แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีเป็นเรื่องการขนส่งสินค้าทางทะเลระบบตู้คอนเทนเนอร์แบบ FCL/FCL หรือ CY/CY (SOC) โดยผู้ส่งจะเป็นผู้บรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้คอนเทนเนอร์ของตนที่สถานที่ของผู้ส่ง ปิดตู้ผนึกดวงตราแล้วนำตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งมอบให้แก่ผู้ขนส่งที่ท่าเรือต้นทาง ผู้ส่งจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการเลือกตู้คอนเทนเนอร์ให้เหมาะสมกับลักษณะและสภาพของสินค้า ทั้งยังต้องจัดบรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้คอนเทนเนอร์อย่างเหมาะสมแก่การขนส่งทางทะเล โดยเฉพาะกรณีเป็นการขนส่งสินค้าจากท่าเรือผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นระยะทางกว่า 6,000 ไมล์ ซึ่งอาจต้องเผชิญกับพายุและคลื่นลมรุนแรงในทะเลอันเป็นภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาแก่เรือเดินทะเล
สินค้าพิพาทเป็นลูกกลิ้งทำด้วยเหล็กเป็นส่วนประกอบหลัก มีน้ำหนักมาก โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเชือกไนล่อนรับแรงดึงสูงที่ใช้ผูกรัดสินค้าสามารถรับน้ำหนักได้เท่ากับน้ำหนักของลูกกลิ้งหรือไม่ แต่เชื่อว่าไม่สามารถรับน้ำหนักหรือรับแรงดึงสูงเทียบเท่ากับลวดสลิงหรือโซ่ได้ เมื่อพิจารณาถึงเชือกไนล่อนที่นำมาใช้รัดยึดโยงลูกกลิ้งตามรูปถ่ายแล้ว เชื่อว่าไม่สามารถรัดตรึงลูกกลิ้งดังกล่าวมิให้เคลื่อนไหวได้ เมื่อพบกับสภาพแห่งท้องทะเลที่มีพายุและคลื่นลมที่รุนแรง ส่วนการที่ตู้คอนแทนเนอร์อีกหลายตู้ในเรือไม่ได้รับความเสียหายทั้งที่บรรจุสินค้าลูกกลิ้งลักษณะเดียวกับที่เกิดความเสียหาย ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าการจัดบรรจุสินค้าพิพาทในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดเหมาะสมแก่สภาพและลักษณะของสินค้าแล้ว นอกจากนี้ ตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทเป็นตู้ใช้แล้วที่มีการซื้อมาเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าพิพาทโดยเฉพาะ และเป็นตู้แบบใช้งานทั่วไป ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับสินค้าซึ่งมีลักษณะพิเศษเช่นสินค้าพิพาท เมื่อพิจารณาถึงลักษณะความเสียหายของตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทที่ได้รับความเสียหายพบว่า ตู้ส่วนใหญ่ผนังฉีกขาดทะลุเป็นรู บางตู้พื้นยุบเป็นช่องเนื่องจากถูกลูกกลิ้งที่บรรจุอยู่ภายในหลุดจากตำแหน่งกระแทกและลูกกลิ้งบางลูกทะลุหลุดออกจากตู้คอนเทนเนอร์ ตู้คอนเทนเนอร์ที่เสียหายทั้งหมดมีลักษณะเป็นสนิมอยู่ทั่วไป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ฉีดขาดและทะลุเป็นรูได้ง่าย การที่ฝ่ายผู้ส่งของจัดหาตู้คอนเทนเนอร์มาใช้บรรจุสินค้าพิพาทถึง 159 ตู้ โดยการซื้อตู้คอนเทนเนอร์ใช้แล้วมาใช้เพื่อการขนส่งสินค้าพิพาทโดยเฉพาะซึ่งต้องซื้อจากผู้ประกอบกิจการขนส่งระบบตู้คอนเทนเนอร์หลายราย และการที่ผู้ประกอบกิจการขนส่งจะขายตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งตนจำเป็นต้องใช้ในการขนส่งสินค้าประจำในราคาถูกนั้น ย่อมหมายความว่าตู้คอนเทนเนอร์นั้นใช้งานมานานจนใกล้หมดอายุการใช้งานหรือหมดอายุการใช้งานไปแล้ว จึงมีเหตุผลที่เป็นไปได้ว่า ตู้คอนเทนเนอร์ที่เสียหายมีสภาพเก่า ไม่มั่นคงแข็งแรงพอที่จะบรรจุสินค้าพิพาท ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ส่งของที่นำตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่มั่นคงแข็งแรง และไม่เหมาะสมแก่สภาพของสินค้าพิพาทมาใช้บรรจุสินค้าพิพาท และการบรรจุผูกรัดสินค้าพิพาทภายในตู้คอนเทนเนอร์ไม่มั่นคงแข็งแรงไม่เหมาะสมกับลักษณะและสภาพของสินค้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 84,517,924.52 บาท และ 119,338.83 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 79,425,958.93 บาท และ 112,149 ดอลลาร์สหรัฐ นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 15,858,178.80 บาท และจำนวน 109,149 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 8 มีนาคม 2547) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีนี้เป็นเรื่องการขนส่งสินค้าทางทะเลระบบตู้คอนเทนเนอร์แบบ FCL/FCL หรือ CY/CY (SOC) โดยที่ต้นทางผู้ส่งจะเป็นผู้บรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้คอนเทนเนอร์ของตนที่สถานที่ของผู้ส่งปิดตู้ผนึกดวงตราแล้วนำตู้คอนเทนเนอร์ไปส่งมอบให้แก่ผู้ขนส่งที่ท่าเรือต้นทาง ดังนั้นผู้ส่งจึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการเลือกตู้คอนเทนเนอร์ให้เหมาะสมกับลักษณะและสภาพของสินค้า ทั้งยังต้องจัดบรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้คอนเทนเนอร์อย่างเหมาะสมแก่การขนส่งทางทะเล โดยเฉพาะกรณีเป็นการขนส่งสินค้าจากท่าเรือเมืองโอ๊คแลนด์ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา แล่นผ่านมหาสมุทรแปซิฟิกมายังท่าเรือไทจุง ดินแดนไต้หวัน เป็นระยะทางกว่า 6,000 ไมล์ ซึ่งอาจต้องเผชิญกับพายุคลื่นสูงและลมรุนแรง และข้อเท็จจริงก็ได้ความว่า เรือ WAN HAI 263 และเรือ WAN HAI 262 ที่เกิดเหตุในระหว่างวันที่ 26 และ 27 ตุลาคม 2545 ได้เผชิญกับพายุรุนแรง ทะเลมีคลื่นสูงถึง 7 และ 8 เมตร ทำให้เรือโคลงมาก น้ำทะเลถูกพัดขึ้นมาบนดาดฟ้าเรือตลอดเวลา แต่เรือ WAN HAI 263 และเรือ WAN HAI 262 ก็ได้แล่นถึงท่าเรือไทจุงในวันที่ 5 และวันที่ 7 พฤศจิกายน 2545 ตามลำดับ ขณะเกิดเหตุเรือ WAN HAI 263 บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 739 ตู้ โดยเป็นตู้คอนเทนเนอร์เปล่า 694 ตู้ และตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้า 45 ตู้ รวมทั้งตู้ที่บรรจุสินค้าพิพาทจำนวน 4 ตู้ ด้วย ส่วนเรือ WAN HAI 262 บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าจำนวน 829 ตู้ โดยรวมตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าพิพาทด้วยจำนวน 50 ตู้ ซึ่งถูกจัดวางไว้ในระวางการบรรทุกแตกต่างกันมีทั้งในระวางเรือและบนปากระวางเรือ เมื่อเรือทั้งสองลำเข้าเทียบท่าเรือไทจุง ปรากฏว่าตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าพิพาททั้ง 4 ตู้ บนเรือ WAN HAI 263 และตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าพิพาทจำนวน 24 ตู้ บนเรือ WAN HAI 262 ได้รับความเสียหาย เนื่องจากสินค้าพิพาทที่บรรจุอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าว เคลื่อนตัวหลุดจากตำแหน่งกระแทกตู้คอนเทนเนอร์ เป็นเหตุให้ตู้คอนเทนเนอร์รวม 28 ตู้ ดังกล่าวได้รับความเสียหาย ฉีก ขาด ทะลุเป็นรู และมีสินค้าพิพาทบางส่วนหลุดทะลุออกจากตู้หล่นกระแทกกับตู้คอนเทนเนอร์อื่นที่อยู่ใกล้เคียงและอุปกรณ์เรือบางส่วนได้รับความเสียหาย โดยข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์มิได้นำสืบหักล้างฟังได้ว่า สินค้าพิพาทที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ที่เหลือ รวมทั้งตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้ารายอื่นที่บรรทุกมากับเรือทั้งสองลำไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด และตู้คอนเทนเนอร์ทุกตู้บนเรือทั้งสองลำยังถูกผูกรัดอยู่บนระวางการบรรทุกของเรือ ไม่มีตู้คอนเทนเนอร์ใดหลุดหรือตกจากระวางการบรรทุก รวมทั้งไม่มีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ตัวเรือและอุปกรณ์เรือทั้งสองลำ อันเนื่องจากเรือได้ผจญกับพายุและคลื่นลมแรงดังกล่าวแต่อย่างใด อันเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่าพายุและคลื่นลมรุนแรงในทะเลเป็นภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดาแก่เรือเดินทะเล ซึ่งผู้ที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเดินเรือในทะเลพึงคาดหมายได้อยู่แล้ว
สมควรหยิบยกปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ขึ้นวินิจฉัยก่อนว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาทตามฟ้องเกิดขึ้นจากความผิดของผู้ส่งของหรือไม่ เห็นว่า สินค้าพิพาทที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ที่เสียหายทั้ง 28 ตู้ นั้น เป็นสินค้าประเภทลูกกลิ้งทำด้วยเหล็กเป็นส่วนประกอบหลัก จึงมีน้ำหนักมาก นายวงศ์หิรัญ พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 1 ว่า ลูกกลิ้งแต่ละลูกจะมีน้ำหนักประมาณ 10,000 กิโลกรัม ซึ่งจะบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ตู้ละ 2 ลูก ส่วนลูกกลิ้งที่มีน้ำหนักประมาณ 20,000 กิโลกรัม จะบรรจุเพียงลูกเดียวในหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ ลูกกลิ้งที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่ที่สุดคือ ขนาด 60 นิ้ว แต่ไม่ใช่ลูกกลิ้งที่มีขนาดน้ำหนักมากที่สุด เป็นลูกกลิ้งขนาด 60 นิ้ว การบรรจุลูกกลิ้งขนาดต่าง ๆ เข้าตู้คอนเทนเนอร์ดำเนินการโดยบริษัท Precision Industrial Constructors (PIC) ซึ่งเป็นบริษัทผู้เชี่ยวชาญในการถอดประกอบเครื่องจักร รวมทั้งการจัดบรรจุชิ้นส่วนของเครื่องจักรเข้าตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการขนส่งทางทะเล โดยโจทก์ได้ว่าจ้างนายโรเบิร์ต วิศวกรผู้เชี่ยวชาญให้กำกับดูแลการถอดชิ้นส่วนและการบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งนายโรเบิร์ต ได้จัดทำคู่มือในการขนย้าย เก็บรักษาและจัดบรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ให้พนักงานของ PIC เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานดังกล่าว โดยเฉพาะในส่วนของการบรรจุลูกกลิ้งเข้าตู้คอนเทนเนอร์ มีข้อแนะนำว่า ลูกกลิ้งที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ต้องถูกรองรับบริเวณเพลาด้วยไม้หมอน ต้องรองรับลูกกลิ้งด้วยไม้หรือแผ่นวัสดุกันกระแทกอื่น ๆ และวางลูกกลิ้งให้อยู่กับที่โดยใช้ทั้งหมอนไม้และสายยึดโยงเพื่อกันการเลื่อนไหล หมอนไม้กันกระแทกที่เป็นรูปลิ่มหรือหมอนไม้กันกระแทกอย่างอื่นที่ต้องสัมผัสกับพื้นผิวของลูกกลิ้งโดยตรงต้องมีวัสดุรองกั้นอีกชั้นหนึ่ง และนายโรเบิร์ต ได้มาเป็นพยานโจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า ได้กำกับดูแลพนักงานของ PIC ในการบรรจุชิ้นส่วนเครื่องจักรเข้าตู้คอนเทนเนอร์ทุกตู้จนหมด การบรรจุและยึดโยงสินค้าพิพาทภายในตู้คอนเทนเนอร์ทุกตู้ได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมเพื่อการขนส่งทางทะเล และโจทก์มีนายดุลพัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า โจทก์ตกลงซื้อเครื่องจักรใช้แล้วและอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับการผลิตกระดาษยี่ห้อ Beloit จากผู้ขายที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ราคาซื้อขายรวมค่าถอดแยกเครื่องจักรและบรรจุอุปกรณ์ชิ้นส่วนเครื่องจักรเข้าตู้คอนเทนเนอร์เพื่อการขนส่งทางทะเล ผู้ขายได้ว่าจ้างบริษัท PIC ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความชำนาญและมีประสบการณ์ในการถอดแยกเครื่องจักรและบรรจุหีบห่อ โจทก์ได้ว่าจ้างนายโรเบิร์ต ไปกำกับดูแลการถอดชิ้นส่วนเครื่องจักร และการบรรจุชิ้นส่วนเข้าตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งได้จัดส่งนายวงศ์หิรัญ วิศวกรของโจทก์เดินทางไปสังเกตการณ์การรื้อถอนถอดแยกรวมทั้งการบรรจุชิ้นส่วนเครื่องจักรเข้าตู้คอนเทนเนอร์ และนายวงศ์หิรัญเป็นพยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า การจัดบรรจุชิ้นส่วนเครื่องจักรของ PIC ได้ดำเนินการอย่างเหมาะสมแล้วนั้น เมื่อพิเคราะห์รูปถ่ายการจัดบรรจุสินค้าพิพาท รวม 5 รูป แสดงให้เห็นภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่มีการบรรจุลูกกลิ้งขนาดใหญ่ ตู้ละ 1 ลูก ลูกกลิ้งถูกวางรองรับบริเวณเพลาหัวท้ายด้วยหมอนไม้เซาะเป็นร่องพอดีกับขนาดของเพลา หมอนไม้ดังกล่าวทำด้วยไม้เนื้ออ่อน หนาพอประมาณ แต่หมอนไม้ดังกล่าวไม่ได้มีความยาวตลอดความกว้างของตู้คอนเทนเนอร์ เพียงแต่กว้างกว่าตัวลูกกลิ้งเล็กน้อย และถูกตอกยึดติดกับพื้นตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งเป็นพื้นไม้ปูทับอยู่บนพื้นเหล็กของตู้คอนเทนเนอร์ และตามรูปที่ 2 และ 3 ของรูปถ่าย จะเห็นว่าลูกกลิ้งเหล็กที่วางบนหมอนไม้ยึดติดกับพื้นตู้คอนเทนเนอร์นั้น มีเชือกไนล่อนลักษณะเป็นแผ่นบาง ๆ หนาประมาณครึ่งเซนติเมตร กว้างประมาณ 2 ถึง 3 เซนติเมตร ปลายทั้งสองข้างยึดโยงกับห่วงที่อยู่ติดกับพื้นตู้ส่วนที่ติดผนังด้านข้างทั้งสองด้านรัดตัวลูกกลิ้งเป็นระยะตลอดความยาวของลูกกลิ้ง เพื่อยึดโยงลูกกลิ้งไม่ให้ยกตัวขึ้นจากหมอนไม้ ซึ่งนายโรเบิร์ต ยืนยันว่าเชือกไนล่อนที่ใช้ยึดโยงลูกกลิ้งเป็นเชือกไนล่อนชนิดรับแรงดึงสูง เพียงพอและเหมาะสมต่อการยึดโยงลูกกลิ้งดังกล่าว แต่นายเลสสี่ ผู้จัดการฝ่ายการขายของบริษัทเมทโซ่ เปเปอร์ (ประเทศไทย) จำกัด พยานโจทก์ ซึ่งจบการศึกษาด้านวิศวกรรมไฟฟ้าชั้นปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์ เวลล์ ประเทศออสเตรเลีย ทำงานกับบริษัทเมทโซ่ เปเปอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มาประมาณ 2 ปี โดยเริ่มทำงานจากกลุ่มบริการลูกค้าส่วนของลูกกลิ้งของเครื่องจักรผลิตกระดาษ นับว่าเป็นผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการซ่อมและเคลื่อนย้ายลูกกลิ้ง เบิกความว่าในกรณีการบรรจุลูกกลิ้งเข้าตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งให้แก่ลูกค้าต่างประเทศ ต้องมีการบรรจุที่แข็งแรงโดยการนำลูกกลิ้งไปวางบนเพลาของลูกกลิ้งโดยมีฐานหรือขารองรับเพลาของลูกกลิ้งหรือตัวลูกกลิ้ง ฐานลูกกลิ้งโดยปกติจะใช้เหล็กหรือหมอนไม้ขนาดสูงเพื่อรองรับเพลา หมอนไม้ต้องจัดให้ได้ระดับความชัน 60 องศา เพื่อรองรับลูกกลิ้งป้องกันมิให้ลูกกลิ้งกลิ้งออกจากฐาน จากนั้นใช้ลวด โซ่หรือสลิงรัดที่ตัวลูกกลิ้ง ยึดไว้กับตู้คอนเทนเนอร์เพื่อป้องกันการเคลื่อนตัว ซึ่งปกติตู้คอนเทนเนอร์มีห่วงสำหรับล็อกคล้องโซ่อยู่แล้ว การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามคู่มือเอกสาร ซึ่งเป็นมาตรฐานของบริษัทและใช้กันทั่วโลก เจือสมกับคำเบิกความของนายชัยทรามณี กรรมการผู้จัดการบริษัทซีเจเอ มารีน เซอร์วิส (ประเทศไทย) จำกัด พยานจำเลยที่ 1 ซึ่งมีประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับการตรวจสอบลักษณะการบรรจุและผูกรัดสินค้าเพื่อการขนส่งทางทะเลและทางอื่นมานานถึง 17 ปี ที่เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงว่า วัสดุที่เหมาะสมที่จะนำมาผูกรัดสินค้าพิพาทคือลวดสลิง ต้องนำลวดสลิงมาผูกมัดรอบตัวสินค้าพิพาทแล้วนำปลายลวดไปผูกยึดไว้อีกด้านหนึ่ง โจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเชือกไนล่อนรับแรงดึงสูงที่ใช้ผูกรัดสินค้าพิพาทนั้นสามารถรับน้ำหนักได้เพียงใด เท่ากับน้ำหนักของลูกกลิ้งหรือไม่ แต่เชื่อว่าคงไม่สามารถรับน้ำหนักหรือรับแรงดึงสูงเทียบเท่ากับลวดสลิงหรือโซ่ได้ แม้แต่ลวดสลิงหรือโซ่ก็ต้องพิจารณาถึงขนาดว่าสามารถรับน้ำหนักของลูกกลิ้งที่ถูกรัดตรึงนั้นได้หรือไม่ ถ้ามีขนาดเล็กเกินไปก็ไม่อาจนำมาใช้ยึดโยงลูกกลิ้งที่มีน้ำหนักมาก ๆ เพื่อไม่ให้ลูกกลิ้งเคลื่อนไหวได้ ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงเชือกไนล่อนที่นำมาใช้รัดยึดโยงลูกกลิ้งตามรูปถ่ายแล้ว เชื่อได้ว่าไม่สามารถรัดตรึงลูกกลิ้งที่ปรากฏในรูปภาพดังกล่าวมิให้เคลื่อนไหวได้ ดังปรากฏจากคำเบิกความของนายหวาง ผู้ตรวจสอบความเสียหายของสินค้าพิพาทและตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทที่ท่าเรือไทจุง พยานจำเลยที่ 1 ประกอบรูปถ่าย น่าจะยังไม่เพียงพอที่จะยึดโยงลูกกลิ้งที่มีน้ำหนักมากเคลื่อนหลุดจากฐานจากการโคลง การโยนตัวและเหวี่ยงตัวของเรือทั้งสองลำ เมื่อพบกับสภาพแห่งท้องทะเลที่มีพายุและคลื่นลมที่รุนแรง ซึ่งนายโรเบิร์ต ก็เบิกความยอมรับว่า หากเรือถูกเหวี่ยงขึ้นลงอย่างรุนแรงเกินปกติ อุปกรณ์ที่บรรจุอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์อาจหลุดเลื่อนเคลื่อนออกจากกันได้ หรือกรณีที่ตู้คอนเทนเนอร์ไม่สามารถตั้งอยู่ในแนวราบตามปกติ แต่อยู่สภาพเทเอียงมากและถูกกระแทกไปมาหลายครั้ง ก็อาจทำให้หมอนไม้และเชือกไนล่อนหลุดออกจากตำแหน่งที่ยึดโยงไว้ได้ ส่วนการที่มีตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าพิพาทอีกหลายตู้ในเรือ WAN HAI 262 ไม่ได้รับความเสียหายทั้งที่บรรจุสินค้าพิพาทประเภทลูกกลิ้งลักษณะเดียวกับที่เกิดความเสียหาย ก็ไม่ใช่ข้อบ่งชี้ว่าการจัดบรรจุสินค้าพิพาทในตู้คอนเทนเนอร์ทั้งหมดเหมาะสมแก่สภาพและลักษณะของสินค้าแล้ว อาจขึ้นอยู่กับตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่ได้รับความเสียหายบางส่วนถูกจัดวางไว้ในตำแหน่งบริเวณกลางลำเรือ จึงอาจไม่ได้รับการเหวี่ยงกระแทกที่รุนแรง ทั้งสินค้าพิพาทอาจมีขนาดและน้ำหนักไม่มากก็เป็นได้ นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงยังได้ความว่าตู้คอนเทนเนอร์ที่ใช้บรรจุสินค้าพิพาทจำนวน 159 ตู้ นั้น เป็นตู้คอนเทนเนอร์ใช้แล้วที่มีการซื้อมาเพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าพิพาทโดยเฉพาะ นายชัยทรามณี พยานจำเลยที่ 1 เบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเลือกใช้ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าว่า ตู้คอนเทนเนอร์ที่นำมาใช้บรรจุสินค้าพิพาทเป็นตู้คอนเทนเนอร์แบบใช้งานทั่วไป เหมาะสำหรับบรรจุสินค้าทั่ว ๆ ไป แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับสินค้าซึ่งมีลักษณะพิเศษ เช่น สินค้าที่มีน้ำหนักมาก(Heavy Cargo) และมีลักษณะทำด้วยเหล็กเป็นแท่งกลมยาวขนาดใหญ่อย่างสินค้าพิพาทจากลักษณะของตู้คอนเทนเนอร์ประเภทใช้งานทั่วไป โครงสร้างของตู้จะทำด้วยเหล็กมีคานรอบตู้สูงประมาณ 5 นิ้ว มีคานรองรับพื้นตู้เป็นเหล็กรูปตัวยู หนาประมาณ 3 มิลลิเมตร ขนาด 3 คูณ 4 นิ้ว จำนวน 28 ตัว หากนำสินค้าประเภทมีน้ำหนักมากมาบรรทุก เมื่อสินค้ามีการเคลื่อนตัว พื้นตู้อาจหักและเกิดความเสียหายได้ง่าย นอกจากนี้พื้นตู้ยังปูด้วยไม้อัด หนาประมาณ 2.5 เซนติเมตร หากนำตะปูหรือวัสดุอื่นไปตอกยึดระหว่างไม้รองสินค้ากับพื้นตู้ พื้นไม้อาจฉีกขาดได้ง่าย ส่งผลให้ไม้รองเคลื่อนตัว และบริเวณพื้นตู้มีจุดผูกรัดข้างละ 8 จุด แต่ละจุดสามารถรับแรงยึดได้ประมาณ 1.5 ตัน ดังนั้น จึงสามารถทำการผูกรัดสินค้าเฉพาะจุดดังกล่าวเท่านั้น จึงอาจไม่เพียงพอที่จะเหนี่ยวยึดลูกกลิ้งที่มีขนาดใหญ่และมีน้ำหนักมาก ๆ ได้ และเมื่อพิจารณาถึงลักษณะความเสียหายของตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าพิพาทชนิดลูกกลิ้งทั้ง 28 ตู้ ที่ได้รับความเสียหายจาก คำเบิกความของนายหวาง ประกอบรูปถ่ายและภาพที่บันทึกไว้ในแผ่นซีดีพบว่า ตู้คอนเทนเนอร์ส่วนใหญ่ ผนังตู้ฉีกขาดทะลุเป็นรู บางตู้พื้นตู้ยุบเป็นช่องเนื่องจากถูกลูกกลิ้งที่บรรจุอยู่ภายในหลุดจากตำแหน่งกระแทกและลูกกลิ้งบางลูกทะลุหลุดออกจากตู้คอนเทนเนอร์ ตู้คอนเทนเนอร์ที่เสียหายทั้งหมดมีลักษณะเป็นสนิมอยู่ทั่วไป ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตู้คอนเทนเนอร์ฉีกขาดและทะลุเป็นรูได้ง่าย การที่ฝ่ายผู้ส่งของจัดหาตู้คอนเทนเนอร์มาใช้บรรจุสินค้าพิพาท จำนวนถึง 159 ตู้ โดยการซื้อตู้คอนเทนเนอร์ใช้แล้วมาใช้เพื่อการขนส่งสินค้าพิพาทโดยเฉพาะซึ่งต้องซื้อจากผู้ประกอบกิจการขนส่งระบบตู้คอนเทนเนอร์หลายราย และการที่ผู้ประกอบกิจการขนส่งจะขายตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งตนจำเป็นต้องใช้ในการขนส่งสินค้าประจำในราคาถูกนั้น ย่อมหมายความว่าตู้คอนเทนเนอร์นั้นใช้งานมานานจนใกล้หมดอายุการใช้งานหรือหมดอายุการใช้งานไปแล้ว ดังนั้น จึงมีเหตุผลที่เป็นไปได้ว่า ตู้คอนเทนเนอร์ที่เสียหายทั้ง 28 ตู้ มีสภาพเก่า ไม่มั่นคงแข็งแรงพอที่จะบรรจุสินค้าพิพาทประเภทลูกกลิ้งที่มีน้ำหนักมาก และมีความอ่อนไหวต่อการเคลื่อนตัวเป็นพิเศษ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ที่นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักให้รับฟังได้ยิ่งกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นเพราะความผิดของผู้ส่งของที่นำตู้คอนเทนเนอร์ที่ไม่มั่นคงแข็งแรง และไม่เหมาะสมแก่สภาพของสินค้าพิพาทมาใช้บรรจุสินค้าพิพาทซึ่งเป็นสินค้าที่มีลักษณะพิเศษและมีน้ำหนักมาก และการบรรจุผูกรัดสินค้าพิพาทภายในตู้คอนเทนเนอร์ไม่มั่นคงแข็งแรงและไม่เหมาะสมกับลักษณะและสภาพของสินค้า จำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดชอบในความเสียหายของสินค้าพิพาท ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นเพราะความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่งนั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยสินค้าพิพาทต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้ทำสัญญาประกันภัยแบบเปิด (Marine Open Cover) สำหรับสินค้าของโจทก์ที่จะมีการขนส่งจากต่างประเทศมายังประเทศไทยไว้กับจำเลยที่ 2 และความเสียหายของสินค้าพิพาทเกิดขึ้นในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย แต่ตามสัญญาประกันภัย ซึ่งท้ายสัญญาประกันภัยดังกล่าวได้ระบุข้อกำหนดและเงื่อนไขการให้ความคุ้มครองแก่สินค้าของโจทก์ รวมทั้งได้ระบุถึงข้อยกเว้นที่กรมธรรม์ประกันภัยนี้จะไม่ให้ความคุ้มครองไม่ว่าการประกันภัยนั้นจะมีเงื่อนไขความคุ้มครองแบบ Clause A หรือ Clause C ก็ตาม ในข้อ 4.3 ว่า ความเสียหายที่มีสาเหตุมาจากการตระเตรียมหรือการหีบห่อวัตถุที่เอาประกันภัยอย่างไม่เหมาะสมหรือไม่เพียงพอ ซึ่งรวมถึงการบรรจุเข้าตู้คอนเทนเนอร์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาทมีสาเหตุมาจากการบรรจุสินค้าพิพาทเข้าตู้คอนเทนเนอร์และการผูกรัดสินค้าพิพาทอย่างไม่เหมาะสม จึงเข้าข้อยกเว้นที่จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยไม่ต้องรับผิดตามข้อกำหนดการให้ความคุ้มครองสินค้าที่เอาประกันภัยดังกล่าว กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า โจทก์ได้เปลี่ยนเงื่อนไขความคุ้มครองสินค้าพิพาทตามเงื่อนไขแบบ Clause A แล้วหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ