คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7191/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) แต่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องให้การต่อสู้คดี ทั้งคำให้การในคดีส่วนแพ่งจำเลยทั้งสองต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง ซึ่งตามคำให้การของจำเลยทั้งสองแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 โดยอ้างเหตุว่า จำเลยทั้งสองทำหนังสือรับสภาพหนี้หลังจากผิดนัดชำระค่าเช่าหลายปี เช่นนี้ เป็นกรณีจำเลยทั้งสองให้การว่ารับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/35 จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ประกอบมาตรา 193/14 (1) และ 193/15 ศาลจึงไม่อาจหยิบยกอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (3) ขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำให้การของจำเลยทั้งสอง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 423,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 300,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 มีนาคม 2555) ต้องไม่เกิน 123,750 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 6,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์และค้างชำระค่าเช่า ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2549 จำเลยทั้งสองทำหนังสือยอมรับต่อโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ค้างชำระค่าเช่าที่ดินรวมเป็นเงิน 300,000 บาท จำเลยทั้งสองตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวภายในระยะเวลา 3 ปี หากผิดนัดยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามหนังสือรับสภาพหนี้ คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองเพียงว่า การที่จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 ซึ่งมีอายุความ 2 ปี เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (3) ประกอบมาตรา 193/14 (1) และ 193/15 ซึ่งมีอายุความ 5 ปี นั้น ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเกิน 5 ปี จึงขาดอายุความ ตามที่พิจารณาได้ความได้หรือไม่ ซึ่งจำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองยกอายุความขึ้นต่อสู้ไว้ชัดแจ้งในคำให้การ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 และถึงแม้อายุความที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นต่อสู้ในคำให้การจะต่างไปจากคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น แต่ยังคงตรงกับประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีที่เกิดขึ้น ศาลชั้นต้นย่อมยกอายุความขึ้นวินิจฉัยให้ตรงตามรูปคดีได้นั้น เห็นว่า ปัญหาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) แต่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองจะต้องให้การต่อสู้คดี ทั้งคำให้การในคดีส่วนแพ่งจำเลยทั้งสองต้องแสดงโดยชัดแจ้งว่า จำเลยทั้งสองยอมรับหรือปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ทั้งสิ้นหรือแต่บางส่วนรวมทั้งเหตุแห่งการนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง ซึ่งตามคำให้การของจำเลยทั้งสองแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 โดยอ้างเหตุว่า จำเลยทั้งสองทำหนังสือรับสภาพหนี้หลังจากผิดนัดชำระค่าเช่าหลายปี เช่นนี้ เป็นกรณีจำเลยทั้งสองให้การว่ารับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ จึงมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/35 จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (3) ประกอบมาตรา 193/14 (1) และ 193/15 ศาลจึงไม่อาจหยิบยกอายุความ 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (3) ขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้เพราะเป็นการวินิจฉัยนอกเหนือไปจากคำให้การของจำเลยทั้งสอง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share