คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 55/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์รับประกันวินาศภัยเยื่อกระดาษไว้จากบริษัท ต. ในการขนส่งเยื่อกระดาษจากสหรัฐจนถึงคลังสินค้าในประเทศไทย เรือเดินสมุทรได้บรรทุกเยื่อกระดาษมาถึงประเทศไทยแล้ว บริษัท ต. ได้ว่าจ้างจำเลยเอาเรือฉลอมบรรทุกเยื่อกระดาษจากเรือเดินสมุทรไปส่งที่ท่าเรือโรงงานกระดาษ โดยบริษัท ต.มีหน้าที่ขนเยื่อกระดาษขึ้นจากเรือฉลอมเอง ดังนี้ จำเลยจึงมีหน้าที่เพียงขนเยื่อกระดาษจากเรือเดินสมุทรมาเทียบท่าเรือโรงงานกระดาษเท่านั้น เมื่อได้ความว่าเรือฉลอมบรรทุกเยื่อกระดาษมาเทียบท่าเรือโรงงานกระดาษตั้งแต่เวลา 11 น. เศษ แต่คนงานมิได้มาขนเยื่อกระดาษขึ้นจากเรือฝ่ายจำเลยได้ไปเตือนและเร่งรัดแล้วพวกคนงานก็ยังไม่มาจนกระทั่งค่ำ ระหว่างนี้น้ำลงเรื่อยๆ ทำให้เรือเกยตื้นในลักษณะหัวเรือสูงท้ายเรือต่ำ เพราะพื้นแม่น้ำตรงนั้นไม่เรียบ ครั้นเวลาราวเที่ยงคืนมีคนงานมาขนเยื่อกระดาษส่วนหนึ่งที่อยู่ตอนหัวเรือ ต่อมาน้ำเริ่มขึ้น แต่เนื่องจากน้ำหนักถ่วงอยู่ทางท้ายเรือ เรือจึงไม่ลอย น้ำเข้าเรือทำให้เรือจมลงเยื่อกระดาษที่บรรทุกเสียหาย พฤติการณ์เช่นนี้แสดงว่าถ้าคนงานมาขนเยื่อกระดาษขึ้นเสียตั้งแต่โอกาสแรกก็จะขนเยื่อกระดาษขึ้นได้หมด เพราะใช้เวลาเพียง 5 ชั่วโมงเท่านั้น เรือก็จะไม่จม จึงถือได้ว่าการสูญหายหรือบุบสลายเกิดเพราะความผิดของบริษัท ต. ผู้ส่งจำเลยผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 แม้โจทก์จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท ต. ไป ก็จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายธีระกับจำเลยที่ ๒ เป็นสามีภรรยากันและเป็นหุ้นส่วนประกอบกิจการรับจ้างขนส่งทางเรือใช้ชื่อว่า “ธีระขนส่ง” นายธีระถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการมรดกและดำเนินกิจการต่อมา เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๑๕ บริษัทเต็กเฮง จำกัด ว่าจ้างจำเลยขนส่งสินค้าเยื่อกระดาษ ๔๖๙๔ มัด น้ำหนัก ๙๙๙,๙๓๐ เมตริกตัน จากเรือเดินสมุทร “คิงสวิลล์” ซึ่งจอดอยู่ที่บริเวณการท่าเรือแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ ไปส่งขึ้นที่ท่าเรือบริษัทโรงงานกระดาษกรุงเทพ จำกัด จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยใช้เรือฉลอมประมาณ ๕ ลำ บรรทุกตั้งแต่วันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๑๕ ในวันนั้นนายสุทัศน์ลูกจ้างของจำเลย ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลเรือฉลอมลำหมายเลขทะเบียนที่ ๐๘๓๓๖๗ นำเรือเข้าจอดเทียบท่า เพื่อขนถ่ายเยื่อกระดาษขึ้นคลังสินค้า มิได้ตรวจดูความตื้นลึกของบริเวณที่จอดเรือและการขึ้นลงของระดับน้ำตามวิสัยของผู้ควบคุมเรือจะถึงปฏิบัติเป็นเหตุให้เรือฉลอมดังกล่าวเกยตื้นเมื่อเวลาประมาณ ๒.๐๐ นาฬิกาของวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๑๕ เมื่อระดับน้ำลดลง ทำให้เรือเอียงน้ำไหลเข้าและจม เยื่อกระดาษจำนวน ๑๐๐๒ มัด เปียกน้ำเสียหาย สินค้าเยื่อกระดาษดังกล่าว บริษัทเต็กเฮง จำกัด เอาประกันวินาศภัยไว้กับโจทก์ โจทก์ต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้บริษัทเต็งเฮง จำกัด ตามสัญญาประกันภัยไป เป็นเงิน ๗๔๒,๕๖๔.๒๔ บาท โจทก์จึงเข้าเป็นผู้รับช่างสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลย โจทก์ได้ทวงถามแล้ว จำเลยไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวนนี้พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ ถึงวันฟ้องเป็นเงิน ๙,๒๘๒ บาท และอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องและหน้าที่ขนเยื่อกระดาษขึ้นลงเป็นของบริษัทเต็กเฮง จำกัด ผู้ว่าจ้าง จำเลยมีหน้าที่เพียงบรรทุกจากเรือคิงสวิลล์ไปถึงท่าเรือของบริษัทโรงงานกระดาษกรุงเทพ จำกัด เท่านั้น เรือได้เทียบท่าดังกล่าวเรียบร้อยปลอดภัยแล้ว ตั้งแต่เวลาประมาณ ๑๔ นาฬิกาของวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๑๕ จำเลยได้บอกกล่าวให้บริษัทเต็กเฮง จำกัด ทราบและรีบขนขึ้นแต่ไม่มาขน จำเลยเตือนหลายครั้งจนเวลา ๑ นาฬิกาเศษวันที่ ๑๔ เดือนเดียวกันน้ำลงเรือเกยตื้น ทางบริษัทเต็กเฮง จำกัด จึงเริ่มลงมือขนเมื่อตอน ๒.๐๐ นาฬิกา ขนได้เกือบครึ่งเรือจึงจม อันเป็นความผิดของฝ่ายบริษัทเต็กเฮง จำกัด ผู้ว่าจ้างเอง ซึ่งผู้ว่าจ้างก็ยอมรับว่าเป็นความผิดของบริษัทเอง และยอมชดใช้ค่าเสียหายให้จำเลย ค่าจ้างในการขนส่งก็ชำระให้จำเลยครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ ๕๗๔,๑๓๖ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็บครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และให้มีผลไปถึงจำเลยที่ ๑ ซึ่งไม่ได้อุทธรณ์ด้วย เพราะเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า บริษัทเต็กเฮง จำกัด ได้จ้างให้จำเลยเอาเรือฉลอมบรรทุกเยื่อกระดาษจากเรือเดิมทะเลคิงสวิลล์ไปส่งถึงท่าเรือของบริษัทโรงงานกระดาษกรุงเทพ จำกัด เท่านั้น บริษัทเต็กเฮง จำกัด มีหน้าที่ขนเยื่อกระดาษขึ้นจากเรือจำเลยหาใช่จำเลยมีหน้าที่ขนเยื่อกระดาษขื้นมาไว้ในโกดังของโรงงานกระดาษสหไทย จำกัด ไม่
วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า จากการนำสืบของโจทก์และจำเลยได้ความชัดเจนว่าเรือฉลอมลำเกิดเหตุบรรทุกเยื่อกระดาษมาเทียบท่าเรือบริษัทโรงงานกระดาษสหไทย จำกัด ตั้งแต่เวลา ๑๑ นาฬิกาเศษของวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๑๕ แต่คนงานมิได้มาขนเยื่อกระดาษขึ้นจากเรือ ทั้งที่ฝ่ายจำเลยได้ไปเตือนและเร่งและแจ้งให้ฝ่ายบริษัทเต็กเฮง จำกัด ทราบ พวกคนงานก็ยังไม่มา อ้างว่ากินข้าวกลางวันก่อนบ้าง ยังไม่พร้อมบ้าง จนกระทั่งเวลากลางคืน พวกคนงานก็ยังไม่มา และน้ำก็เริ่มลง ทำให้เรือเกยตื้นในลักษณะหัวเรือสูงท้ายเรือต่ำ เพราะพื้นแม่น้ำตรงนั้นไม่เรียบ พวกคนงานมาถึงเมื่อราวเที่ยงคืนมาราว ๑๐ คน และขนเยื่อกระดาษเฉพาะที่อยู่ตอนหัวเรือได้ ๓๖๒ มัด พอราว ๒ นาฬิกาของวันที่ ๑๔ เดือนนั้น น้ำก็เริ่มขึ้น แต่เนื่องจากน้ำหนักเรือถ่วงอยู่ทางท้ายเรือ เรือจึงไม่ลอย น้ำก็เข้าไปในเรือทำให้เรือจมลงไป พฤติการณ์เหล่านี้แสดงว่าถ้าคนงานมาขนเยื่อกระดาษขึ้นเสียตั้งแต่โอกาสแรกที่จะทำได้แล้ว ก็จะขนเยื่อกระดาษขึ้นได้หมด และเรือก็จะไม่จม ความเสียหายต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะการขนเยื่อกระดาษขึ้นจากเรือ จำเลยนั้นใช้เวลาเพียง ๕ ชั่วโมงเท่านั้น แต่เรือจำเลยไปจอดเทียบท่ารอการขนขึ้นนั้นมีเวลากว่า ๑๐ ชั่วโมง พฤติการณ์ต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ถือได้ว่าการสูญหายหรือบุบสลายเกิดเพราะความผิดของบริษัทเต็กเฮง จำกัดผู้ส่ง จำเลยผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๑๖ หาใช่เป็นเรื่องนายสุทัศน์ลูกจ้างของจำเลยนำเรือเข้าจอดเทียบท่าด้วยความประมาทไม่ตรวจความตื้นลึกของบริษัทที่จอดเรือตามวิสัยของผู้ควบคุมเรือจะพึงปฏิบัติตามข้ออ้างในฟ้องของโจทก์ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าชอบด้วยกฎหมายและเหตุผลแล้ว
พิพากษายืน

Share