คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9323/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 52 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 88 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี แต่กฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด คือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 17 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 20 ยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 101 และมาตรา 137 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับตามลำดับ ซึ่งมีระวางโทษเท่ากัน คือ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แต่เมื่อกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี คดีความผิดฐานดังกล่าวจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดนับถึงวันฟ้องเกินกว่า 10 ปี แล้ว คดีของโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดข้อหาดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
ส่วนโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 51 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 93 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี ส่วน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 71 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 83 ยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 101 และมาตรา 137 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับตามลำดับ ซึ่งมีระวางโทษเท่ากัน คือ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดเป็นคุณกว่าโทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ภายหลัง แต่โทษจำคุกตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังเป็นคุณกว่าโทษจำคุกตามกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก
ปัญหาเรื่องอายุความและการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162, 83 พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 51, 52, 64, 86, 88, 93 ทวิ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 13, 17, 18, 61, 71, 101, 111 และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจำเลยมีกำหนดสิบปี
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 51, 52, 85, 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 17, 71, 101 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 162 (1) (4) ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 51, 91 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 71, 101 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาความผิดข้อหาเป็นเจ้าพนักงานรับรองหลักฐานอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 ก่อน และความผิดดังกล่าวมีระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 นับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 30 พฤษภาคม 2551 เกินกว่า 10 ปีแล้ว คดีของโจทก์ในความผิดข้อหาดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) ชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดข้อหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ส่วนปัญหาการปรับบทลงโทษของศาลล่างทั้งสองนั้น โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 แต่ปรากฏว่ากฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด คือ พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 ถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 และขณะโจทก์ฟ้องคดีได้มีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 3 ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 เห็นสมควรวินิจฉัยก่อนว่า การกระทำความผิดของจำเลยจะใช้กฎหมายฉบับใดปรับบทลงโทษ เห็นว่า ที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 52 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิด มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 88 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดห้าปี แต่กฎหมายที่ใช้ภายหลังกระทำความผิด คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 17 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 20 ยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 101 และมาตรา 137 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับตามลำดับ ซึ่งมีระวางโทษเท่ากัน คือ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี ดังนั้น กฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่า แต่เมื่อกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี คดีความผิดฐานดังกล่าวจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 (3) คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 นับถึงวันฟ้องคือ วันที่ 30 พฤษภาคม 2551 เกินกว่า 10 ปีแล้ว คดีของโจทก์ในข้อหาดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) จึงชอบที่ศาลจะต้องยกฟ้องโจทก์สำหรับความผิดข้อหาดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง และที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 51 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 93 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 71 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 83 ยังคงบัญญัติให้การกระทำตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ และมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 101 และมาตรา 137 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับตามลำดับ ซึ่งมีระวางโทษเท่ากัน คือ จำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกำหนดสิบปี โทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดเป็นคุณกว่าโทษปรับตามกฎหมายที่ใช้ภายหลัง แต่โทษจำคุกตามกฎหมายที่ใช้ภายหลังเป็นคุณกว่าโทษจำคุกตามกฎหมาย ที่ใช้ขณะกระทำความผิด จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยไม่ว่าทางใดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 วรรคแรก ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาปรับบทลงโทษโดยมิได้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่จำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งขณะเกิดเหตุได้มีพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 ประกาศใช้บังคับ โดยบทบัญญัติมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้ยกเลิกความในหมวด 10 บทกำหนดโทษ ซึ่งรวมถึงมาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 และกำหนดบทลงโทษในความผิดดังกล่าวเป็นมาตรา 93 ทวิ และโจทก์ได้มีคำขอให้ลงโทษตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่แล้ว ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองยังคงปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 91 จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาเรื่องอายุความและการปรับบทลงโทษเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 51, 93 ทวิ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 83, 137 วรรคหนึ่ง และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 51, 93 ทวิ และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2550 มาตรา 83, 137 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 กับให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2522 มาตรา 52 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 17 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share