คำวินิจฉัยที่ 59/2555

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

ไม่มีย่อสั้น

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๕๙/๒๕๕๕

วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๕๕

เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน

ศาลปกครองกลาง
ระหว่าง
ศาลจังหวัดมีนบุรี

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองกลางโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๓ นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้อง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ๑ ผู้อำนวยการเขตสายไหม ที่ ๒ ผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๕๖๐/๒๕๕๓ และศาลได้เรียกกรุงเทพมหานครเข้ามาเป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ เนื่องจากเป็นต้นสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ความว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๗๘ ตำบลออเงิน อำเภอสายไหม (บางเขน) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๔ ไร่ ๔๕.๙ ตารางวา ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายถนนเพิ่มสิน เมื่อผู้ฟ้องคดีได้ตรวจสอบแนวเขตแล้วปรากฏว่า มีที่ดินบางส่วนของผู้ฟ้องคดีจำนวนเนื้อที่ ๑๔๗.๔ ตารางวา อยู่ในแนวถนนเพิ่มสินโดยยังไม่ได้ทำการรังวัด แบ่งหักเป็นทางสาธารณประโยชน์ ผู้ฟ้องคดีไม่เห็นด้วยและไม่ยินยอมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ นำที่ดินดังกล่าวของ ผู้ฟ้องคดีไปดำเนินการเป็นถนนเพิ่มสิน โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ในการก่อสร้างปรับปรุงขยายถนนเพิ่มสินรุกล้ำเข้ามาในที่ดิน จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทำให้ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือลงวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ พิจารณาค่า ตอบแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่ไม่ได้รับการดำเนินการใด ๆ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ รื้อถอนถนนเพิ่มสินออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้มีสภาพเหมือนเดิม หรือชดใช้เงินเป็นค่าทดแทนความเสียหายอันเกิดจากการกระทำละเมิดจากโครงการปรับปรุงขยายถนนเพิ่มสินที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามมีหน้าที่ดูแลรักษาที่สาธารณะตลอดจนจัดให้มีและบำรุงรักษา ทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ และอื่น ๆ ตามระเบียบและกฎหมายซึ่งให้อำนาจหน้าที่ไว้ในการก่อสร้างปรับปรุงขยายถนนเพิ่มสินเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ที่ดินบริเวณพิพาทเจ้าของที่ดินเดิมได้สละการครอบครองและอุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์มาแต่เดิม มีผลให้ที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ก่อสร้างถนนเพิ่มสินตามสภาพถนนเดิมและปรับปรุงไหล่ทางให้มีสภาพดีขึ้น มิได้มีการรุกล้ำที่ดินออกนอกแนวถนนเดิมการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และมิได้ก่อให้เกิดความเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า ข้อพิพาทในคดีนี้ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวเนื่องกับสิทธิในที่ดิน อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองกลางพิจารณาแล้วเห็นว่า เกณฑ์การพิจารณาในเรื่องเขตอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมจะต้องพิจารณาเขตอำนาจของศาลปกครองเป็นสำคัญ หากคดีพิพาทใด อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ตามนัยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ ประกอบมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง คดีนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีอำนาจหน้าที่ในการจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ตามมาตรา ๘๙ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก่อสร้างถนนเพิ่มสินและปรับปรุงไหล่ทางให้มีสภาพดีขึ้น จึงเป็นการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ กระทำการตามอำนาจหน้าที่ในการบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำ ตามที่กฎหมายบัญญัติ ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๗๘ ตำบลออเงิน อำเภอสายไหม (บางเขน) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๔ ไร่ ๔๕.๙ ตารางวา ผู้ฟ้องคดีได้รับแจ้งจาก ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีโครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายถนนเพิ่มสิน เมื่อผู้ฟ้องคดีตรวจสอบแนวเขตแล้ว ปรากฏว่าโครงการปรับปรุงขยายถนนเพิ่มสินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของผู้ฟ้องคดีจำนวน ๑๔๗.๔ ตารางวา และเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามกระทำละเมิดต่อทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทำให้ได้รับความเสียหาย การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ก่อสร้างปรับปรุงขยายถนนเพิ่มสินเป็นการกระทำไปตาม
อำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดในการดูแลรักษาที่สาธารณะตลอดจนจัดให้มีและบำรุงรักษาทางบก ทางน้ำ และทางระบายน้ำและอื่น ๆ ตามระเบียบและกฎหมายซึ่งให้อำนาจหน้าที่ไว้ และทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเดือดร้อนเสียหาย จึงฟ้องคดีเพื่อขอให้ดำเนินการรื้อถอนถนนออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีหรือให้ชดใช้ค่าเสียหาย กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำละเมิด อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมาย ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งศาลปกครองมีอำนาจออกคำบังคับโดยสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามชดใช้เงินหรือให้ส่งมอบทรัพย์สินหรือให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามมาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ประกอบกับมาตรา ๗๑ (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน บัญญัติให้ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองที่เกี่ยวกับสิทธิแห่งทรัพย์สินมีผลผูกพันบุคคลภายนอก คู่กรณีที่เกี่ยวข้องอาจอ้างกับบุคคลภายนอกได้ เว้นแต่บุคคลภายนอกจะมีสิทธิดีกว่า ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
แม้คดีนี้จะมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาด้วยว่า ที่ดินที่พิพาทที่เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีหรือ สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ซึ่งจะต้องพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็มิใช่เกณฑ์การพิจารณาลักษณะคดีว่าอยู่ในอำนาจของศาลใด อีกทั้งไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามศาลปกครองมิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีได้ หรือมีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดกำหนดให้เป็นอำนาจเฉพาะศาลหนึ่งศาลใดเท่านั้นที่จะนำบท บัญญัติในกฎหมายดังกล่าวมาวินิจฉัยข้อพิพาทแห่งคดีได้ นอกจากนั้น ผู้ถูกฟ้องคดี ทั้งสามเป็นเพียงหน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการดูแลรักษาที่สาธารณะตามมาตรา ๘๙ (๖) และมาตรา ๖๙ (๑) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. ๒๕๒๘ ประกอบมาตรา ๑๑๗ มาตรา ๑๑๘ และมาตรา ๑๒๒ แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช ๒๔๕๗ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ. ๒๕๕๑ ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงมิใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือมี สิทธิครอบครองในที่ดินแปลงพิพาท ข้อพิพาทในคดีนี้จึงมิใช่คดีพิพาทอันเกี่ยวด้วยสิทธิในที่ดินดังเช่นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนโดยทั่วไป
ศาลจังหวัดมีนบุรีพิจารณาแล้วเห็นว่า ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๑๘ นั้น ได้บัญญัติให้ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น ซึ่งการพิจารณาว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลใดระหว่างศาลปกครองและศาลยุติธรรมต้องถือตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และข้อพิพาทในคดีระหว่างคู่ความเป็นสำคัญ สำหรับคดีนี้ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีได้ใช้อำนาจตามกฎหมายกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีในการก่อสร้างถนนสายเพิ่มสินเนื่องจากได้มีการขยายถนนเข้าไปในที่ดินของผู้ฟ้องคดี ซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามได้ให้การว่า การก่อสร้างถนนสายดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นการละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีแต่อย่างใดเนื่องจากเจ้าของที่ดินเดิมได้มีการอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว แม้ผู้ฟ้องคดีจะกล่าวอ้างขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีแสดงหนังสือการอุทิศที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีได้ตรวจสอบ แต่การอุทิศที่ดินให้เป็นประโยชน์แก่รัฐนั้นไม่จำเป็นที่ผู้อุทิศให้จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ที่ดินที่อุทิศให้ตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเท่านั้น แต่อาจเป็นการที่มีการอุทิศให้ด้วยวาจา หรือเป็นการอุทิศให้โดยปริยายก็ได้ ดังนั้น ในคดีนี้การที่ศาลจะพิพากษาตามที่ผู้ฟ้องคดีมีคำขอได้นั้น ศาลจำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้างหรือที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ได้มีการอุทิศให้แก่รัฐหรือหน่วยราชการแล้วหรือไม่เป็นสำคัญ จึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไปได้ จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ จะเป็นหน่วยงานทางปกครองก็ตาม แต่ตามคำฟ้องผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๖๗๘ ตำบลออเงิน อำเภอสายไหม (บางเขน) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๔ ไร่ ๔๕.๙ ตารางวา ได้ถูกผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ก่อสร้างปรับปรุงขยายถนนเพิ่มสินรุกล้ำเข้ามาในที่ดินดังกล่าวจำนวนเนื้อที่ ๑๔๗.๔ ตารางวา เป็นการกระทำละเมิดต่อทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทำให้ได้รับความเสียหาย ผู้ฟ้องคดีมีหนังสือขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ พิจารณาค่าตอบแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีแต่ไม่ได้รับการดำเนินการใด ๆ ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ รื้อถอนถนนเพิ่มสินออกจากที่ดินของผู้ฟ้องคดีให้มีสภาพเหมือนเดิม หรือชดใช้เงินเป็นค่าทดแทนความเสียหาย ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามให้การว่า การก่อสร้างปรับปรุงขยายถนนเพิ่มสินเป็นการกระทำไปตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด ที่ดินบริเวณพิพาทเจ้าของที่ดินเดิมได้สละการครอบครองและอุทิศให้เป็นทางสาธารณประโยชน์มาแต่เดิมมีผลให้ที่ดินพิพาทมีสภาพเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ก่อสร้างถนนเพิ่มสินตามสภาพถนนเดิมและปรับปรุงไหล่ทางให้มีสภาพดีขึ้น มิได้มีการรุกล้ำที่ดินออกนอกแนวถนนเดิม การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสามจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดี และมิได้ก่อให้เกิดความเสียหาย เห็นว่า การที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินส่วนที่พิพาท เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ฟ้องคดีตามที่กล่าวอ้าง หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ได้มาโดยการอุทิศให้ เป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่างนายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ผู้ฟ้องคดี ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ ๑ ผู้อำนวยการเขตสายไหม ที่ ๒ กรุงเทพมหานคร ที่ ๓ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ไพโรจน์ วายุภาพ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายไพโรจน์ วายุภาพ) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลโท จิระ โกมุทพงศ์ (ลงชื่อ) พลโท อาชวัน อินทรเกสร
(จิระ โกมุทพงศ์) (อาชวัน อินทรเกสร)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

สำเนาถูกต้อง

(นายธนกร หมานบุตร) คมศิลล์ คัด/ทาน
นิติกรปฏิบัติการ

Share