แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
ไม่มีย่อสั้น
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๖๖/๒๕๕๕
วันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๕
เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕
ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลแพ่ง
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๕๓ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๑๒๒/๒๕๕๓ อ้างว่า เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๖ ผู้ร้องได้ว่าจ้างบริษัทรวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน ให้ก่อสร้างอาคารปฏิบัติการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ โดยตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นเงิน ๓๔๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามสัญญาจ้างงานก่อสร้างอาคาร จัดหาและติดตั้งงาน ระบบประจำอาคารและงานโยธา สัญญาเลขที่ MINT/๒๕๔๔/๐๓ – ๒๕๔๖/๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๕๐ ได้มีการเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม เป็นข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๔๘/๒๕๕๐ คณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ๕๑/๒๕๕๓ ให้สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ผู้คัดค้าน (ผู้ร้องในคดีนี้) คืนค่าปรับและชำระค่าดูแลรักษาโครงการและค่าจ้างบุคคลดูแลสถานที่แก่บริษัทรวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เรียกร้อง (ผู้คัดค้านในคดีนี้) พร้อมดอกเบี้ย ผู้ร้องเห็นว่าคำชี้ขาดดังกล่าวขัดต่อกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา ๔๐ (๑) (ง) และ (๒) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า สัญญาจ้างงานก่อสร้างอาคาร จัดหาและติดตั้งงาน ระบบประจำอาคารและงานโยธาเป็นสัญญาจ้างทำของ มิใช่สัญญาทางปกครอง คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องได้รับการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ บัญญัติให้เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์หลายประการ รวมทั้งพัฒนาระบบมาตรวิทยา จัดหาและเก็บรักษามาตรฐานแห่งชาติ วัสดุอ้างอิง มาตรฐานของประเทศทุกสาขาเพื่อให้สอดคล้องกับระบบมาตรวิทยาสากล รวมถึงการถ่ายทอดความถูกต้องของการวัดไปสู่มาตรฐานแห่งชาติเหล่านี้ ผู้ร้องจึงเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐประเภทองค์การมหาชนอันมีลักษณะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๖ ผู้ร้องได้ทำสัญญาเลขที่ MINT/๒๕๔๔/๐๓ – ๒๕๔๖/๒ สัญญาจ้างงานก่อสร้างอาคาร จัดหาและติดตั้งงาน ระบบประจำอาคารและงานโยธากับผู้คัดค้าน โดยกำหนดให้ผู้คัดค้านดำเนินการก่อสร้างอาคาร รวมทั้งงานสถาปัตยกรรมและงานโครงสร้าง ติดตั้งระบบเครื่องกลและระบบไฟฟ้า งานตบแต่งสวนและงานโยธา ค่าจ้างจำนวน ๓๔๘,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด ๔๘๘ วัน ตกลงจ่ายค่าจ้างเป็นงวดๆ รวม ๑๖ งวด หากผู้คัดค้านไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด ต้องจ่ายเบี้ยปรับวันละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท และจ่ายเป็นค่าตอบแทนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการกำกับดูแลวันละ ๑๓,๐๐๐ บาท อันเป็นกรณีที่ผู้ร้องได้ตกลงว่าจ้างให้ผู้คัดค้านดำเนินการก่อสร้างอาคาร รวมทั้งงานสถาปัตยกรรมและงานโครงสร้าง ติดตั้งระบบเครื่องกลและระบบไฟฟ้าของอาคาร อันเป็นสิ่งสาธารณูปโภคและเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะตามอำนาจหน้าที่ของผู้ร้องให้บรรลุผล สัญญาจ้างดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง ตามนิยามในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทั้งนี้เทียบเคียงกับคำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๑๒/๒๕๕๒ ที่ ๙/๒๕๕๑ ที่ ๑๕/๒๕๕๐ ที่ ๓๑/๒๕๔๘ ที่ ๑๒/๒๕๔๘ ที่ ๘/๒๕๔๘ ที่ ๑/๒๕๔๘ ที่ ๕๔/๒๕๔๗ ที่ ๔๘/๒๕๔๗ ที่ ๔๗/๒๕๔๗ ที่ ๔๕/๒๕๔๗ ที่ ๑๘/๒๕๔๕ และที่ ๑๐/๒๕๔๕ เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และได้มีการเสนอข้อพิพาทเข้าสู่สถาบันอนุญาโตตุลาการตามข้อกำหนดของสัญญา ซึ่งต่อมาคณะอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดแล้ว ดังนั้น เมื่อคดีนี้ผู้ร้องร้องว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการข้อพิพาทหมายเลขดำที่ ๔๘/๒๕๕๐ ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ ๕๑/๒๕๕๓ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าวตามมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ศาลปกครองจึงเป็นศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาข้อพิพาทซึ่งได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการนั้น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๖) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องได้รับการจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยมาตรา ๑๒ มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ บัญญัติให้เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์หลายประการ รวมทั้งพัฒนาระบบมาตรวิทยา จัดหาและเก็บรักษามาตรฐานแห่งชาติ วัสดุอ้างอิง มาตรฐานของประเทศทุกสาขาเพื่อให้สอดคล้องกับระบบมาตรวิทยาสากล รวมถึงการถ่ายทอดความถูกต้องของการวัดไปสู่มาตรฐานแห่งชาติเหล่านี้ ผู้ร้องจึงเป็นหน่วยงานอื่นของรัฐประเภทองค์การมหาชนอันมีลักษณะเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ สัญญาระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านคือ สัญญาที่ผู้ร้องว่าจ้างผู้คัดค้านให้ก่อสร้างอาคารปฏิบัติการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ซึ่งไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคแต่อย่างใด คดีนี้จึงไม่ใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำร้องสรุปได้ว่า ผู้ร้องได้ว่าจ้างผู้คัดค้านให้ก่อสร้างอาคารปฏิบัติการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ตามสัญญาจ้างงานก่อสร้างอาคาร จัดหาและติดตั้งงาน ระบบประจำอาคารและงานโยธา ต่อมาได้มีการเสนอข้อพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญาต่อคณะอนุญาโตตุลาการจนมีคำชี้ขาดแล้ว แต่ผู้ร้องเห็นว่าคำชี้ขาดดังกล่าวขัดต่อกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา ๔๐ (๑) (ง) และ (๒) (ข) แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕ ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้อง คำชี้ขาดดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกคำร้อง เห็นว่า กรณีเป็นข้อพิพาทที่สืบเนื่องมาจากสัญญาจ้างงานก่อสร้างอาคาร จัดหาและติดตั้งงาน ระบบประจำอาคารและงานโยธา คดีจึงมีประเด็นต้องพิจารณาว่า สัญญาพิพาทระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) บัญญัติว่า ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง และมาตรา ๓ บัญญัติว่า สัญญาทางปกครอง หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากร ธรรมชาติ คดีนี้ เมื่อผู้ร้องเป็นองค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติพัฒนาระบบมาตรวิทยาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยมีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทำสัญญาจ้างงานก่อสร้างอาคาร จัดหาและติดตั้งงาน ระบบประจำอาคารและงานโยธา เพื่อก่อสร้างอาคารปฏิบัติการสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค อันเป็นบริการสาธารณะอย่างหนึ่ง จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาดังกล่าว จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการอันเกิดจากข้อพิพาทตามสัญญาจ้างงานก่อสร้างดังกล่าว จึงเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๖) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ประกอบมาตรา ๙ และมาตรา ๔๐ แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. ๒๕๔๕
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ ผู้ร้อง บริษัทรวมนครก่อสร้าง (ประเทศไทย) จำกัด ผู้คัดค้าน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ
คมศิลล์ คัด/ทาน