คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2202/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างออกแบบและควบคุมการก่อสร้างอาคารบ้านพัก มีห้างหุ้นส่วนจำกัดพ.เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างแทนจำเลยที่ 1ห้างหุ้นส่วนจำกัดพ.ได้มอบให้อ. ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้างของห้างนำรถยนต์บรรทุกไปใช้ในการก่อสร้างโดยจำเลยที่ 2และ อ. ได้ใช้รถยนต์บรรทุกนั้นร่วมกัน และในวันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ก็ใช้อยู่ตลอดทั้งวันน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้รถยนต์บรรทุกนั้นในการปฏิบัติหน้าที่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกโดยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ที่โจทก์ขับสวนมาได้รับความเสียหาย โดยจุดชนห่างจากสถานที่ก่อสร้างประมาณ 30 เมตร และเป็นเวลาหลังจากเลิกงานประมาณ1 ชั่วโมง ถือได้ว่าอยู่ในระหว่างเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างบ้านพักทหารผ่านศึกทุพพลภาพ(สวนอนันต์) โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัดพีเอสทีเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทางห้างหุ้นส่วนจำกัดพีเอสทีได้มอบรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน3บ-4210 กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยที่ 1 ไว้ใช้งาน จำเลยที่ 2เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้เป็นตัวแทนในการครอบครองใช้สอยรถยนต์บรรทุกเพื่อประโยชน์ในการควบคุมการก่อสร้างแทนจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน2527 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์บรรทุกโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 2จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ กล่าวคือ จำเลยที่ 2 ควรขับรถตามอัตราที่กฎหมายกำหนด และขับอยู่ในช่องเดินรถของตนมิให้ล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่สวนมา แต่จำเลยที่ 2 กลับขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และจำเลยที่ 2 ขับรถล้ำเข้าไปในช่องเดินรถของโจทก์ที่ 1 ซึ่งขับรถสวนทางมา เป็นเหตุให้ชนกับรถของโจทก์ที่ 1ทั้งนี้จำเลยที่ 2 กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 และในขณะที่เป็นตัวแทนผู้ครอบครองใช้สอยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน3บ-4210 กรุงเทพมหานคร เนื่องจากความประมาทของจำเลยที่ 2ข้างต้น เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายทั้งคันจนไม่สามารถซ่อมแซมใช้การได้ นอกจากนี้ยังทำให้คนที่นั่งมาในรถยนต์ที่โจทก์ที่ 1 ขับ คือตัวโจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 4 ได้รับบาดเจ็บสาหัส โจทก์ที่ 1 ขอเรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 451,151 บาทโจทก์ที่ 2 ขอเรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 30,400 บาท โจทก์ที่ 3ขอเรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 23,800 บาท และโจทก์ที่ 4ขอเรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 32,150 บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสี่เรียกร้อง 537,501 บาท จำเลยที่ 2 ผู้ทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1ในฐานะนายจ้างหรือตัวการต้องร่วมกันรับผิดและชดใช้ค่าเสียหายและค่าสินไหมทดแทนข้างต้นให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าสินไหมทดแทนและค่าเสียหายจำนวนข้างต้นให้โจทก์ทั้งสี่พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีจำเลยที่ 2เป็นลูกจ้าง จำเลยที่ 1 ไม่เคยมอบหมายให้จำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไปใช้สอยเพื่อประโยชน์ในการทำหน้าที่ควบคุมงานแทนจำเลยที่ 1 การปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ปฏิบัติงานระหว่างเวลา 8 นาฬิกา ถึง 17 นาฬิกา เหตุในคดีนี้เกิดเวลา18 นาฬิกา พ้นเวลาปฏิบัติงานแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 1 มิได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ไปกระทำกิจการแทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 กระทำในเรื่องส่วนตัว จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดทั้งในฐานะนายจ้างและตัวการ ความเสียหายสำหรับโจทก์ที่ 1 มีไม่เกิน 1,700 บาท โจทก์ที่ 2 เสียหายไม่เกิน 300 บาทโจทก์ที่ 3 เสียหายไม่เกิน 1,500 บาท และโจทก์ที่ 4 เสียหายไม่เกิน1,500 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์ที่ 1เป็นจำนวนเงิน 334,151 บาท โจทก์ที่ 2 เป็นจำนวนเงิน 20,400 บาทโจทก์ที่ 3 เป็นจำนวนเงิน 16,800 บาท และโจทก์ที่ 4 เป็นจำนวนเงิน20,150 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ให้โจทก์แต่ละคนในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง(วันที่ 20 ธันวาคม 2528) ไปจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นเงิน 334,151 บาท 20,400 บาท 16,800 บาทและ 20,140 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ให้โจทก์แต่ละคนในต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันฟ้อง (วันที่20 ธันวาคม 2528) จนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์เสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 ได้รับจ้างออกแบบและควบคุมการก่อสร้างบ้านพักทหารผ่านศึกทุพพลภาพ (สวนอนันต์) โดยมีห้างหุ้นส่วนจำกัดพรไพบูลย์ก่อสร้างเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 เป็นช่างเทคนิคมีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างแทนจำเลยที่ 1 ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสี่มีเพียงว่า จำเลยที่ 2 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดในผลละเมิดกับจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ ตามรายงานการสอบสวนของพนักงานสอบสวน นายทรงศักดิ์ ตัณฑ์จยะ ผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัดพีเอสทีให้การว่า ได้ให้นายอาจินต์ ราโชกาญจน์ลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดพรไพบูลย์ก่อสร้างซึ่งเป็นหัวหน้าควบคุมการก่อสร้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดพรไพบูลย์ก่อสร้างนำรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 3บ-4210 กรุงเทพมหานคร ไปใช้ในงานก่อสร้างบ้านพักทหารผ่านศึกทุพพลภาพ (สวนอนันต์) นายนิรัตน์วนะภูติ ลูกจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดพรไพบูลย์ก่อสร้างให้การว่าวันเกิดเหตุเห็นจำเลยที่ 2 นำรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน3บ-4210 กรุงเทพมหานคร ไปใช้ในงานก่อสร้างตลอดทั้งวัน แต่อ้างว่าไม่ได้รับอนุญาตจากนายนิรัตน์ และนายพูน แสงวิมลเจ้าของร้านขายอาหารและเครื่องชำซึ่งมีร้านอยู่ใกล้กับหน่วยงานก่อสร้างให้การว่าจำเลยที่ 2 เคยไปรับประทานอาหารที่ร้านของนายพูนเป็นประจำ บางครั้งก็เห็นจำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันที่เกิดเหตุไปด้วย ตามบันทึกคำให้การของพยานทั้งหมดดังกล่าวได้ความว่ารถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 3บ-4210 กรุงเทพมหานครได้ใช้อยู่ในหน่วยงานก่อสร้างบ้านพักทหารผ่านศึกทุพพลภาพ(สวนอนันต์) โดยนายอาจินต์และจำเลยที่ 2 ได้ใช้ร่วมกัน และในวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ก็ใช้อยู่ตลอดทั้งวัน น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้รถยนต์คันที่เกิดเหตุในการปฏิบัติหน้าที่ในความรู้เห็นของจำเลยที่ 1 แล้ว ตามคำเบิกความของพันจ่าอากาศเอกลิขิต พัสดุ ซึ่งนั่งมาในรถยนต์อีกคันหนึ่งที่ขับตามหลังรถยนต์คันที่เกิดเหตุก็ได้ความว่าจุดเกิดเหตุห่างจากสถานที่ก่อสร้างเพียง30 เมตร หลังจากเวลาทำงานประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในระหว่างเวลาต่อเนื่องคาบเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ขับรถยนต์คันเกิดเหตุในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดต่อโจทก์ทั้งสี่
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้โจทก์ทั้งสี่ นอกจากที่แก้ให้ไปเป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share