คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 553/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240,244 และ 246แล้วให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองเป็น 3 กระทง เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 248 ที่บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 240 มาตรา 241 หรือมาตรา 247 ได้กระทำความผิดตามมาตราอื่นที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้อันเกี่ยวกับสิ่งที่ตนปลอมหรือแปลงนั้นด้วย ให้ลงโทษผู้นั้นตามมาตรา 240 มาตรา 241 หรือมาตรา 247แต่กระทงเดียว กรณีจึงต้องถือว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตามมาตรา 240 เพียงกระทงเดียว ดังนี้คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในข้อหาความผิดตามมาตรา244 มีกำหนด 4 ปี จึงไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และเนื่องจากปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ทั้งกรณีเป็นเหตุในลักษณะคดี ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำเครื่องมือสำหรับปลอมเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 5 บาท อันเป็นเงินตราซึ่งรัฐบาลไทยออกใช้กับร่วมกันทำปลอมเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 5 บาท โดยทำเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวให้มีรูปร่าง ลักษณะสี และขนาดเหมือนเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา5 บาท ของจริงซึ่งรัฐบาลไทยออกใช้และร่วมกันมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 5 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมขึ้นดังกล่าวและได้มาโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นของปลอม เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสองได้พร้อมด้วยเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา 5 บาทปลอมและต่อมาจำเลยทั้งสองนำเจ้าพนักงานไปยึดเหรียญกษาปณ์ชนิดราคา5 บาท ปลอมและเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเลยทั้งสองทำขึ้นสำหรับปลอมเงินตราดังกล่าวเป็นของกลางอีก ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 240, 244, 246, 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240 วางโทษจำคุกคนละ 14 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244 วางโทษจำคุกคนละ 6 ปี และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 246 วางโทษจำคุกคนละ 10 ปี เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เป็นจำคุกคนละ 30 ปี คำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณานับเป็นเหตุบรรเทาโทษ เห็นสมควรปรานีลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ 20 ปีริบของกลาง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ก่อนที่จะวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 เห็นสมควรยกเรื่องการกำหนดโทษจำเลยทั้งสองขึ้นวินิจฉัยก่อน คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 240, 244 และ 246 ซึ่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 248 บัญญัติว่า “ถ้าผู้กระทำความผิดตามมาตรา 240 มาตรา 241หรือมาตรา 247 ได้กระทำความผิดตามมาตราอื่นที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้อันเกี่ยวกับสิ่งที่ตนปลอมหรือแปลงนั้นด้วย ให้ลงโทษผู้นั้นตามมาตรา 240 มาตรา 241 หรือมาตรา 247 แต่กระทงเดียว” ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามมาตรา 240,244 และ 246 แล้วเรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองเป็น 3 กระทงจึงขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว กรณีนี้ต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองตามมาตรา 240 เพียงกระทงเดียว มีกำหนด14 ปี คดีสำหรับจำเลยที่ 1 แม้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ความผิดตามมาตรา 244 ก็ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และคดีสำหรับจำเลยที่ 2 สมควรคำนวณลดโทษเสียใหม่ให้ถูกต้องปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ ทั้งเป็นเหตุลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1ร่วมกันกับจำเลยที่ 2 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ สำหรับความผิดฐานมีเหรียญกษาปณ์ปลอมเพื่อนำออกใช้ โจทก์มีนางจันทร์แรม ขวัญทองเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยทั้งสองเข้าไปนั่งรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ร้านของนางจันทร์แรม จำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าอาหารและเครื่องดื่มด้วยเหรียญกษาปณ์ชนิด 5 บาท จำนวน 5 เหรียญกับเหรียญกษาปณ์ชนิด 1 บาท จำนวน 3 เหรียญ นางจันทร์แรมรับเหรียญกษาปณ์จากจำเลยที่ 1 แล้วรู้สึกว่าเหรียญกษาปณ์ชนิด 5 บาทเบาผิดสังเกต เชื่อว่าเป็นเหรียญกษาปณ์ปลอม จึงบอกแก่จำเลยที่ 1 ว่าเหรียญกษาปณ์ชนิด 5 บาท ที่ให้มาเป็นเหรียญปลอม ทันใดนั้นจำเลยที่ 1 รับเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวคืนไปและจำเลยที่ 2 ได้จ่ายเงินเป็นธนบัตรให้แทน และเมื่อร้อยเอกวิเชียร อาจหาญเข้ามาสั่งอาหารนางจันทร์แรม ก็เล่าเรื่องให้ร้อยเอกวิเชียรฟัง ร้อยเอกวิเชียร อาจหาญ พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อทราบเรื่องเหรียญกษาปณ์ปลอมจากนางจันทร์แรม ร้อยเอกวิเชียรได้ติดตามไปจนพบจำเลยทั้งสองที่ร้านขายยาในตลาดสี่แยกปราณบุรี จำเลยที่ 1 ได้หยิบสตางค์จากกระเป๋าถือเข้าไปในร้านขายยาและซื้อเครื่องดื่มกระทิงแดงแล้วออกจากร้านไป ร้อยเอกวิเชียรจึงไปขอเหรียญกษาปณ์ที่จำเลยที่ 1 ชำระจากร้านขายยาเพื่อนำไปให้เจ้าพนักงานตำรวจดู ร้านขายยาก็มอบเหรียญกษาปณ์ที่จำเลยที่ 1 ชำระให้ ระหว่างทางพบร้อยตำรวจโทเชิดศักดิ์ ศรีจันทรา จึงแจ้งให้ทราบ ร้อยตำรวจโทเชิดศักดิ์นำเหรียญกษาปณ์ดังกล่าวไปนายสมชาย ธรรมจรุงวงศ์ พยานโจทก์อีกปากหนึ่งก็เบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 ได้มาซื้อเครื่องดื่มกระทิงแดงที่ร้านของนายสมชาย 1 ขวด จำเลยที่ 1 ชำระเหรียญกษาปณ์ชนิด 5 บาทให้ 2 เหรียญ ต่อมามีชายแต่งกายทหารมาถามว่าจำเลยที่ 1 ให้เหรียญกษาปณ์อะไร นายสมชายว่าให้เหรียญกษาปณ์ชนิด 5 บาทไว้ 2 เหรียญ ทหารที่มาถามบอกว่าสงสัยจะเป็นเหรียญกษาปณ์ปลอมและขอซื้อนายสมชายก็มอบให้ทหารคนนั้นไป และร้อยตำรวจโทเชิดศักดิ์ ศรีจันทรา พยานโจทก์เบิกความว่า วันเกิดเหตุ ร้อยเอกวิเชียรมาแจ้งว่า มีคนนำเหรียญกษาปณ์ชนิด 5 บาท ซึ่งเชื่อว่าเป็นของปลอมมาใช้ เห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวทุกคนไม่รู้จักจำเลยที่ 1 มาก่อน ต่างเบิกความสอดคล้องเชื่อมโยงกันสมเหตุผล น่าเชื่อว่าเบิกความไปตามจริง ฟังได้ว่าในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ใช้เหรียญกษาปณ์ปลอมชนิด 5 บาท จ่ายค่าอาหารแก่นางจันทร์แรมและซื้อเครื่องดื่มกระทิงแดงจากร้านขายยาของนายสมชายจริง พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ตั้งแต่จำเลยที่ 1 มีเหรียญกษาปณ์ปลอมจำนวนมากและชำระเหรียญกษาปณ์ปลอมชนิด 5 บาท จำนวน 5 เหรียญ ให้นางจันทร์แรม เมื่อนางจันทร์แรมบอกว่าเป็นเหรียญกษาปณ์ปลอมจำเลยที่ 1 ก็รับคืนไป แล้วจำเลยที่ 1 ยังนำเหรียญกษาปณ์ปลอมไปใช้ซื้อเครื่องดื่มกระทิงแดงจากนายสมชายอีก แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 รู้มาแต่แรกแล้วว่าเหรียญกษาปณ์ชนิด 5 บาท ที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในความครอบครองเป็นของปลอม เมื่อจำเลยที่ 1 นำออกใช้จึงมีความผิดฐานมีเหรียญกษาปณ์ปลอมชนิด 5 บาท เพื่อนำออกใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 244
ส่วนความผิดฐานทำปลอมเหรียญกษาปณ์ชนิด 5 บาท และทำเครื่องมือสำหรับปลอมเหรียญกษาปณ์ชนิด 5 บาท นั้น เห็นว่า โจทก์ไม่มีพยานเห็นจำเลยที่ 1 ทำเหรียญกษาปณ์ปลอม และทำเครื่องมือสำหรับปลอมเหรียญกษาปณ์ชนิด 5 บาท มานำสืบ คงมีแต่คำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนของจำเลยที่ 1 ว่า ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2ทำเครื่องมือสำหรับปลอมเหรียญกษาปณ์และทำปลอมเหรียญกษาปณ์ชนิด 5 บาท ซึ่งมีน้ำหนักน้อย เมื่อจำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่าไม่ได้กระทำผิดกับไม่ได้ให้การด้วยความสมัครใจ และเจ้าพนักงานตำรวจบอกให้จำเลยที่ 1 ทำท่าทางต่าง ๆ แล้วถ่ายภาพไว้ พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักมั่นคง ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำเครื่องมือสำหรับทำปลอมเหรียญกษาปณ์และทำปลอมเหรียญกษาปณ์ของกลาง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดสองข้อหานี้ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 244 จำคุก 3 ปี จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 240, 244, 246 ลงโทษความผิดตามมาตรา 240 กระทงเดียวตามมาตรา 248 จำคุก 14 ปี คำให้การชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 กำหนด 2 ปีจำคุกจำเลยที่ 2 กำหนด 9 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นสำหรับจำเลยที่ 1ให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share