คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3903/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ความผิดฐานปล้นทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจทก์เกิดขึ้นต่างท้องที่กันก็ตาม แต่ก็เป็นความผิดต่อเนื่องกันโดยปล้นทรัพย์จากท้องที่หนึ่งนำไปจำหน่ายแก่ผู้รับของโจรในอีกท้องที่หนึ่ง ดังนั้นพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดจึงมีอำนาจสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19
จำเลยที่ 4 ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานรับของโจรรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปล้นเอามาซึ่งความผิดฐานปล้นทรัพย์มีอัตราสูงกว่าความผิดฐานรับของโจร โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดฐานปล้นทรัพย์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 24

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๘๘, ๒๘๙, ๓๔๐ ตรี, ๓๕๗, ๘๓, ๙๑ ที่แก้ไขแล้ว พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ นับโทษจำเลยที่ ๓ ต่อจากโทษของจำเลยที่ ๒ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๓๓๓/๒๕๒๙ ของศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้รถยนต์กระบะจำนวน ๑ คัน ราคา ๑๒๐,๐๐๐ บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ทายาทของนายโต และให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาอาวุธปืนพกขนาด ๑๑ มม. จำนวน ๑ กระบอก ราคา ๑๐,๐๐๐ บาท และนาฬิกาข้อมือยี่ห้อไซโกจำนวน ๑ เรือน ราคา ๓,๐๐๐ บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ทายาทของนายโต ให้คืนหรือใช้ราคาสร้อยคอทองคำหนัก ๑ บาท จำนวน ๑ เส้น ราคา ๔,๐๐๐ บาท ข้าวสารจำนวน ๑ กระสอบ ราคา ๓๐๐ บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ทายาทของนายสุนัยให้คืนหรือใช้ราคาพันธบัตร ๑๐๐ บาท แก่ทายาทของนายแสง และขอให้ส่งคืนรถยนต์กระบะกับอาวุธปืนพกของกลางแก่ทายาทของนายโต ริบเหล็กตัวเลขใช้ตอกเลขเครื่องยนต์หรือตัวถังรถยนต์จำนวน ๑๘ ตัว เหล็กปอนด์หนัก ๓ ปอนด์ จำนวน ๑ อัน กันชนเหล็กของรถยนต์ ๑ อัน กระสุนปืนจำนวน ๕ นัด และซองบรรจุกระสุนปืนจำนวน ๑ ซอง ของกลาง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๔ ให้การปฏิเสธ ส่วนจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๘ ทวิ, ๗๒, ๗๒ ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙, ๓๔๐ ประกอบมาตรา ๓๔๐ ตรี, ๓๗๑ ประกอบมาตรา ๙๐, มาตรา ๙๑ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๕ (ที่ถูก ๒๕๑๔) ข้อ ๑๔, ๑๕ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ และจำเลยที่ ๓ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ ด้วย จำเลยที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนจำคุก ๑ ปี ฐานมีอาวุธปืนมีทะเบียนของผู้อื่นไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาติ จำคุก ๖ เดือน ฐานพาอาวุธปืนให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก ๖ เดือน ฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้นายโตถึงแก่ความตายเป็นการกระทำกรรมเดียวกับฐานฆ่านายโตเพื่อความสะดวกในการปล้นทรัพย์ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙ ซึ่งเป็นบทหนัก ให้ประหารชีวิตฐานฆ่านางสุนัยเพื่อปกปิดความผิดให้ประหารชีวิตฐานฆ่านางแสงเพื่อปกปิดความผิดให้ประหารชีวิตเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงให้ประหารชีวิตจำเลยที่ ๑ และจำคุก ๒ ปี เมื่อพิพากษาให้ประหารชีวิตแล้วจึงไม่สามารถจำคุกได้อีก คงให้ประหารชีวิตจำเลยที่ ๑ เพียงสถานเดียว ให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานมีอาวุธปืนจำคุก ๑ ปี ฐานพาอาวุธปืนให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก ๖ เดือน ฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเป็นการกระทำกรรมเดียวกับฐานฆ่านายโตเพื่อความสะดวกในการปล้นทรัพย์ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ตามประมวลกฎหมาย มาตรา ๒๘๙ ซึ่งเป็นบทหนัก ให้ประหารชีวิตฐานฆ่านางสุนัยเพื่อปกปิดความผิดให้ประหารชีวิต ฐานฆ่านางแสงเพื่อปกปิดความผิดให้ประหารชีวิต ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ฐานมีอาวุธปืนคงจำคุก ๖ เดือน ฐานพาอาวุธปืนคงจำคุก ๓ เดือน ฐานฆ่านายโตคงจำคุกตลอดชีวิต ฐานฆ่านางสุนัยคงจำคุกตลอดชีวิต ฐานฆ่านางแสงคงจำคุกตลอดชีวิต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๒ รวมแล้วให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ จำคุกตลอดชีวิตและจำคุก ๙ เดือน แต่ให้จำคุกตลอดชีวิตเพียงสถานเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๓ เท่ากับจำเลยที่ ๒ และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๓ ฐานปลอมเอกสารอีก ๑ ปีด้วย ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุกจำเลยที่ ๓ ฐานมีอาวุธปืน ๖ เดือน ฐานพาอาวุธปืน ๓ เดือน ฐานฆ่านายโตจำคุกตลอดชีวิต ฐานฆ่านางสุนัยจำคุกตลอดชีวิต ฐานฆ่านางแสงจำคุกตลอดชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๒ ฐานปลอมเอกสารจำคุก ๖ เดือน รวมแล้วให้ลงโทษจำเลยที่ ๓ จำคุกตลอดชีวิตและจำคุก ๑ ปี ๓ เดือน แต่ให้จำคุกจำเลยที่ ๓ ไว้ตลอดชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ และให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๓๓๓/๒๕๒๙ ของศาลชั้นต้นและให้ลงโทษจำเลยที่ ๔ จำคุก ๒ ปี อาวุธปืนและรถยนต์ของกลางให้คืนแก่ทายาทของนายโต ของกลางอย่างอื่นนอกจากนี้ให้ริบ ให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ของผู้ตายทั้งสามที่ถูกจำเลยทั้งสามปล้นทรัพย์ไป และยังไม่ได้คืนแก่ทายาทนายโต นางสุนัยและนางแสงผู้ตาย ที่ขอให้จำเลยที่ ๔ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ด้วยนั้น เมื่อฟังได้ว่าจำเลยที่ ๔ เพียงแต่รับของโจรรถยนต์ของกลางซึ่งเป็นของนายโตผู้ตาย และศาลมีคำสั่งคืนรถยนต์ของกลางแก่ทายาทของนายโตแล้ว คำขอของโจทก์ในส่วนนี้จึงให้ยกเสีย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๔ อุทธรณ์ สำหรับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ศาลชั้นต้นส่งสำนวนมายังศาลอุทธรณ์ ตามประมาลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๕
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๑ ที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาว่าคดีนี้เหตุรับของโจรและท้องที่ที่จำเลยถูกจับอยู่ในจังหวัดชัยภูมิ แต่พนักงานสอบสวนอำเภอหนองบัวระเหว จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจทำการสอบสวนรับผิดชอบหาได้ทำการสอบสวนไม่ จึงถือได้ว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๔ โดยยังไม่มีการสอบสวน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง กับเหตุมิได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจศาลชั้นต้น ฉะนั้นศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ เห็นว่าแม้ความผิดฐานปล้นทรัพย์กับความผิดฐานรับของโจรเกิดขึ้นต่างท้องที่กันก็ตาม แต่ก็เป็นความผิดต่อเนื่องกัน โดยปล้นทรัพย์จากท้องที่หนึ่งนำไปจำหน่ายแก่ผู้รับของโจรในอีกท้องที่หนึ่ง พนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องย่อมมีอำนาจสอบสวนได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙ ดังนั้นพนักงานสอบสวนคดีนี้ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในท้องที่หนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุที่เกิดจึงมีอำนาจสอบสวนได้ ถือว่าโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๔ โดยมีการสอบสวนแล้วโดยชอบ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนในข้อที่จำเลยที่ ๔ ฎีกาว่าเหตุที่เกิดขึ้นอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดชัยภูมิ ศาลชั้นต้นคือศาลจังหวัดบุรีรัมย์ไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้นั้น เห็นว่า คดีนี้มีผู้กระทำผิดหลายคนเกี่ยวกันในการกระทำความผิดหลายฐาน โดยจำเลยที่ ๔ ต้องหาว่ากระทำความผิดฐานรับของโจรรถยนต์ที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ปล้นเอามาซึ่งความผิดฐานปล้นทรัพย์มีอัตราโทษสูงกว่าความผิดฐานรับของโจร โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๔ ในความผิดฐานรับของโจรต่อศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ความผิดฐานปล้นทรัพย์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๔ นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย แต่ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทความผิดของจำเลยที่ ๔ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ โดยมิได้ระบุและอ้างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๒๒ นั้น ยังไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงต้องแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ ๔ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๗ วรรคสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธณ์

Share