คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5747/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ทำให้จำเลยถูกบัตรสนเท่ห์ จึงทำร้ายโจทก์จนกระดูกซี่โครงร้าว แล้วออกจากบ้านไปอยู่กับภริยาเก่าโดยไม่กลับมาอยู่กับโจทก์อีกเลยแม้ปรากฏว่าจำเลยเคยช่วยออกค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา และค่าโทรศัพท์ในบ้านโจทก์โดยฝากบุตรไปให้ แต่เมื่อพบกันก็ไม่พูดกัน ดังนี้ ถือว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ เมื่อเป็นระยะเวลาเกินหนึ่งปี ก็เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(4) ที่ดินที่โจทก์ได้มาระหว่างสมรสโดยมารดายกให้โดยเสน่หาและให้ถือกรรมสิทธิ์รวมกับพี่อีก 3 คน ก่อนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 ใช้บังคับ เมื่อการยกให้มิได้แสดงไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัว ที่ดินส่วนของโจทก์จึงตกเป็นสินสมรส แม้ต่อมาได้มีการแบ่งแยกโฉนดออกไปเป็นส่วนของโจทก์เมื่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ. 2519 ใช้บังคับแล้ว ก็เป็นเรื่องการแบ่งทรัพย์สินในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมไม่ทำให้ที่ดินส่วนของโจทก์หลังแบ่งแยกโฉนดแล้วเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1471(3) ที่ได้ตรวจชำระใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำร้ายโจทก์และจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์และจ่ายค่าเลี้ยงชีพจำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าไม่เคยทำร้ายและทิ้งร้างโจทก์ หากศาลพิพากษาให้หย่า ขอให้แบ่งสินสมรส คือ โฉนดเลขที่ 3064 พร้อมบ้านให้จำเลยครึ่งหนึ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนหย่า แต่ไม่แบ่งที่ดินตามฟ้องแย้งให้ จำเลยอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 3064 โดยฟังว่าเป็นสินสมรสให้จำเลยครึ่งหนึ่งโจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอหย่าเพราะจำเลยมิได้จงใจทิ้งร้างโจทก์นั้น โจทก์นำสืบว่า เมื่อต้นเดือนเมษายน 2522 โจทก์จำเลยทะเลาะกันเรื่องมีผู้ส่งบัตรสนเท่ห์กล่าวหาจำเลยซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐบาลมีความประพฤติเสียหายในเรื่องชู้สาวเรื่องการเงิน และเรื่องกลั่นแกล้งผู้ใต้บังคับบัญชา โดยจำเลยหาว่าโจทก์ทำให้จำเลยถูกบัตรสนเท่ห์และเตะโจทก์จนกระดูกซี่โครงร้าว ในวันนั้นจำเลยก็ออกจากบ้านไปอยู่กับนางวิไลภริยาเก่าแล้วไม่กลับมาอยู่กับโจทก์อีกเลย จำเลยเองก็นำสืบว่า หลังจากเกษียณอายุราชการเมื่อพุทธศักราช 2522ซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์ยื่นฟ้องเกินหนึ่งปีจำเลยไปอยู่ที่บ้านนางวิไลภริยาเก่ามิได้กลับมาอยู่กับโจทก์อีกเลย เมื่อจำเลยมาเยี่ยมมารดาซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านที่โจทก์อยู่ถ้าพบโจทก์ก็ไม่พูดกันพฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวนี้แม้จะฟังว่าจำเลยเคยช่วยออกค่าไฟฟ้าค่าน้ำประปา และค่าโทรศัพท์ในบ้านที่โจทก์อยู่บ้างโดยฝากบุตรสาวไปให้โจทก์ดังที่จำเลยนำสืบก็ตาม กรณีก็ถือได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ผู้เป็นภริยาไปเกินหนึ่งปี เป็นเหตุฟ้องหย่าได้ตามบรรพ 5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1516(4)โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องหย่า เหตุผลต่าง ๆ ที่จำเลยอ้างอิงในฎีกาข้อนี้ไม่ใช่เหตุที่ศาลจะยกคำขอของโจทก์ข้อนี้ได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้ชอบแล้ว”

ฯลฯ
“ที่โจทก์ฎีกาและแก้ฎีกาของจำเลยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3064และบ้านเลขที่ 20 ซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินแปลงนี้เป็นสินส่วนตัวของโจทก์หากจะฟังว่าเป็นสินสมรส ที่ดินและบ้านดังกล่าวก็ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายประพันธ์ ศิริธง ไปแล้วไม่เหลืออยู่ที่จะนำมาแบ่งให้จำเลยได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้แบ่งเฉพาะที่ดินเท่านั้น มิได้ให้แบ่งบ้านเลขที่ 20 ด้วย โจทก์ขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 3064 และบ้านเลขที่ 20 ให้ นายประพันธ์เป็นเงิน128,000 บาท แต่ได้รับเงินไม่ถึง 128,000 บาท เพราะนายประพันธ์คิดดอกเบี้ยรวมเข้าไปด้วย บ้านเลขที่ 20 เป็นบ้านเก่าถ้าประมูลขายจะได้ราคาอย่างมากเพียง 30,000 บาท ราคาที่ดินอย่างเดียวประมาณ 50,000 บาท จำเลยจะได้รับส่วนแบ่งไม่เกิน25,000 บาท นั้น ปรากฏว่าจำเลยมิได้ฎีกาขอแบ่งบ้านเลข 20 ด้วยกลับกล่าวในคำฟ้องฎีกาว่าที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่3064 เป็นสินสมรส จำเลยเห็นพ้องด้วยเพราะชอบด้วยเหตุผลและความยุติธรรมจึงมีปัญหาวินิจฉัยว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3064 เป็นสินสมรสหรือไม่ ปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 3064 เดิมเป็นที่ดินแปลงใหญ่ มารดาโจทก์ยกให้โจทก์และพี่อีก 3 คน โดยเสน่หาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2518 ซึ่งอยู่ในระยะเวลาระหว่างสมรสโดยมิได้แสดงไว้ว่าให้เป็นสินส่วนตัวที่ดินโฉนดเลขที่ 3064ส่วนของโจทก์จึงตกเป็นสินสมรสของโจทก์และจำเลยแม้หลังจากบทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ใช้บังคับแล้ว ได้มีการแบ่งแยกโฉนดออกไปที่ดินโฉนดเลขที่ 3064คงเหลือเนื้อที่ 3 งาน 3 ตารางวา เป็นส่วนของโจทก์ก็เป็นเรื่องการแบ่งทรัพย์สินในระหว่างผู้ถือกรรมสิทธิ์รวม หาทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3064 หลังจากแบ่งแยกโฉนดแล้วเปลี่ยนเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ตามบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1471(3) ไม่”
และฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 3064 มีราคา 100,000บาท และตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นไปแล้ว โจทก์จะต้องใช้เงินแก่จำเลยครึ่งหนึ่งเป็นเงิน 50,000 บาท เมื่อรวมกับสินสมรสอื่นอีกเป็นส่วนแบ่งของจำเลย รวม 51,800 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้เงินจำนวน 51,800 บาทให้แก่จำเลย

Share