แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๔๓/๒๕๕๕
วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดปทุมธานี
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัย ชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๒ พลอากาศโทหญิง วิมล ลิมปิสวัสดิ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง การประปานครหลวง ที่ ๑ กรมธนารักษ์ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๙๓๔/๒๕๕๒ ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๐๓๓ และโฉนดเลขที่ ๙๐๓๔ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ ๙๖ ตารางวา เมื่อผู้ฟ้องคดีรังวัดสอบเขตเนื่องจากเห็นว่ามีการก่อสร้างถนนรุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดี ปรากฏว่าโฉนดที่ดินเลขที่ ๙๐๓๓ พบหลักเขตเดิม ๔ หลัก เจ้าของที่ดินข้างเคียงรับรองแนวเขตทุกแปลง แต่ที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๐๓๔ ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทและอยู่ด้านหน้าของที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๐๓๓ พบหลักเขตเดิม ๒ หลัก ส่วนหลักเขตที่อยู่ติดคลองประปาสูญหาย เจ้าพนักงานที่ดินได้ทำการรังวัดและคำนวณตามหลักวิชาการ ได้เนื้อที่ ๐ – ๐ – ๙๖ ไร่ ตรงตามเนื้อที่ในโฉนดที่ดิน โดยธนารักษ์พื้นที่ปทุมธานีรับรองแนวเขต ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือคัดค้านแนวเขต เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีรังวัดใหม่ได้
แนวเขตตามเดิม แต่ตัวแทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นำชี้คัดค้านโดยใช้แนวเขตหลักปูนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำให้
ที่ดินของผู้ฟ้องคดีลดลง ๑๑ ตารางวา ผู้แทนธนารักษ์พื้นที่ปทุมธานีขอถอนการรับรองแนวเขตที่เคยรับรองไว้ อ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้านแนวเขต ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นการเจตนาเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยทุจริต ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนที่ดินส่วนที่รุกล้ำและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลงนามรับรองแนวเขตตามที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี ทำการรังวัดไว้ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๑
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำขอให้ศาลหมายเรียกกรมธนารักษ์เข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ด้วยการร้องสอด ศาลปกครองกลางอนุญาตตามคำขอ
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๐๓๔ แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงใหญ่เนื้อที่ประมาณ ๕๐๐ ไร่ เมื่อปี ๒๕๑๔ การรังวัดแบ่งแยก เจ้าของเดิมและเจ้าพนักงานที่ดินมิได้แจ้งกำหนดวันนัดสอบเขตที่ดินให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทราบ และเจ้าของที่ดินเดิมได้ชี้แนวเขตที่ดินรุกล้ำเข้ามาในแนวเขตคลองประปา การออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการออกโฉนดทับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เจ้าของที่ดินเดิมจึงไม่มีสิทธิในที่ดินส่วนที่รุกล้ำ และผู้รับโอนในที่ดินในภายหลัง ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินส่วนที่รุกล้ำเช่นกัน การคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายในฐานะ ผู้ครอบครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงไม่จำต้องคืนและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท และไม่ต้องลงนามรับรองแนวเขตที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี ขอให้ยกฟ้อง และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ฟ้องแย้งให้ผู้ฟ้องคดีดำเนินการเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ไขเปลี่ยนแปลงโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้มีแนวเขตและเนื้อที่เป็นไปตามที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คัดค้าน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เป็นไปตามคำขอของผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทในคดีเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินระหว่างคู่กรณี จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใดอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. ๒๕๑๐ มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว และมีวัตถุประสงค์ในการสำรวจ จัดหาแหล่งน้ำดิบ และจัดให้ได้มาซึ่งน้ำดิบเพื่อใช้ในการประปา ผลิต การจัดส่งและจำหน่ายน้ำประปาในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ และควบคุมมาตรฐานเกี่ยวกับระบบ
ประปาเอกชนในเขตท้องที่ดังกล่าว รวมถึงการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับหรือเป็นประโยชน์แก่
การประปานครหลวง ตามมาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน อีกทั้งมีอำนาจหน้าที่ในการคุ้มครองและดูแลรักษาคลองประปาและเขตคลองประปาตามที่กฎหมายว่าด้วยการรักษาคลองประปากำหนด ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่ในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษาและพัฒนาที่ราชพัสดุ รวมทั้งดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ ตามข้อ ๒ ของกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง พ.ศ. ๒๕๕๑ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจึงมีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น การก่อสร้างคันคลองประปาหรือถนนเลียบคลองประปาของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงเป็นการใช้อำนาจทางปกครอง และดำเนินกิจการประปาอันเป็นบริการสาธารณะตามที่กฎหมายว่าด้วยการประปานครหลวงกำหนดไว้ ส่วนการที่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคัดค้านการรังวัดที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยอ้างว่าแนวเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีเหลื่อมเข้าไปในแนวเขตคลองประปาของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติรักษาคลองประปา พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๕ ออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดบริเวณและเขตคลองประปาและบริเวณคลองรับน้ำในเขตการประปานครหลวงและจังหวัดปทุมธานีไว้ จึงเป็นกรณีที่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิใช้ประโยชน์จากที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในกิจการประปา และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลและจัดการที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ ปฏิบัติหน้าที่ในการคุ้มครองคลองประปา และคันคลองประปา ซึ่งอยู่ในแนวเขตคลองประปาหรือเขตหวงห้ามเพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดทำลายหรือทำให้คันคลองประปาเสียหายตามที่มาตรา ๙ และมาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติรักษาคลองประปา พ.ศ. ๒๕๒๖ กำหนด ดังนั้น การฟ้องว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ก่อสร้างถนนริมคลองประปาในที่ดินพิพาทและนำชี้แนวเขตคัดค้านการรังวัดรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย กรณีตามฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับให้ผู้ถูกฟ้องคดีคืนที่ดินส่วนที่รุกล้ำ พร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินหรือสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่พิพาท และให้งดเว้นการคัดค้านการรังวัดที่ดินของผู้ฟ้องคดีได้ ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) ประกอบกับมาตรา ๗๑ (๑) และ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
แม้คดีนี้จะมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยก่อนว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้ดำเนินการก่อสร้างถนนริมคลองประปารุกล้ำที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือก่อสร้างในเขตคลองประปาซึ่งเป็นที่ราชพัสดุก็ตาม แต่ประเด็นดังกล่าวก็เป็นเพียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ประกอบการพิจารณาในข้อหาการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายเท่านั้น หามีผลทำให้
คดีนี้ซึ่งเป็นคดีปกครองเป็นคดีแพ่งไปได้ไม่ และแม้การพิจารณาในเรื่องกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะต้อง
พิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือประมวลกฎหมายที่ดินซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปก็ตาม แต่การนำบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดี ก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลหนึ่งศาลใดที่จะนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายเหล่านั้นมาวินิจฉัยข้อพิพาทของคดีไว้โดยเฉพาะ ดังนั้นศาลปกครองจึงสามารถนำบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายที่ดินมาใช้ในการวินิจฉัย ข้อพิพาทแห่งคดีได้ นอกจากนั้น ศาลปกครองมีอำนาจกำหนดคำบังคับโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองถือปฏิบัติตามสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลที่เกี่ยวข้องในกรณีที่มีการฟ้องให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงความเป็นอยู่ของสิทธินั้น ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังบัญญัติให้ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า อันเป็นบทบัญญัติที่ยืนยันให้เห็นว่าศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินและนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทในคดีนี้ได้ ประกอบกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองไม่อาจถือได้ว่าเป็นผู้ทรงกรรมสิทธิ์หรือผู้ทรงสิทธิครอบครองในถนนพิพาท แต่เป็นเพียงผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการจัดส่งและจำหน่ายน้ำประปาโดยการขุดคลองประปาและก่อสร้างคันคลองประปาและถนนริมคลองประปา รวมทั้งคุ้มครองและดูแลรักษาคลองประปาในเขตคลองประปาเท่านั้น ข้อพิพาทในทำนองนี้จึงไม่อาจเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดินดังเช่นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนทั่วไป เมื่อคดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของ ศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ ตามมาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาคำฟ้องประกอบคำขอท้ายฟ้องของผู้ฟ้องคดีที่ขอให้ศาลบังคับให้ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีคืนที่ดินส่วนที่รุกล้ำและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท และขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลงนามรับรองแนวเขตตามที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานีทำการรังวัดไว้เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๑ จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ของฝ่ายผู้ฟ้องคดีคือ ต้องการยืนยันว่าที่ดินส่วนพิพาทจำนวน ๑๑ ตารางวานั้นเป็นของฝ่ายผู้ฟ้องคดีเพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินระบุจำนวนเนื้อที่ดินที่เป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดีให้ตรงกันทั้งในสภาพความเป็นจริงและตรงกับที่ระบุในโฉนด
การที่ศาลจะมีคำพิพากษาว่า จะบังคับตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาถึง
ข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามคำฟ้องและคำให้การประกอบหลักกฎหมายและพยานหลักฐานเบื้องต้นในสำนวน แม้ในชั้นนี้จะยังไม่ถึงขั้นนำพยานหลักฐานเข้าสืบ แต่เมื่อพิจารณาจากคำฟ้องที่ฝ่ายผู้ฟ้องคดีกล่าวหาว่าฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีรุกล้ำเข้าไปในเขตที่ดินของตนเนื้อที่ส่วนที่รุกล้ำจำนวน ๑๑ ตารางวา โดยฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งว่าไม่ได้รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของฝ่ายผู้ฟ้องคดี ที่ดินส่วนพิพาทเป็นโฉนดเลขที่ ๙๐๓๔ ของผู้ฟ้องคดี คดีนี้เป็นการออกโฉนดที่ดินทับที่คลองประปาและแนวคันคลองประปาอันเป็นแนวเขตคลองประปาได้ก่อสร้างขึ้นตั้งแต่ปี ๒๔๕๖ และเป็นที่ดินราชพัสดุเนื่องจากเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ย่อมมีผลเท่ากับฝ่ายที่ผู้ถูกฟ้องคดียืนยันว่าที่ดินส่วนที่พิพาทจำนวน ๑๑ ตารางวานั้น ไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายผู้ฟ้องคดี การที่จะวินิจฉัยว่าฝ่ายใดรุกล้ำหรือไม่ ข้อเท็จจริงที่เป็นหลักสำคัญในการชี้ขาดคือที่ดินส่วนที่พิพาทนั้นเป็นของฝ่ายใด หากเป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายผู้ฟ้องคดี ในฐานะที่ฝ่ายผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ย่อมมีอำนาจที่จะใช้สอย จำหน่ายและได้ซึ่งดอกผลกับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ ซึ่งเป็นผลที่ตามมาจากอำนาจกรรมสิทธิ์ การที่ฝ่าย ผู้ฟ้องคดีดำเนินการรังวัดสอบเขตก็เป็นไปเพื่อตรวจสอบความถูกต้องแท้จริงแห่งแดนกรรมสิทธิ์ที่ครอบครองกับที่ปรากฏในเอกสารให้ถูกต้องตรงกัน การออกโฉนดที่ดินเป็นการจำลองอาณาเขตของที่ดินตามที่ผู้มีสิทธิยึดครอบครองอยู่จริง แล้วคำนวณขนาดจากพื้นที่จริงตามหลักวิชาการย่อลงตามสัดส่วนเป็นรูปแผนที่ของที่ดินเขียนลงในโฉนดพร้อมทั้งระบุชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ของผู้มีสิทธิในที่ดิน ตำแหน่งที่ดิน จำนวนเนื้อที่ รูปแผนที่ของที่ดินแปลงนั้นแสดงเขตข้างเคียงทั้งสี่ทิศตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๕๗ ตามบทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โฉนดที่ดินเพียงเป็นเอกสารที่รับรองขอบเขตแห่งกรรมสิทธิ์ตามสิทธิที่แท้จริงเท่านั้น ส่วนการรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๕ โดยมีการสร้างหมุดหลักฐานเพื่อการแผนที่หรือปักหลักหมายเขตที่ดิน แสดงขอบเขตตำแหน่งที่ดินก็ต้องกระทำหลังจากที่ทราบขอบเขตแห่งสิทธิในที่ดินที่แน่นอน ตามที่ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงตกลงกันหรือตามคำพิพากษาของศาล หรือการรังวัดเพื่อสอบเขตที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๙ ทวิ ก็เป็นกระบวนการตรวจสอบซ้ำเพื่อยืนยันถึงสิทธิที่แท้จริง โดยต้องให้ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงหรือผู้รับมอบอำนาจให้กระทำแทนมาระวังแนวเขตและลงชื่อรับทราบแนวเขตที่ดินของตน หรือเรียกให้บุคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำหรือสั่งให้ส่งเอกสารหรือหลักฐานอื่นใดที่เกี่ยวข้องตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๗๐ กำหนด และหากผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงหรือผู้รับมอบอำนาจมากระทำแทนรับรองเช่นไร แม้ปรากฏว่าการครอบครองไม่ตรงกับแผนที่หรือเนื้อที่ในโฉนดที่ดินให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ไขรูปแผนที่หรือเนื้อที่ให้ตรงตามความเป็นจริงได้ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๙ ทวิ วรรคสอง ในกรณีผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงคัดค้าน แม้เจ้าพนักงานมีอำนาจไกล่เกลี่ย แต่หากไม่ตกลงกันก็ต้องให้คู่กรณีไปฟ้องต่อศาลภายในเก้าสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้ง ตาม
ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๙ ทวิ วรรคห้า และในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้
เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้วให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๑ วรรคแปด ซึ่งสอดคล้องกับกรณีที่ดำเนินการออกโฉนดครั้งแรกสำหรับที่ดินแต่ละแปลงหากมีการโต้แย้งแล้วตกลงกันได้ก็ให้เจ้าพนักงานดำเนินการไปตามที่ตกลงกัน หากตกลงกันไม่ได้ก็ให้ไปใช้สิทธิทางศาล ตามที่ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๖๐ กำหนด การที่ ผู้ฟ้องคดีฟ้องขอให้บังคับฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองถอนคำคัดค้านเพื่อให้การรังวัดสอบเขตที่ดินของ ผู้ฟ้องคดีดำเนินไปจนเสร็จสิ้นนั้น การรังวัดสอบเขตที่ดินของผู้ฟ้องคดีก็เพื่อตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงตามที่มีเอกสารยืนยันรับรองว่าที่ดินส่วนพิพาทในคดีนี้เป็นของผู้ฟ้องคดีนั้นตรงกับสภาพความเป็นจริงหรือไม่ ในขณะที่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองปฏิเสธและให้การต่อสู้ดังที่ได้กล่าวไว้ ยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้
ในชั้นนี้ การที่จะพิจารณาว่า ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิจะคัดค้านการนำชี้เพื่อรังวัดสอบเขตของ
ฝ่ายผู้ฟ้องคดีได้หรือไม่ และจะให้ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองถอนคำคัดค้านการรังวัดสอบเขตหรือไม่ ก็จะต้องพิจารณาว่า ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิที่แท้จริงในที่ดินส่วนที่พิพาทหรือไม่ หากฝ่าย ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีสิทธิในที่ดินส่วนที่พิพาทย่อมมีอำนาจที่จะคัดค้านไม่ให้ฝ่ายผู้ฟ้องคดีนำชี้รุกล้ำเข้ามาในเขตที่ดินส่วนที่พิพาทนั้นได้โดยอาศัยอำนาจจากบทบัญญัติในกฎหมายที่รับรองหลักกรรมสิทธิ์ ซึ่งหากได้ความว่าฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิในที่ดินส่วนพิพาทย่อมจะส่งผลให้ศาลไม่อาจบังคับตามคำขอของฝ่ายผู้ฟ้องคดีในข้อนี้ได้ เพราะด้วยเหตุอำนาจแห่งกรรมสิทธิ์จะส่งผลให้การกระทำของฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในคดีนี้ไม่เป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และในทางตรงกันข้ามหากพิสูจน์ได้ว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของที่ดินส่วนที่พิพาทที่แท้จริงฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองย่อมไม่อาจใช้อำนาจใดไปคัดค้านการรังวัดสอบเขตของผู้ฟ้องคดีเช่นกัน และการที่ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองค้านการนำชี้ในการรังวัดสอบเขตของผู้ฟ้องคดีที่นำชี้ตามแนวที่ปรากฏในเอกสารสิทธิ โดยที่ผู้คัดค้านไม่ใช่ผู้มีสิทธิในที่ดินข้างเคียงหรือไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนผู้มีสิทธิข้างเคียง ย่อมกระทบต่อสิทธิของผู้ฟ้องคดี และส่งผลให้การกระทำใด ๆ ในที่ดินส่วนที่พิพาทตามฟ้องเป็นละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีทันทีที่มีการล่วงล้ำเข้าไปในแดนกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดี ตามคำขอท้ายฟ้องที่ขอให้บังคับฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคืนที่ดินส่วนที่รุกล้ำและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท โดยผู้ฟ้องคดีอ้างว่าที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นที่ดินของตน ก็เป็นคำขอที่มุ่งโดยตรงที่จะให้ตนได้ใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าของสิทธิในที่ดินส่วนพิพาท เป็นการขอโดยอาศัยบทบัญญัติตามกฎหมายที่คุ้มครองกรรมสิทธิ์ และเป็นการขอให้เยียวยาความเสียหายโดยให้ส่งมอบทรัพย์สินคืนแก่ผู้มีสิทธิที่แท้จริง เพื่อที่จะให้ผู้มีสิทธิได้ใช้ประโยชน์จากการเป็นเจ้าของสิทธิในที่ดินส่วนพิพาทนั้น การที่ศาลจะพิพากษาว่าจะให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองคืนที่ดินส่วนที่รุกล้ำและ
ขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาทตามคำขอของฝ่ายผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความ
ก่อนอีกเช่นกันว่าที่ดินส่วนพิพาทเป็นของฝ่ายผู้ฟ้องคดีหรือไม่ ประกอบกับข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างแนวถนนและการปักเสาไฟฟ้าหรือการคัดค้านการรังวัดสอบเขต
คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างไม่โต้แย้ง เพียงฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวอ้างว่าการนำชี้แนวเขตกระทำลงในที่ดิน
ส่วนที่ตนมีสิทธิและที่ดินส่วนพิพาทไม่เป็นสิทธิของผู้ฟ้องคดี ทั้งไม่มีการกล่าวอ้างว่าเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่กระทำการในที่ดินส่วนที่ไม่ใช่สิทธิของตนได้ ดังนั้น ในการจะพิจารณาพิพากษาว่าจะมี คำบังคับตามคำขอข้อใดข้อหนึ่งหรือทั้งหมดตามฟ้องของผู้ฟ้องคดีได้หรือไม่ จึงล้วนขึ้นอยู่กับการพิจารณาให้ได้ความก่อนว่าที่ดินส่วนพิพาทในคดีนี้เป็นสิทธิของฝ่ายใดทั้งสิ้น คดีนี้จึงเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๐๓๓ และโฉนดเลขที่ ๙๐๓๔ ตำบลบ้านใหม่ อำเภอเมืองปทุมธานี จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ ๙๖ ตารางวา เมื่อผู้ฟ้องคดีรังวัดสอบเขตเนื่องจากเห็นว่ามีการก่อสร้างถนนรุกล้ำที่ดินดังกล่าว เจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดและคำนวณตามหลักวิชาการได้เนื้อที่ตรงตามที่ปรากฏในโฉนด โดยมีธนารักษ์พื้นที่ปทุมธานีรับรองแนวเขต ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีหนังสือคัดค้านแนวเขต เมื่อทำการรังวัดใหม่ก็ได้แนวเขตตามเดิม แต่ตัวแทนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ นำชี้คัดค้านโดยใช้แนวเขตหลักปูนของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำให้ที่ดินของผู้ฟ้องคดีลดลง ๑๑ ตารางวา ผู้แทนธนารักษ์พื้นที่ปทุมธานีจึงขอถอนการรับรองแนวเขตตามที่ได้รับรองไว้ การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นการเจตนาเข้ายึดถือครอบครองที่ดินของผู้ฟ้องคดีโดยทุจริตไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ คืนที่ดินส่วนที่รุกล้ำและขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท และให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ลงนามรับรองแนวเขตตามที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดปทุมธานี ทำการรังวัดไว้ เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๑ ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๙๐๓๔ แบ่งแยกมาจากที่ดินแปลงใหญ่เนื้อที่ประมาณ ๕๐๐ ไร่ เมื่อปี ๒๕๑๔ การรังวัดแบ่งแยก เจ้าของเดิมและเจ้าพนักงานที่ดินมิได้แจ้งกำหนดวันนัดสอบเขตที่ดินให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทราบ และเจ้าของที่ดินเดิมได้ชี้แนวเขตที่ดินรุกล้ำเข้ามาในแนวเขตคลองประปา การออกโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวไม่ถูกต้องและไม่ชอบ
ด้วยกฎหมาย เป็นการออกโฉนดทับที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน เจ้าของที่ดินเดิมจึงไม่มีสิทธิในที่ดินส่วนที่รุกล้ำ และผู้รับโอนในที่ดินในภายหลัง ก็ไม่มีสิทธิในที่ดินส่วนที่รุกล้ำเช่นกัน การคัดค้านการรังวัดสอบเขตที่ดินเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมายในฐานะผู้ครอบครองที่ดินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงไม่จำต้องคืนและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาท และไม่ต้องลงนามรับรองแนวเขตที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดี เห็นว่า เป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดินพิพาท ซึ่งการที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความ
เสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างพลอากาศโทหญิง วิมล ลิมปิสวัสดิ์ ผู้ฟ้องคดี การประปานครหลวง ที่ ๑ กรมธนารักษ์ ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน