับคนร้ายดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า แม้ว่าในช่วงแรกของการเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนายวุฒิกร พยานต่างพยายามบ่ายเบี่ยงไปว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ที่ร่วมชกต่อยกับผู้เสียหายที่ 1 และมาที่เกิดเหตุกับคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 ก็ตาม แต่ในช่วงท้ายพยานโจทก์ทั้งสองก็เบิกความยอมรับว่าจำเลยคือชายวัยรุ่นที่ชกต่อยกับผู้เสียหายที่ 1 และนั่งรถกระบะของคนร้ายดังกล่าวมายังสถานที่เกิดเหตุด้วย คำเบิกความของผู้เสียหายที่ 1 และนายวุฒิกรดังกล่าวจึงมิใช่ข้อพิรุธที่แสดงให้เห็นว่าประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองไม่เห็นว่าจำเลยเป็นคนร้ายรายนี้ดังที่เบิกความไว้ตอนต้น ทั้งในขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน ผู้เสียหายที่ 1 และนายวุฒิกรอยู่ในวัยหนุ่มย่อมเห็นเหตุการณ์ได้ชัดเจน และก่อนเกิดเหตุเพียง 15 นาทีผู้เสียหายที่ 1 และนายวุฒิกรก็มีเรื่องชกต่อยกับจำเลยและนายพัฒนพงศ์ จึงเห็นจำเลยในระยะใกล้ เชื่อได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 กับนายวุฒิกร ประจักษ์พยานโจทก์ทั้งสองจำจำเลยได้ ทั้งในชั้นจับกุมจำเลยก็รับว่าตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยได้เดินทางร่วมกับนายบุญเชิดไปยังที่เกิดเหตุ และเห็นนายบุญเชิดได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้อื่นจริง การที่คนร้ายซึ่งไม่ปรากฏว่ารู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้เสียหายที่ 1 มาก่อนเข้ามาในที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยและนายพัฒนพงศ์ซึ่งมีสาเหตุโกรธเคืองถึงขั้นชกต่อยกับผู้เสียหายที่ 1 มาก่อนนั้น แสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าบุคคลเหล่านี้ได้วางแผนกันมายิงผู้เสียหายที่ 1 โดยคนร้ายที่เป็นผู้ใหญ่กว่าทุกคนเป็นคนใช้อาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นซึ่งพาติดตัวโดยต่างไม่มีใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืนมายิงผู้เสียหายที่ 1 อันเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยร่วมกระทำความผิดกับคนร้ายดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2546 ได้เพิ่มความในมาตรา 18 วรรคสามแห่งประมวลกฎหมายอาญาว่า ในกรณีผู้ซึ่งกระทำผิดในขณะที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีได้กระทำผิดที่มีระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต ให้ถือว่าระวางโทษดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นระวางโทษจำคุก 50 ปี ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบกับมาตรา 80 และมาตรา 83 ขณะกระทำผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 วรรคสามแล้ว คงจำคุก 25 ปี นั้น จึงไม่ถูกต้อง เพราะจะทำให้จำเลยซึ่งมีอายุไม่เกินสิบแปดปีไม่ได้รับประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของมาตรา 18 วรรคสาม และจะทำให้เด็กได้รับโทษเท่ากับผู้ใหญ่จึงให้เปลี่ยนโทษประหารชีวิตเป็นห้าสิบปีเสียก่อน แล้วจึงนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ให้ระวางโทษสองในสามของโทษห้าสิบปีมาปรับหลังจากนั้น เมื่อลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ประกอบมาตรา 18 วรรคสามแล้วคงจำคุกเพียง 16 ปี 8 เดือน นอกจากนี้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2551 มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 75 และมาตรา 76 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ความใหม่แทน สำหรับคดีนี้ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุ 17 ปีเศษ การลดมาตราส่วนโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 (เดิม) กำหนดไว้ว่าถ้าศาลเห็นสมควรจะลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นลงหนึ่งในสามหรือกึ่งหนึ่งก็ได้ แต่ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะบังคับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ซึ่งกำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นสมควรพิพากษาลงโทษก็ให้ลดมาตราส่วนโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดลงกึ่งหนึ่ง กรณีจึงเป็นเรื่องที่กฎหมายบังคับว่าศาลจะต้องลดมาตราส่วนโทษให้แก่จำเลยมิใช่เป็นเรื่องที่ศาลเห็นสมควร การลดมาตราส่วนโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาข้างต้นดังกล่าวล้วนเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจยกขึ้นอ้างพร้อมแก้ไขโทษและปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 83 มาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง อันเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 17 ปีเศษ เมื่อลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 (ที่แก้ไขใหม่) ประกอบมาตรา 18 วรรคสามแล้ว จำคุก 16 ปี 8 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานร่วมกันมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุอันสมควร ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือนแล้ว รวมเป็นจำคุก 17 ปี 8 เดือน ส่วนการฝึกและอบรมให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share