คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 753/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ย่อมต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในหนี้ของห้างหุ้นส่วน เมื่อกรมสรรพากรเป็นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวจึงถือได้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของจำเลย อันอาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยได้
มูลหนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพิ่งมีคำวินิจฉัยภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชำระค่าภาษีอากรตามที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมิน เป็นเรื่องให้ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวชำระค่าภาษีอากรที่เกิดขึ้นแล้วให้ถูกต้องครบถ้วน หาใช่มูลหนี้ค่าภาษีเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยไม่
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมกับชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ออำเภอภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแต่ละปี ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 68 ต้องนำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ตนมีหน้าที่ต้องหักไปส่งณ ที่ว่าการอำเภอภายใน 7 วันนับแต่วันที่จ่ายเงินตามมาตรา 52และต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมกับชำระภาษีการค้าแต่ละเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ตามมาตรา 85 ทวิ และมาตรา 86รอบระยะเวลาบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. คือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึงวันที่ 31 ธันวาคม ดังนั้น หนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ปี 2518 ถึง 2520 จึงถึงกำหนดชำระภายใน 150 วันนับแต่วันที่ 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ หนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในการจ่ายค่าแรงงานแต่ละคราวในปี 2517 ถึงปี 2519 ถึงกำหนดชำระภายใน 7 วันนับแต่วันจ่ายเงินแต่ละคราวและหนี้ค่าภาษีการค้าในเดือนมีนาคม พฤษภาคม กรกฎาคมและสิงหาคม 2520 ถึงกำหนดชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนเมษายนมิถุนายน สิงหาคมและกันยายน 2520 ตามลำดับศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม2522 กำหนด 6 เดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์คือวันที่21 พฤศจิกายน 2521หนี้ค่าภาษีดังกล่าวจึงถึงกำหนดก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เกินกว่า 6 เดือน
เงินเพิ่มภาษีการค้าตามมาตรา 89 ทวิ เป็นเงินเพิ่มเนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ไม่ชำระหนี้ค่าภาษีการค้าที่จะต้องชำระแต่ละเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ต้องเสียเพิ่มอีกร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีการค้าที่ต้องชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าจึงถึงกำหนดชำระเป็นเดือนๆ ไปนับแต่วันที่ 15 ของเดือนที่ต้องชำระภาษีการค้า เงินเพิ่มภาษีการค้าที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2521 เป็นต้นมาย่อมเป็นหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 130(6)
ภาษีเทศบาลหรือภาษีท้องถิ่นเป็นภาษีที่คำนวณมาจากภาษีการค้าอัตราร้อยละ 10 ของภาษีการค้า เมื่อเงินเพิ่มภาษีการค้าส่วนหนึ่งเป็นหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช2483 มาตรา 130(6)ภาษีเทศบาลจำนวนเท่ากับร้อยละ 10ของเงินเพิ่มภาษีการค้าส่วนนั้นก็เป็นหนี้ตามมาตรา 130(6) เช่นเดียวกัน

ย่อยาว

คดีเดิมโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย ศาลชั้นต้นสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2522 ต่อมากรมสรรพากรเจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากรจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์พิจารณาแล้วเห็นว่าหนี้ดังกล่าวเป็นหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. มิใช่หนี้ส่วนตัวของจำเลยควรยกคำขอรับชำระหนี้ของเจ้าหนี้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอรับชำระหนี้

กรมสรรพากรเจ้าหนี้อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 130(6)

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาประการแรกว่ากรมสรรพากรเจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าภาษีอากรจากกองทรัพย์สินของจำเลยหรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างว่าหนี้ค่าภาษีอากรเป็นหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีวิชิตก่อสร้างต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้แต่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์ในฐานะส่วนตัว จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้รายนี้ เห็นว่าจำเลยเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีวิชิตก่อสร้าง ย่อมต้องรับผิดเป็นส่วนตัวในหนี้ของห้างหุ้นส่วนดังกล่าวโดยไม่จำกัดจำนวนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1077(2) เมื่อกรมสรรพากรเป็นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีวิชิตก่อสร้าง จึงถือได้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยอันอาจขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 94 ส่วนที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อ้างว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีวิชิตก่อสร้างได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพิ่งมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2524 ภายหลังที่จำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2522 ถือว่ามูลแห่งหนี้เกิดขึ้นภายหลังวันศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 นั้น ปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีวิชิตก่อสร้างคงอุทธรณ์การประเมินเฉพาะภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2520 และภาษีการค้าเดือนมีนาคม พฤษภาคม กรกฎาคมและสิงหาคม 2520 เห็นว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีวิชิตก่อสร้างมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิซึ่งได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีปีหนึ่ง ๆ ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 มูลหนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลในปี 2520 จึงเกิดขึ้นตั้งแต่ในปีนั้นเอง และห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีวิชิตก่อสร้างมีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าจากรายรับของทุกเดือนภาษีตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78 มูลหนี้ค่าภาษีการค้าเดือนมีนาคม พฤษภาคม กรกฎาคมและสิงหาคม 2520 จึงเกิดขึ้นในแต่ละเดือนนั้น ๆ เช่นเดียวกัน มูลหนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2520 และภาษีการค้าดังกล่าวจึงเกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสิ้น การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพิ่งมีคำวินิจฉัยภายหลังที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีวิชิตก่อสร้างชำระค่าภาษีอากรตามที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมิน เป็นเรื่องให้ห้างหุ้นส่วนดังกล่าวชำระค่าภาษีอากรที่เกิดขึ้นแล้วให้ถูกต้องครบถ้วน หาใช่มูลหนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีการค้าดังกล่าวเพิ่มเกิดขึ้นเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยไม่ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ากรมสรรพากรเจ้าหนี้มีสิทธิขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปมีว่า หนี้ที่กรมสรรพากรเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่ถึงกำหนดชำระภายใน 6 เดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์อันเป็นหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 130(6) หรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกาอ้างว่า หนี้ภาษีอากรที่เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ที่ค้างชำระในปี 2517 ถึงปี 2520 จึงมิใช่หนี้บุริมสิทธิตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 130(6) ส่วนกรมสรรพากรเจ้าหนี้แก้ฎีกาว่า เงินเพิ่มภาษีการค้าที่ถึงกำหนดภายใน 6 เดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ พร้อมด้วยภาษีท้องถิ่นร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มจำนวนนั้น เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 130(6) พิเคราะห์แล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีวิชิตก่อสร้างต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมกับชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลต่ออำเภอภายใน150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีแต่ละปีตามประมวลรัษฎากรมาตรา 68 ต้องนำภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ตนมีหน้าที่ต้องหักไปส่ง ณ ที่ว่าการอำเภอภายใน 7 วันนับแต่วันที่จ่ายเงินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 52และต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้าพร้อมกับชำระภาษีการค้าแต่ละเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 85 ทวิ และมาตรา 86 รอบระยะเวลาบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีวิชิตก่อสร้างคือตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม ดังนั้น หนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลของห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีวิชิตก่อสร้างปี 2518 ถึงปี 2520 จึงถึงกำหนดชำระภายใน 150 วันนับแต่วันที่ 31 ธันวาคมของปีนั้น ๆ หนี้ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายในการจ่ายค่าแรงงานแต่ละคราวในปี 2517 ถึงปี 2519 ถึงกำหนดชำระภายใน 7 วันนับแต่วันจ่ายเงินแต่ละคราว และหนี้ค่าภาษีการค้าในเดือนมีนาคม พฤษภาคม กรกฎาคมและสิงหาคม2520 ถึงกำหนดชำระภายในวันที่ 15 ของเดือนเมษายน มิถุนายน สิงหาคมและกันยายน 2520 ตามลำดับ ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2522 กำหนด 6 เดือนก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์คือวันที่ 21 พฤศจิกายน 2521 หนี้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีการค้าจึงถึงกำหนดก่อนมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เกินกว่า 6 เดือน อย่างไรก็ดีสำหรับเงินเพิ่มภาษีการค้าตามมาตรา 89 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงินเพิ่มเนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดชลบุรีวิชิตก่อสร้างไม่ชำระหนี้ภาษีการค้าเดือนมีนาคม พฤษภาคม กรกฎาคมและสิงหาคม 2520 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของภาษีการค้าที่ต้องชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าจึงถึงกำหนดชำระเป็นเดือน ๆ ไปนับแต่วันที่ 15 ของเดือนที่ต้องชำระภาษีการค้าเงินเพิ่มภาษีการค้าที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2521 เป็นต้นมาย่อมเป็นหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483มาตรา 130(6) นอกจากนั้นภาษีเทศบาลหรือภาษีท้องถิ่นเป็นภาษีที่คำนวณมาจากภาษีการค้าอัตราร้อยละ 10 ของภาษีการค้า เมื่อเงินเพิ่มภาษีการค้าส่วนหนึ่งเป็นหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 130(6) ภาษีเทศบาลจำนวนเท่ากับร้อยละ 10 ของเงินเพิ่มภาษีการค้าส่วนนั้นก็เป็นหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483มาตรา 130(6) เช่นเดียวกัน ที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้กรมสรรพากรเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 130(6) ทั้งสิ้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้กรมสรรพากรเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 มาตรา 130(6) เฉพาะหนี้เงินเพิ่มภาษีการค้าที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2521 เป็นต้นมา กับหนี้ภาษีเทศบาลจำนวนเท่ากับร้อยละ 10 ของหนี้เงินเพิ่มภาษีการค้าที่กล่าวนั้น หนี้นอกจากที่กล่าวแล้วให้กรมสรรพากรได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 มาตรา 130(8) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share