คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6079/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องของผู้ร้องทั้งสามที่ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญ ที่ลงมติแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ให้แก้ไขมติดังกล่าวเป็นลงมติแต่งตั้งให้ผู้ร้องที่ 3 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดนั้นเป็นเรื่องเดียวเกี่ยวกับการลงมติแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด แม้จะขอให้ศาลมีคำสั่งหลายอย่างดังกล่าวมา แต่ก็ถือเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าวาระการดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดตามมติที่ประชุมที่ผู้ร้องทั้งสามขอให้เพิกถอนได้สิ้นสุดลงไปแล้วและมีการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีครั้งใหม่ลงมติแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดตามวาระการดำรงตำแหน่งครั้งใหม่แล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับมติเดิมว่าชอบหรือไม่ชอบและควรเพิกถอนหรือไม่ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นสมควรยกคำร้อง ถือว่าเป็นการวินิจฉัยคำขอตามคำร้องครบถ้วนแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์อีก
แม้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้กำหนดให้มีการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอันผิดระเบียบไว้ก็ตาม แต่ตามข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุด ข้อที่ 32 ระบุว่า “ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการประชุมใหญ่อันเป็นบทบัญญัติในหมวดและส่วนที่เกี่ยวกับการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้กับการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้” และตาม ป.พ.พ. มาตรา 1195 อันเป็นบทบัญญัติในหมวดและส่วนที่เกี่ยวกับการประชุมใหญ่ของบริษัทจำกัดได้บัญญัติว่า “ถ้าการประชุมใหญ่นั้นได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกันหรือได้ลงมติฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัท กรรมการหรือผู้ถือหุ้นมีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้น” ดังนั้นผู้ร้องทั้งสามจึงมีสิทธิยื่นคำร้องคดีนี้ได้ แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า มติที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคลอาคารชุดที่ผู้ร้องทั้งสามขอให้เพิกถอนนั้นไม่มีประโยชน์อีกต่อไปเพราะหมดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้จัดการตามมตินั้นแล้ว คดีก็ไม่จำต้องวินิจฉัย ศาลชอบที่จะยกคำร้องขอเพิกถอนมตินั้นได้ทันที

ย่อยาว

ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2/2544 ดังกล่าว และแก้ไขมติเป็นแต่งตั้งผู้ร้องที่ 3 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดแทนผู้คัดค้าน กับให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ผู้ร้องทั้งสามใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาทแทนผู้คัดค้าน
ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คำร้องของจำเลยทั้งสาม คดีนี้กล่าวถึงการเรียกประชุมเจ้าของร่วมนิติบุคคลอาคารชุดทองหล่อทาวเวอร์ โดยมีระเบียบวาระการประชุม วาระที่ 1 เลือกตั้งประธานในที่ประชุม วาระที่ 2 เลือกตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด ฯ การประชุมและลงมติของที่ประชุมในวาระที่ 2 ที่แต่งตั้งให้นายประพันธ์ ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดทองหล่อทาวเวอร์เป็นมติที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดฯ เนื่องจากผู้ลงคะแนนมิได้มีหนังสือมอบฉันทะให้ลงคะแนนและหนังสือมอบฉันทะไม่ถูกต้องจึงไม่มีสิทธิลงคะแนน แต่ประธานที่ประชุมอนุญาตให้ลงคะแนนได้ทั้ง ๆ ที่มีผู้คัดค้าน นอกจากนี้ผลรวมของคะแนนทั้งหมดมีจำนวน 358.124 อัตราส่วนกรรมสิทธิ์มากกว่าจำนวนอัตราส่วนกรรมสิทธิ์ของผู้ที่มาลงทะเบียนเข้าประชุม 32.281 อัตราส่วนกรรมสิทธิ์ หากมีการนับคะแนนโดยถูกต้องตามกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดฯ ผลจะทำให้ผู้ร้องที่ 3 ได้คะแนนมากกว่านายประพันธ์ ผู้ร้องทั้งสามจึงขอศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 2/2544 ลงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2544 วาระที่ 2 ที่ลงมติแต่งตั้งให้นายประพันธ์ ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดทองหล่อทาวเวอร์ ให้แก้ไขมติดังกล่าวเป็นลงมติแต่งตั้งให้ผู้ร้องที่ 3 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดทองหล่อทาวเวอร์และให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาพระโขนง ไม่รับจดทะเบียนแต่งตั้งนายประพันธ์ ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดทองหล่อทาวเวอร์ เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องทั้งสามเป็นเรื่องเดียวเกี่ยวกับการลงมติแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดทองหล่อทาวเวอร์ แม้จะขอให้ศาลมีคำสั่งหลายอย่างดังกล่าวมา แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด เป็นข้อหาเดียวและเป็นข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอันเดียวกัน คือ อ้างว่าการลงมติแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดทองหล่อทาวเวอร์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุด เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่าวาระการดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดตามมติที่ประชุมที่ผู้ร้องทั้งสามขอให้เพิกถอนได้สิ้นสุดลงไปแล้วและมีการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปีครั้งใหม่ลงมติแต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดทองหล่อทาวเวอร์ตามวาระการดำรงตำแหน่งครั้งใหม่แล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับมติเดิมว่าชอบหรือไม่ชอบและควรเพิกถอนหรือไม่ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นสมควรยกคำร้อง ถือว่าเป็นการวินิจฉัยข้อหาตามคำร้องครบถ้วนแล้ว ไม่จำต้องวินิจฉัยในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์อีก คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสามโดยไม่วินิจฉัยถึงมติที่ประชุมว่าชอบหรือไม่ชอบและต้องเพิกถอนหรือไม่นั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าไม่มีกฎหมายรับรองคุ้มครองเพื่อขอให้ใช้สิทธิทางศาลวินิจฉัยในทางแพ่งว่า มติที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคลใดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้พระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 มิได้กำหนดให้มีการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่เจ้าของร่วมอันผิดระเบียบไว้ก็ตาม แต่ตามข้อบังคับนิติบุคคลอาคารชุดทองหล่อทาวน์เวอร์ข้อ 32 ระบุว่า “ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการประชุมใหญ่อันเป็นบทบัญญัติในหมวดและส่วนที่เกี่ยวกับการประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นของบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้กับการประชุมใหญ่เจ้าของร่วมโดยอนุโลมเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับข้อบังคับนี้” และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1195 อันเป็นบทบัญญัติในหมวดและส่วนที่เกี่ยวกับการประชุมใหญ่ของบริษัทจำกัดได้บัญญัติว่า “ถ้าการประชุมใหญ่นั้นได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกันหรือได้ลงมติฝ่าฝืนต่อกฎหมายหรือข้อบังคับของบริษัท กรรมการหรือผู้ถือหุ้นมีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้น” ดังนั้น ผู้ร้องทั้งสามจึงมีสิทธิยื่นคำร้องคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ไม่มีกฎหมายรับรองสิทธิของผู้ร้องทั้งสามมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่อย่างไรก็ตามเมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่า มติที่ประชุมใหญ่ของนิติบุคคลอาคารชุดทองหล่อทาวเวอร์ที่แต่งตั้งผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดทองหล่อทาวเวอร์ที่ผู้ร้องทั้งสามขอให้เพิกถอนนั้นไม่มีประโยชน์อีกต่อไปเพราะหมดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้จัดการตามมตินั้นแล้ว คดีนี้ก็ไม่จำต้องวินิจฉัย ศาลชอบที่จะยกคำร้องขอเพิกถอนมตินั้นได้ทันที คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ที่ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสามชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 อีก
พิพากษายืน ให้ผู้ร้องที่ 1 และที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาทแทนผู้คัดค้าน

Share