คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5245/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะแต่งงานกับ ส. บิดามารดาของจำเลยที่ 1ได้ยกบ้านและที่ดินที่ถนนทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 หนึ่งแปลง บ้านและที่ดินนั้น จึงเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 เมื่อแต่งงานกันแล้วได้มาอยู่กินที่บ้านหลังนี้จนมีบุตร 3 คน ก็ขายบ้านและที่ดินที่ถนนทรัพย์นำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อที่ดินที่ถนนสาธรเหนือและปลูกบ้านอยู่ ต่อมาได้ขายที่ดินและบ้านที่ถนนสาธรเหนือนำเงินส่วนหนึ่งไปรับซื้อฝากที่ดินแปลงพิพาท และผู้ขายฝากไม่ไถ่คืนจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการได้มาโดยขายสินเดิมไป และนำเงินที่ขายได้มาซื้อ ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ต้องเอามาแทนสินเดิมที่ขายไป แม้ก่อนจะนำเงินมารับซื้อฝากที่พิพาทจำเลยที่ 1 ได้นำเงินที่ได้จากการขายสินเดิมไปซื้อที่ดินที่ถนนสาธรเหนือไว้ชั้นหนึ่งก่อนก็ไม่ทำให้ผลในทางกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป เพราะที่ดินแปลงที่ถนนสาธรเหนือก็ถือว่าเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 นั่นเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1465 ก่อนทำการแก้ไข แต่อาคารโรงเรียนและตึกแถวจำเลยที่ 1 ออกเงินสร้างขึ้นบนที่ดินพิพาทหลังจากที่ที่ดินดังกล่าวตกเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วและไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ใช้เงินที่ได้จากการขายที่ดินแปลงที่ถนนสาธรเหนือมาทำการก่อสร้าง จึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เดิม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนางแสร์จำเลยที่ 1 เป็นสามี นางแสร์ และเป็นผู้จัดการมูลนิธิจำเลยที่ 2นางแสร์ตายเมื่อ พ.ศ. 2521 โดยทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่บุตร 7 คน คนละส่วนเท่ากัน จำเลยที่ 1 กับนางแสร์ต่างมีสินเดิมและทำมาหาได้ทรัพย์สินร่วมกัน รวมทั้งที่ดินโฉนดเลขที่ 7568และตึกแถวสามชั้น 9 คูหา มีชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินสมรสของนางแสร์กึ่งหนึ่ง และเป็นมรดกของผู้รับพินัยกรรม แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมโอนให้กลับโอนกรรมสิทธิ์เป็นของจำเลยที่ 2 ขอให้ศาลเพิกถอนชื่อจำเลยที่ 2 จากการเป็นเจ้าของทรัพย์ดังกล่าว แล้วจดทะเบียนโอนให้โจทก์กึ่งหนึ่งจำเลยทั้งสองให้การว่า ทรัพย์พิพาทเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1ไม่ใช่สินสมรส
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 1,330,333 บาทพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเป็นประการแรกว่า ที่ดินแปลงพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 หรือเป็นสินสมรสระหว่างนางแสร์กับจำเลยที่ 1 ในปัญหาข้อนี้ โจทก์ฎีกาว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์ จำเลยนำสืบ รับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 กับนางแสร์เป็นสามีภริยากันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 7568 พร้อมสิ่งก่อสร้างคืออาคารโรงเรียนศิริวัฒนาและตึกแถวสามชั้น 9 คูหา ได้มาระหว่างสมรสจึงต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เดิมที่สันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส โจทก์จึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินสมรส จำเลยที่ 1 จะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ให้เห็นประจักษ์ว่าไม่ใช่สินสมรส และหากจะฟังว่าจำเลยที่ 1มีสินเดิม คือบ้านและที่ดินที่ถนนทรัพย์ โดยบิดายกให้ และได้ขายบ้านและที่ดินดังกล่าวเอาเงินไปซื้อที่ดินและปลูกบ้านที่ถนนสาธรเหนือก็ถือว่าเป็นทรัพย์สินใหม่ ทรัพย์สินใหม่นี้ก็เป็นสินสมรส ไม่ใช่สินเดิมตามมาตรา 1465 อนุมาตรา 1 (เดิม)ที่จำเลยนำสืบเป็นทำนองช่วงทรัพย์นั้น ลักษณะเช่นนี้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 1882/2518 วินิจฉัยไว้แล้วว่าไม่เป็นการช่วงทรัพย์ ศาลฎีกาเห็นว่าเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวกับที่ดินแปลงพิพาทนั้น ข้อเท็จจริงคงได้ความตามทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1จะแต่งงานกับนางแสร์ บิดามารดาของจำเลยที่ 1 ได้ยกบ้านและที่ดินที่ถนนทรัพย์ให้จำเลยที่ 1 หนึ่งแปลง เมื่อแต่งงานกันแล้วได้มาอยู่กินที่บ้านหลังนี้ของจำเลยที่ 1 จนมีบุตร 3 คน จึงได้ขายบ้านและที่ดินที่ถนนทรัพย์แล้วนำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อที่ดินที่ถนนสาธรเหนือ และปลูกบ้านอยู่ที่นั่น ต่อมาได้ขายที่ดินและบ้านที่ถนนสาธรเหนืออีก แล้วนำเงินส่วนหนึ่งที่ได้จากการขายที่ดินและบ้านดังกล่าวไปรับซื้อฝากที่ดินแปลงพิพาท แล้วผู้ขายฝากมิได้ไถ่คืน ที่ดินจึงตกเป็นของจำเลยที่ 1 ได้ความเช่นนี้ศาลฎีกาเห็นว่าที่ดินแปลงพิพาทเป็นที่ดินที่จำเลยที่ 1 ได้มาโดยขายสินเดิมไปและนำเงินที่ขายได้ซื้อที่ดินแปลงใหม่ ที่ดินแปลงใหม่จึงเป็นทรัพย์สินที่ต้องเอามาแทนสินเดิมที่ขายไป แม้ก่อนจะนำเงินมารับซื้อฝากที่พิพาท จำเลยที่ 1 จะได้เอาเงินที่ได้จากการขายที่ดินและบ้านสินเดิมแปลงแรกไปซื้อที่ดินที่ถนนสาธรเหนือไว้ชั้นหนึ่งก่อน แล้วขายที่ดินและบ้านที่ถนนสาธรเหนือนำเงินมาซื้อฝากที่ดินแปลงพิพาทก็ไม่ทำให้ผลในทางกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป เพราะที่ดินแปลงที่ถนนสาธรเหนือ ก็ถือว่าเป็นที่ดินอันเป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1 นั่นเอง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1465ก่อนทำการแก้ไข และโดยนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 325/2498 คดีระหว่างนายสนิท ควรเสนอ โจทก์ นางประคอง ชื่นจิตร์ กับพวก จำเลยที่โจทก์อ้างว่าที่ดินแปลงพิพาทไม่เป็นสินเดิมของจำเลยที่ 1อีกต่อไป หากแต่เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางแสร์ ศิริออร์โดยอ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 1882/2518 นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาฎีกาดังกล่าวรูปเรื่องไม่ตรงกับคดีนี้ แต่สำหรับสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินแปลงพิพาทคืออาคารโรงเรียนศิริวัฒนาและตึกแถวสามชั้น 9 คูหา นั้น ปรากฏว่านายเกษม ศิริออร์ พยานจำเลยที่ 1 เบิกความว่า อาคารโรงเรียนศิริวัฒนาและตึกแถว 9-10 คูหาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกเงินส่วนตัวในการก่อสร้าง จำเลยที่ 1เป็นผู้ขอออกใบอนุญาตในการก่อสร้างด้วยตนเอง แต่จำเลยที่ 1หาได้นำสืบไม่ว่าเงินส่วนตัวที่นายเกษมเบิกความถึงนั้น เป็นเงินที่จำเลยที่ 1 ได้มาอย่างไร ตามข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยที่ 1นำสืบมานั้น เห็นได้ว่าอาคารโรงเรียนศิริวัฒนาและตึกแถวสามชั้น9 คูหา เพิ่งก่อสร้างหลังจากที่ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 แล้ว และไม่มีหลักฐานที่จะให้ฟังได้ว่าจำเลยที่ 1ได้ใช้เงินที่ได้จากการขายที่ดินแปลงที่ถนนสาธรเหนืออันเป็นที่ดินสินเดิมของจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารดังกล่าว โจทก์เองนำสืบอยู่ว่า อาคารโรงเรียนศิริวัฒนาและตึกแถวสามชั้น 9 คูหาผู้ขอสร้างอาคารพาณิชย์ในที่ดินของนางแสร์ซึ่งอยู่ที่ถนนสีลมเป็นผู้สร้างให้แทนการจ่ายเงินสดเป็นค่าหน้าที่ดิน เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องถือว่าอาคารโรงเรียนศิริวัฒนาและตึกแถวสามชั้น 9 คูหาบนที่ดินแปลงพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนางแสร์ และจำเลยที่ 1ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1466 เดิม เพราะเป็นทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองได้มาระหว่างสมรส ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น”
และวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 1 และนางแสร์ ศิริออร์ ต่างก็มีสินเดิมมาก่อนสมรส จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิในสินสมรส 2 ต่อ 1 ส่วนตามหลักการแบ่งสินสมรสของกฎหมายลักษณะผัวเมีย”
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางแสร์ศิริออร์ มีกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในอาคารโรงเรียนศิริวัฒนาและตึกแถวสามชั้น 9 คูหา เป็นจำนวนหนึ่งในสามส่วนให้เพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 เฉพาะส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์ดังกล่าว

Share