คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1389/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยและสหภาพแรงงานฯ ซึ่งโจทก์เป็นสมาชิกอยู่ด้วยได้แจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อกันแม้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ไกล่เกลี่ยแล้วก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จำเลยได้เสนอข้อตกลงไปยังลูกจ้างโดยตรง ลูกจ้างจำนวน 623 คนเห็นด้วยจึงทำสัญญาตามข้อเสนอของจำเลยโจทก์และลูกจ้างประมาณ 90 คน ไม่เห็นด้วยและไม่ยอมทำสัญญาจำเลยย่อมมีสิทธิปิดงานบางส่วนได้โดยชอบและไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ในระหว่างปิดงาน การปิดงานตามความหมายของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์มาตรา 5 มิได้บังคับว่านายจ้างต้องหยุดหรือปิดกิจการทั้งหมดและจะให้ลูกจ้างอื่นทำงานต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินกิจการไปตามปกติหรือมีสิทธิให้พนักงานอื่นเข้าทำงานต่อไปได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บริษัทจำเลยและสหภาพแรงงานไทยบริดจสโตนได้แจ้งข้อเรียกร้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างซึ่งกันและกันและกลายเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ จำเลยได้ทำสัญญาเกี่ยวกับสภาพการจ้างในเรื่องข้อเรียกร้องดังกล่าวให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อเป็นรายบุคคล หลังจากนั้นก็ได้มีคำสั่งปิดงานลูกจ้างจำนวน 90 คนที่ไม่ได้ลงลายมือชื่อทำสัญญากับจำเลย การปิดงานของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยรับโจทก์ทั้งสิบแปดคนกลับเข้าทำงาน พร้อมกับได้รับสิทธิประโยชน์ตามสภาพการจ้างเดิม และให้จำเลยจ่ายค่าจ้าง ค่าครองชีพ เบี้ยขยัน โบนัส ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินช่วยเหลือเพื่อการพบปะสังสรรค์พร้อมดอกเบี้ย จำเลยให้การว่า เมื่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานไกล่เกลี่ยแล้ว จำเลยกับสหภาพแรงงานก็ไม่สามารถตกลงกันได้ จำเลยมีความประสงค์จะระงับข้อพิพาทแรงงานโดยได้รับความร่วมมือจากลูกจ้าง 623 คน ยินยอมทำสัญญาตามข้อตกลงที่จำเลยเสนอ ระหว่างการเจรจาลูกจ้างบางส่วนชะลอการทำงานบ่อนทำลายเครื่องจักร ผสมเศษโลหะลงในวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีหนังสือเวียนถึงลูกค้าเพื่อให้เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ของจำเลยทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย จำเลยจึงมีคำสั่งปิดงาน ซึ่งเป็นการปิดงานในระหว่างที่ข้อเรียกร้องเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เป็นการปิดงานโดยชอบ หลังจากปิดงานแล้วจำเลยจะให้ลูกจ้างคนใดเข้าทำงานเป็นสิทธิของจำเลย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินตามฟ้องขอให้ยกฟ้อง ในระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางคู่ความแถลงรับกันว่า โจทก์ได้เข้าทำงานตามเดิมแล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่จำเลยปิดงานงดจ้างเฉพาะโจทก์กับลูกจ้างอื่นประมาณ 90 คน ซึ่งไม่ยอมทำสัญญาตามข้อเสนอของจำเลย ไม่เป็นการปิดงานเนื่องจากมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสิบแปด จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “จำเลยอุทธรณ์ข้อแรกว่า โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่า จำเลยกระทำการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 คำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย เมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดว่าโจทก์มิใช่เป็นผู้เสียหายและการที่จำเลยปิดงานเป็นการกระทำโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ด้วย โจทก์จะมีอำนาจฟ้องต่อเมื่อได้กล่าวในฟ้องให้ชัดแจ้งว่าเพราะเหตุใดโจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย เมื่อโจทก์มิได้กล่าวถึงสิทธิของโจทก์ ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยให้การต่อสู้เพียงว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพราะต้องผูกพันตามคำชี้ขาดของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เท่านั้นมิได้กล่าวอ้างว่าโจทก์จะต้องฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์และจะต้องบรรยายฟ้องด้วยว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายจึงจะมีอำนาจฟ้องดังที่ยกขึ้นอุทธรณ์ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในเหตุนอกเหนือจากคำให้การ ต้องห้ามอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ข้อที่จำเลยอุทธรณ์ต่อไปว่า การที่จำเลยปิดงานนั้น เนื่องจากข้อเรียกร้องของจำเลยและสหภาพแรงงานไทยบริดจสโตนเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ ซึ่งจำเลยมีสิทธิปิดงานได้การปิดงานของจำเลยจึงเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ปัญหาข้อนี้ ปรากฏว่าจำเลยและสหภาพแรงงานไทยบริดจสโตน ซึ่งโจทก์ทั้งสิบแปดเป็นสมาชิกได้แจ้งข้อเรียกร้องเพื่อขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อกันแต่จำเลยกับสหภาพแรงงานไทยบริดจสโตนไม่สามารถตกลงตามข้อเรียกร้องนั้นได้ พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานได้ไกล่เกลี่ยตามกฎหมายแล้ว แต่จำเลยกับสหภาพแรงงานดังกล่าวก็ยังตกลงกันไม่ได้เช่นเดิม ดังนั้น จำเลยจึงเสนอข้อตกลงของจำเลยไปยังลูกจ้างโดยตรงลูกจ้างของจำเลยจำนวนหนึ่งประมาณ 623 คนเห็นด้วยจึงทำสัญญาตามข้อเสนอของจำเลย ส่วนโจทก์ทั้งสิบแปดกับลูกจ้างอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 90 คนไม่เห็นด้วย จึงไม่ยอมทำสัญญาตามข้อเสนอดังกล่าวต่อมาจำเลยมีคำสั่งปิดงานโดยไม่ให้โจทก์ทั้งสิบแปดกับลูกจ้างซึ่งไม่ยอมทำสัญญาตามข้อเสนอของจำเลยเข้าทำงานตามปกติ ส่วนลูกจ้างซึ่งยอมทำสัญญาตามข้อเสนอของจำเลยนั้น จำเลยได้ให้เข้าทำงานตามปกติแต่ในระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยได้ให้โจทก์ทั้งสิบแปดเข้าทำงานเช่นเดียวกับลูกจ้างอื่นแล้ว ปัญหามีว่า การที่จำเลยมิได้รับโจทก์ทั้งสิบแปดเข้าทำงานก่อนนำคดีมาสู่ศาลเป็นการปิดงานโดยชอบหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 22 วรรคสาม ได้บัญญัติให้สิทธิแก่นายจ้างที่ปิดงานหรือลูกจ้างที่นัดหยุดงาน ในกรณีที่ข้อพิพาทเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานไทยบริดจสโตน ซึ่งโจทก์ทั้งสิบแปดเป็นสมาชิกและเกี่ยวกับการเรียกร้องเป็นข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างย่อมมีสิทธิปิดงานการที่จำเลยปิดงานจึงเป็นการชอบด้วยกฎหมาย และจากการที่จำเลยปิดงานดังกล่าวเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสิบแปดมิได้ทำงานให้จำเลยตามสัญญาจ้างแรงงานจำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างและค่าเสียหายใด ๆ ให้แก่โจทก์ส่วนที่ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยสั่งปิดงานแล้วแต่จำเลยยังคงให้ลูกจ้างอื่นเข้าทำงานต่อไป โดยไม่ได้หยุดหรือปิดกิจการนั้นเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5ได้ให้ความหมายของคำว่า “การปิดงาน” หมายความว่า การที่นายจ้างปฏิเสธไม่ยอมให้ลูกจ้างทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานเท่านั้น มิได้บังคับว่านายจ้างต้องหยุดหรือปิดกิจการ หรือจะให้ลูกจ้างอื่นทำงานต่อไปมิได้ ฉะนั้น จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินกิจการของจำเลยไปตามปกติหรือมีสิทธิให้พนักงานอื่นเข้าทำงานต่อไปได้ ไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น และเมื่อวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้แล้ว กรณีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยข้ออื่นต่อไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share