คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7366/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกผู้มีเพียงบุคคลสิทธิเหนือห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ตามสัญญาซื้อขายรถบัสพิพาทระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ย่อมไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนทะเบียนรถบัสพิพาทระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. กับจำเลยที่ 2 หรือให้จำเลยที่ 2 กรรมการบริษัท ด. โอนทะเบียนรถพิพาทมาให้โจทก์ได้ เพราะหลังจากทำสัญญาซื้อขายรถบัสพิพาทกับห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. แล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ไม่เคยได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทอันจะสามารถโอนทะเบียนให้แก่โจทก์ได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าเพราะเป็นเรื่องบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์โดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1303 และโจทก์เป็นผู้ครอบครองทรัพย์นั้น การเรียกเอาสังหาริมทรัพย์ตามหลักกฎหมายดังกล่าวผู้เรียกต่างต้องได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เรียกด้วยหลักกรรมสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งก่อนจึงจะพิจารณาว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายครอบครองทรัพย์ในลำดับต่อไป แต่คดีนี้ได้ความว่า โจทก์ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทแต่อย่างใด เพียงแต่มีสิทธิจะได้รับเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัท พ. ครบถ้วนแล้วเท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์อย่างใดๆ ได้ แม้ว่าโจทก์จะครอบครองรถบัสพิพาทก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนทางทะเบียนรถบัสพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 โอนทะเบียนรถคันดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากไม่สามารถดำเนินการได้ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนทะเบียนรถบัสหมายเลขทะเบียน 30 – 0420 พระนครศรีอยุธยา ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยว กับจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยที่ 2 โอนทางทะเบียนรถให้แก่โจทก์ หากไม่ไปดำเนินการหรือไม่สามารถดำเนินการได้ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบรับกันฟังว่า จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยว ประกอบธุรกิจให้เช่ารถบัสและการท่องเที่ยวอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัทดีจริงมอเตอร์ จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจรับจัดไฟแนนซ์รถยนต์อยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด เดิมรถบัสพิพาทหมายเลขทะเบียน 30 – 0420 พระนครศรีอยุธยา เป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวที่เช่าซื้อมาจากบริษัทพาราลิสซิ่ง จำกัด ระหว่างชำระค่าเช่าซื้อจำเลยที่ 1 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวทำสัญญาขายรถคันดังกล่าวให้แก่โจทก์ในราคา 1,450,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 500,000 บาท วันที่ 27 เดือนเดียวกัน ชำระอีก 500,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระเป็นเวลา 18 เดือน จำเลยที่ 1 นำรถบัสพิพาทไปเข้าไฟแนนซ์ของบริษัทดีจริงมอเตอร์ จำกัด เป็นเงิน 450,000 บาท โดยบริษัทดีจริงมอเตอร์ จำกัด นำเงินค่าเช่าซื้อที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวค้างชำระแก่บริษัทพาราลิสซิ่ง จำกัด ไปชำระให้แก่บริษัทพาราลิสซิ่ง จำกัด จนครบแล้วมอบเงินซึ่งเหลือประมาณ 100,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 รับไป ในส่วนหลักฐานหรือสัญญา บริษัทดีจริงมอเตอร์ จำกัด ให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวทำสัญญาขายสิทธิในสัญญาเช่าซื้อรถบัสพิพาทให้แก่บริษัทดีจริงมอเตอร์ จำกัด และทำสัญญาซื้อขายอีกหนึ่งฉบับในวันเดียวกัน มีข้อความว่าบริษัทดีจริงมอเตอร์ จำกัด ขายรถบัสพิพาทให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวในราคา 770,400 บาท โดยยอมให้ผ่อนชำระ 24 เดือน เดือนละ 32,100 บาท ตกลงให้กรรมสิทธิ์โอนเมื่อผ่อนชำระเสร็จ ปรากฏว่าโจทก์ผ่อนชำระค่ารถที่ทำสัญญาซื้อขายกับจำเลยที่ 1 ครบถ้วน แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถผ่อนชำระค่ารถให้แก่บริษัทดีจริงมอเตอร์ จำกัด ได้
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์จะขอให้เพิกถอนการโอนทะเบียนรถบัสพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้วให้จำเลยที่ 2 โอนทะเบียนรถบัสพิพาทให้แก่โจทก์ดังที่โจทก์ฟ้องได้หรือไม่ เห็นว่า ขณะโจทก์ตกลงซื้อรถบัสพิพาทจากจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์ทราบดีว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในรถบัสที่ซื้อเพราะยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อแก่บริษัทพาราลิสซิ่ง จำกัด ไม่เสร็จสิ้น โจทก์จึงอ้างตามที่ยกเป็นข้อฎีกาไม่ได้ว่า กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทตกเป็นของโจทก์ตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 การที่โจทก์ซื้อรถบัสพิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวทั้งที่รู้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวยังชำระค่าเช่าซื้อแก่บริษัทพาราลิสซิ่ง จำกัด ไม่หมดนั้น แม้สัญญาซื้อขายจะใช้บังคับระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวได้ แต่โจทก์ย่อมทราบดีว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวจะโอนทะเบียนรถให้แก่โจทก์ได้ก็ต่อเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวได้ชำระค่าเช่าซื้อแก่บริษัทพาราลิสซิ่ง จำกัด เสร็จสิ้นอันมีผลให้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทตกมาเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวแล้วเท่านั้น แต่ข้อเท็จจริงจากทางพิจารณาปรากฏว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน 2548 ซึ่งมีการชำระค่าเช่าซื้อทั้งหมดให้แก่บริษัทพาราลิสซิ่ง จำกัด นั้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวได้โอนขายสิทธิการเป็นผู้เช่าซื้อรถบัสพิพาทให้แก่บริษัทดีจริงมอเตอร์ จำกัด ไปในวันเดียวกันแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวจึงไม่อาจมีกรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทได้ แม้ว่าบริษัทพาราลิสซิ่ง จำกัด จะได้รับค่าเช่าซื้อครบถ้วนก็ตาม เพราะกรรมสิทธิ์ย่อมตกได้แก่ บริษัทดีจริงมอเตอร์ จำกัด ผู้รับโอนสิทธิการเช่าซื้อจากห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยว ดังนั้น การโอนทะเบียนรถบัสพิพาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 2 กรรมการบริษัทดีจริงมอเตอร์ จำกัด จึงเป็นการโอนโดยผลของสัญญาซื้อขายสิทธิการเช่าซื้อระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวกับบริษัทดีจริงมอเตอร์ จำกัด ซึ่งมีผลบังคับได้ โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกผู้มีเพียงบุคคลสิทธิเหนือห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยว ตามสัญญาซื้อขายรถบัสพิพาทระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยว ย่อมไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนทะเบียนรถบัสพิพาทระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวกับจำเลยที่ 2 หรือให้จำเลยที่ 2 กรรมการบริษัทดีจริงมอเตอร์ จำกัด โอนทะเบียนรถบัสพิพาทมาให้โจทก์ได้ เพราะหลังจากทำสัญญาซื้อขายรถบัสพิพาทกับห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวแล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวไม่เคยได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทอันจะสามารถโอนทะเบียนให้แก่โจทก์ได้ ดังที่วินิจฉัยมาแล้วเลย หากการไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทของห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวผู้ขาย โจทก์ก็ต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวในฐานะคู่สัญญาเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์จึงเป็นการชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าเพราะเป็นเรื่องบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์โดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1303 และโจทก์เป็นผู้ครอบครองทรัพย์นั้น เห็นว่า การเรียกเอาสังหาริมทรัพย์ตามหลักกฎหมายดังกล่าว ผู้เรียกต่างต้องได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เรียกด้วยหลักกรรมสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งก่อนจึงจะพิจารณาว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายครอบครองทรัพย์ในลำดับต่อไป แต่คดีนี้ได้ความว่าโจทก์ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทแต่อย่างใด เพียงแต่มีสิทธิจะได้รับเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด จิรวัฒน์การท่องเที่ยวชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัทพาราลิสซิ่ง จำกัด ครบถ้วนแล้วเท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์อย่างใด ๆ ได้ แม้ว่าโจทก์จะครอบครองรถบัสพิพาทก็ตาม ฎีกาของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share