แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 และมาตรา 21 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดโดยการบังคับ มิใช่ให้ผู้ที่ติดยาเสพติดเลือกที่จะเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ได้ เพราะบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีข้อความระบุไว้ที่ใดเลยว่าให้ตรวจพิสูจน์เฉพาะผู้ที่ให้การรับสารภาพเท่านั้น จึงต้องครอบคลุมถึงผู้ที่เต็มใจและไม่เต็มใจเข้ารับการฟื้นฟู เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานครไม่จัดการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดจำเลยซึ่งให้การปฏิเสธ จึงเป็นการไม่ชอบ และมีหน้าที่ที่จะต้องนำตัวจำเลยกลับไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ให้ครบถ้วนถูกต้องต่อไป การที่โจทก์นำตัวจำเลยมาฟ้อง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 57, 91 ให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกจำเลยทั้งสิ้น 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2552 จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีนเข้าสู่ร่างกายอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย วันที่ 11 พฤศจิกายน 2552 พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลและศาลมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปเข้ารับการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 ในชั้นการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เสพยาเสพติด คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานคร จึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนรับตัวจำเลยไปดำเนินคดี โดยอ้างว่าเมื่อจำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้เสพยาเสพติดถือได้ว่าจำเลยไม่ประสงค์จะเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ไม่อาจเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องหาว่ากระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด เสพและมีไว้ในครอบครองเสพและมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หรือเสพและจำหน่ายยาเสพติด ตามลักษณะ ชนิด ประเภท และปริมาณที่กำหนดในกฎกระทรวง ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล ให้พนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ต้องหานั้นมาถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นที่เกิดจากตัวผู้ต้องหานั้นเอง หรือจากพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้ไม่อาจนำตัวผู้ต้องหาไปศาลภายในกำหนดเวลาดังกล่าวได้” และมาตรา 21 บัญญัติว่า “ในการตรวจพิสูจน์ผู้ต้องหาตามมาตรา 19 ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดดำเนินการให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดทำบันทึกประวัติ พฤติกรรมในการกระทำความผิด ตลอดจนสภาพแวดล้อมทั้งปวงของผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์ และตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติด การตรวจพิสูจน์ให้กระทำให้แล้วเสร็จภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่รับตัวผู้นั้นไว้ในสถานที่ที่ตรวจพิสูจน์ เว้นแต่มีเหตุจำเป็นคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดอาจสั่งให้ขยายเวลาออกไปได้อีกไม่เกินสามสิบวัน หลักเกณฑ์และวิธีการตรวจพิสูจน์ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด” เห็นว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดตามมาตรา 19 เป็นมาตรการของรัฐที่ต้องการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดโดยการบังคับ มิใช่ให้ผู้ที่ติดยาเสพติดเลือกที่จะเข้ารับการฟื้นฟูหรือไม่ก็ได้ เพราะบทกฎหมายดังกล่าวไม่มีข้อความระบุไว้ที่ใดเลยว่าให้ตรวจพิสูจน์เฉพาะผู้ที่ให้การรับสารภาพเท่านั้น การตรวจพิสูจน์ผู้ติดยาเสพติดจึงต้องมีมาตรการความเหมาะสมตามพฤติการณ์ของผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์แต่ละคน เพราะฉะนั้นระเบียบที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจพิสูจน์ตาม มาตรา 21 วรรคท้าย จึงต้องครอบคลุมถึงผู้ที่เต็มใจและไม่เต็มใจเข้ารับการแก้ไขฟื้นฟู เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมาย นอกจากนี้ในกรณีที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดวินิจฉัยว่าผู้ใดเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด ก็ต้องจัดให้มีแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดโดยคำนึงถึงความหนักเบาของการเสพหรือติดยาเสพติดของผู้เข้ารับการฟื้นฟูตามมาตรา 23 และผู้เข้ารับการฟื้นฟูต้องถูกบังคับให้อยู่รับการฟื้นฟูตามแผนการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดเป็นเวลาไม่เกินหกเดือนซึ่งอาจขยายหรือลดระยะเวลาการฟื้นฟูได้ตามความเหมาะสม ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 25 และหากผู้ใดหลบหนีจากการตรวจพิสูจน์หรือหลบหนีออกนอกศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ให้ถือว่าผู้นั้นหนีการคุมขังตามมาตรา 190 แห่งประมวลกฎหมายอาญา พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจติดตามจับกุมผู้นั้นได้ด้วยตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง จะเห็นได้ว่า การฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัตินี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขฟื้นฟูผู้เสพหรือผู้ติดยาเสพติดทุกคนเพื่อประโยชน์ของสังคมเป็นส่วนรวม ฉะนั้น การที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดกรุงเทพมหานครไม่จัดการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดจำเลยซึ่งให้การปฏิเสธจึงเป็นการไม่ชอบ และมีหน้าที่ที่จะต้องนำตัวจำเลยกลับไปดำเนินการตามพระราชบัญญัติฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ให้ครบถ้วนถูกต้องต่อไป การที่โจทก์นำตัวจำเลยมาฟ้องเป็นคดีนี้จึงไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน