คำวินิจฉัยที่ 56/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๖/๒๕๕๕

วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลแพ่ง
ระหว่าง
ศาลปกครองกลาง

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลแพ่งโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับ ฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๒ บริษัทโอเรียนเต็ลทรานซ์ แอนด์ คาร์เซอร์วิซ จำกัด โจทก์ ยื่นฟ้องนายพีระพงศ์ แถลงกลาง ที่ ๑ นายเอกพันธ์ คมฤทัย ที่ ๒ บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ที่ ๓ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๔ จำเลย ต่อศาลแพ่ง เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๖๗๔๔/๒๕๕๒ ความว่า โจทก์เป็น ผู้ครอบครองรถยนต์ตู้โดยสารหมายเลขทะเบียนป้ายแดง ฉ – ๔๘๘๐ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๐ มกุฎราชกุมารแห่งประเทศบรูไนและคณะเสด็จออกจากโรงแรมดุสิตปริ๊นเซส เพื่อไปยังโรงแรมสีมาธานี ในระหว่างเส้นทางเสด็จ ดาบตำรวจสถิตย์ทรวง ลาภใหญ่ ข้าราชการตำรวจในสังกัดจำเลยที่ ๔ ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจรบริเวณจุดกลับรถและเป็นจุดทางแยกเข้าถนนบุรินทร์บนถนนมิตรภาพได้ปิดกั้นการจราจรบนถนนมิตรภาพขาออกเพื่อให้ขบวนเสด็จผ่านไปก่อน เมื่อขบวนเสด็จผ่านจุดทางแยกดังกล่าวไปได้ ๕ คัน ดาบตำรวจสถิตย์ทรวงได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาท โดยให้สัญญาณนกหวีดและสัญญาณมือให้รถยนต์ที่จอดบนถนนมิตรภาพขาเข้าบริเวณจุดกลับรถซึ่งเป็นทางแยกเข้าถนนบุรินทร์เลี้ยวเข้าไปในช่องทางเดินรถสวนเพื่อไปถนนบุรินทร์ ทั้งที่รถในขบวนเสด็จยังไม่ผ่านไปทั้งหมด เป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งขับรถโดยสารประจำทางคันหมายเลขทะเบียน ๑๐ – ๕๔๘๖ นครราชสีมา ไปในทางการที่จ้างเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ ๒ ขับรถเข้าไปในช่องทางเดินรถสวนโดยไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนว่ามีรถวิ่งในช่องทางเดินรถสวนหรือไม่ เนื่องจากความประมาทของจำเลยที่ ๑ และดาบตำรวจสถิตย์ทรวงดังกล่าวเป็นเหตุให้รถยนต์ตู้โดยสารของโจทก์คันดังกล่าวชนกับรถยนต์โดยสารคันที่จำเลยที่ ๑ เป็นผู้ขับ การกระทำดังกล่าวของดาบตำรวจสถิตย์ทรวงจึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นต้นสังกัดจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ ๒ ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ ๑ ต้องรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในการทำละเมิด จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันเกิดเหตุจากจำเลยที่ ๒ จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ ๒ รับผิดต่อโจทก์ ขอให้บังคับ จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน ๑,๗๘๔,๓๙๓.๓๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของต้นเงิน ๑,๕๔๘,๖๐๒.๗๙ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครองรถยนต์ตู้โดยสารคันพิพาท เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ค่าเสียหายไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ มิได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ ๑ และไม่ได้เป็นผู้ประกอบกิจการรับขนส่งผู้โดยสาร โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ค่าเสียหายสูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ให้การว่า ดาบตำรวจสถิตย์ทรวงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบคอบ เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ ๑ และคนขับรถยนต์ตู้โดยสารของโจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ค่าเสียหายสูงเกินจริง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๔ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย กฎ หรือคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลแพ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า โจทก์ฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองให้ร่วมรับผิดฐานละเมิด เนื่องจากดาบตำรวจสถิตย์ทรวงแสดงสัญญาณจราจรบนถนนเป็นเหตุให้ผู้ใช้รถขับมาเกิดอุบัติเหตุชนกันขึ้น แต่เหตุคดีนี้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้รับประกันภัยรถคันที่เกิดเหตุชนกับรถขบวนเสด็จ จนเป็นเหตุให้รถชนกันอันเป็นละเมิดโดยเป็นการกระทำทางกายภาพ เหตุรถชนกันเกิดจากดาบตำรวจสถิตย์ทรวงลูกจ้างจำเลยที่ ๔ ทำการละเมิดทางกายภาพในระหว่างปฏิบัติหน้าที่ กรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ต้องด้วยมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ ๔ เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็น นิติบุคคลมีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของข้าราชการตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติตามมาตรา ๖ (๕) แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๗ จำเลยที่ ๔ จึงเป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนดาบตำรวจสถิตย์ทรวงเป็นข้าราชการปฏิบัติงานในหน่วยงานทางปกครอง จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยที่มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ บัญญัติคำว่า คำสั่งทางปกครอง หมายความว่า การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับหรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ และมาตรา ๓๔ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติว่า คำสั่งทางปกครองอาจทำเป็นหนังสือหรือวาจาหรือโดยการสื่อความหมายในรูปแบบอื่นก็ได้ แต่ต้องมีข้อความหรือความหมายที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าดาบตำรวจสถิตย์ทรวง ซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติหน้าที่บริเวณจุดกลับรถ โดยได้ออกคำสั่งปิดกั้นการจราจรเพื่อให้ขบวนเสด็จผ่านไปก่อน ต่อมาในขณะที่ขบวนเสด็จได้ผ่านไปยังไม่สิ้นสุดขบวนแต่ดาบตำรวจสถิตย์ทรวงได้ให้สัญญาณนกหวีดและสัญญาณมืออันเป็นสัญญาณจราจร ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อสื่อความหมายให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามและมีผลให้ผู้ขับขี่ที่ได้รับสัญญาณในบริเวณดังกล่าว มีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามสัญญาณจราจรที่พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงให้ทราบ ตามมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน การให้สัญญาณนกหวีดและสัญญาณมือซึ่งเป็นสัญญาณจราจรจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลบังคับให้บุคคลที่ได้รับสัญญาณดังกล่าวมีหน้าที่ต้องกระทำการตามสัญญาณนั้น สัญญาณนกหวีดและสัญญาณมือดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อผู้ขับขี่ที่หยุดรถอยู่บริเวณจุดกลับรถซึ่งเป็นจุดทางแยกได้เห็นสัญญาณและปฏิบัติตามเป็นเหตุให้รถคันที่จำเลยที่ ๑ ขับขี่ชนกับรถของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ เมื่อข้อพิพาทในคดีนี้โจทก์มุ่งประสงค์จะเรียกค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจในการให้สัญญาณจราจรผิดพลาดก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ มูลละเมิดอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีจึงเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และคำขอท้ายฟ้องโจทก์ ศาลปกครองสามารถออกคำบังคับให้ได้ตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ในส่วนคดีของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ แม้จะมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เมื่อกรณี

ตามคำฟ้องเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายโดยขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย ข้อพิพาทในคดีจึงมีมูลความแห่งคดีเป็นเรื่องเดียวกัน จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองเช่นเดียวกัน

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือ ศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องในคดีนี้ดาบตำรวจสถิตทรวง ลาภใหญ่ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ในสังกัดจำเลยที่ ๔ ในขณะปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการจราจรบริเวณจุดกลับรถซึ่งเป็นจุดทางแยกเข้าถนนบุรินทร์บนถนนมิตรภาพ ได้ออกคำสั่งปิดกั้นการจราจรเพื่อให้ขบวนของมกุฎราชกุมารแห่งประเทศบรูไนเสด็จผ่านไปก่อน ขบวนเสด็จได้ผ่านจุดดังกล่าวไปแล้วแต่ยังไม่สิ้นสุดขบวน ดาบตำรวจสถิตทรวงได้ให้สัญญาณนกหวีดและสัญญาณมืออันเป็นสัญญาณจราจรตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เพื่อสื่อความหมายให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตาม และมีผลให้ผู้ขับขี่ ที่ได้รับสัญญาณในบริเวณดังกล่าวมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามการให้สัญญาณจราจรดังกล่าว จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ อันเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อมูลละเมิดอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครอง กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง สำหรับคดีในส่วนจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ แม้จะมิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่เมื่อมูลเหตุในการฟ้องคดีสืบเนื่องมาจากการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่ของรัฐโดยมีคำขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหาย ข้อพิพาทในคดีจึงมีมูลความแห่งคดีเป็นเรื่องเดียวกัน จึงอยู่ในอำนาจของศาลปกครองเช่นเดียวกัน

จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างบริษัทโอเรียนเต็ลทรานซ์ แอนด์ คาร์เซอร์วิซ จำกัด โจทก์ นายพีระพงศ์ แถลงกลาง ที่ ๑ นายเอกพันธ์ คมฤทัย ที่ ๒ บริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ที่ ๓ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ ๔ จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

คมศิลล์ คัด/ทาน

Share