คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ขณะที่จำเลยที่ 1 อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอก ช. นายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5)ฯ ใช้บังคับ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันในการอภิปรายของจำเลยที่ 1 มีกำหนดไว้ในมาตรา 131 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่าในที่ประชุมวุฒิสภาก็ดี ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ดี สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้ และวรรคสองของมาตรา 131 บัญญัติว่า เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภาและการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น ส่วนจำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 157 ซึ่งประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 หลังจากที่จำเลยที่ 1 อภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของจำเลยที่ 1 จึงต้องนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5)ฯ ในขณะที่จำเลยที่ 1 อภิปรายมาใช้บังคับ ไม่อาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาใช้บังคับย้อนหลังแก่กรณีของจำเลยที่ 1 ได้ และกรณีก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 131 ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 157 อันจะนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 157 มาใช้บังคับแก่กรณีของจำเลยที่ 1 แม้ระหว่างพิจารณาของศาลจะมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 ออกมาใช้บังคับแล้วก็ตาม คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่จำเลยที่ 1 อภิปรายนั้น มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 131 ไม่คุ้มครองจำเลยที่ 1 หากการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่จำเลยที่ 1 อภิปรายมีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงโทรทัศน์ ถ้อยคำดังกล่าวในที่ประชุมของจำเลยที่ 1 ไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภาและมีลักษณะที่อาจเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น จำเลยที่ 1 จึงไม่ได้รับเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5)ฯ มาตรา 131 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 2,562,000,000 บาท กับให้จำเลยทั้งสิบเจ็ดร่วมกันหรือแทนกันลงประกาศโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์รายวันกรุงเทพธุรกิจ เดอะเนชั่น ผู้จัดการ แนวหน้า ข่าวสด เดลินิวส์ ไทยรัฐ บ้านเมือง บางกอกโพสต์ ทุกฉบับ ฉบับละ 7 วัน
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 ให้การต่อสู้คดี ระหว่างสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 ลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ของตนแก้ไขข้อความและแก้ข่าวที่ผ่านมาให้ถูกต้องเพื่อให้ประชาชนเข้าใจว่าไม่เป็นดังที่จำเลยที่ 1 อภิปราย โจทก์จึงยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 ศาลชั้นต้นอนุญาตและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ถึงที่ 17 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 10,000,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ประกาศโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ผู้จัดการ เดลินิวส์ และไทยรัฐ ฉบับละ 7 วัน โดยให้จำเลยที่ 1 เสียค่าใช้จ่าย หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตาม ก็ให้โจทก์โฆษณาโดยคิดค่าใช้จ่ายจากจำเลยที่ 1 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2540 และวันที่ 1 กรกฎาคม 2540 พลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรี นายทนงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและนายเริงชัยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ร่วมปรึกษาหารือกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2540 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่รัฐสภา เป็นการอภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี คือพลเอกชวลิต และมีการถ่ายทอดไขข่าวแพร่หลายทั้งการกระจายเสียงทางสถานีวิทยุและแพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ จำเลยที่ 1 ซึ่งขณะนั้นเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ เป็นฝ่ายค้าน ส่วนโจทก์เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลของพลเอกชวลิต จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ให้อภิปรายญัตติไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท และระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา จำเลยที่ 1 อภิปรายว่า “การที่มีคนมีกำไรอย่างนี้นะครับทำให้ผมสงสัยว่ามีคนอื่นที่ได้กำไรไม่ใช่เพราะไม่เชื่อพลเอกชวลิต แต่เป็นพวกที่เชื่อพลเอกชวลิต แล้วได้กำไรมีไหม มีครับท่านประธาน เพราะเขาเชื่อว่าพลเอกชวลิตจะตัดสินใจลดค่าเงินบาทเมื่อไรคนนี้เอาเปรียบคนไทยทั้งชาติ คนนี้เอาข้อมูลภายในไปแสวงหาประโยชน์ มีข่าวลือกันมากในตลาดการเงินในประเทศไทยว่า ขาใหญ่ที่ร่ำรวยนั้น รวยถึงขนาดที่การันตีได้ว่าการเลือกตั้งคราวหน้าสบายกันทุกคน ท่านประธานที่เคารพครับ ผมสงสัยเรื่องนี้แล้วท่านประธานต้องเห็นใจอย่างยิ่งที่ผมมีความสงสัย เพราะพลเอกชวลิตแสดงพิรุธ พลเอกชวลิตแสดงพิรุธ 2 ประการ ประการที่ 1 พลเอกชวลิตแสดงพิรุธด้วยการมาพูดจาในที่สาธารณะต่อสื่อมวลชน ทั้งหนังสือพิมพ์ ทั้งทีวี ทั้งวิทยุ ว่าในการตัดสินใจครั้งสุดท้ายที่จะประกาศให้ค่าเงินบาทลอยตัวนั้น ทำอย่างเป็นความลับที่สุดรู้กัน 3 คน เท่านั้นเอง คือ พลเอกชวลิต นายทนงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเริงชัยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ตรงนี้เป็นพิรุธครับท่านประธาน ผลสอบสวนมีพยานหลักฐานยืนยันได้ ถ้าผลเอกชวลิตต้องการรู้ว่า ต้องการที่จะเถียงกับผม ผมท้าให้ฟ้องศาลเรื่องนี้เพราะผมมีหลักฐานพยานบุคคลยืนยันว่าวันที่ตัดสินใจเรื่องนี้ไม่ได้รู้กันแค่ 3 คน มีคนที่ 4 รู้ด้วย ท่านประธานที่เคารพครับ เข้าประตูทำเนียบนี่มียามรักษาการณ์ มีเจ้าหน้าที่ มีว่าวันนั้นเวลานั้นในห้องนายกรัฐมนตรีมีใครอยู่กี่คน ผมแอบได้ยินมาด้วย ว่าพูดอย่างไรด้วย มีคนเขาเล่าให้ผมฟัง เขาพร้อมที่จะเป็นพยานให้ผม คนที่ 4 ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่สมควรที่จะนั่งอยู่ในการตัดสินใจครั้งสุดท้าย ตามตำหนิรูปพรรณที่คนเขาให้การมา รวมทั้งแผลเป็นบอกว่าชื่อนายโภคินรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผมไม่เคยคิดว่า ในวันที่นายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจเรื่องสำคัญอย่างนี้จะต้องมีคนมานั่งใกล้ชิดกำกับอยู่ด้วย นายกรัฐมนตรีควรมีสติ มีปัญญาที่จะตัดสินวินิจฉัยได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องมีคนกำกับ ผมสงสัยว่านายโภคินไปนั่งอยู่ทำไมในเวลานั้น ไม่ใช่หน้าที่ของนายโภคิน ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะให้นายโภคินล่วงรู้ เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีตัดสินใจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตัดสินใจ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกันตัดสินใจเท่านั้น แต่เรื่องนี้แม้พลเอกชวลิตจะมาพูดกับคนทั้งชาติว่ารู้กัน 3 คน แต่ที่จริงรู้กัน 4 คน นายโภคินนั่งอยู่ด้วยตลอดในเวลา 1 ชั่วโมง ที่หารือกัน เรื่องนี้หารือกันวันที่เท่าไร ท่านประธานครับ วันที่ 29 มิถุนายนเป็นวันอาทิตย์ เวลา 9.30 นาฬิกา เป็นต้นไป ตรงนี้พลเอกชวลิตแสดงพิรุธอีกเพราะพลเอกชวลิตบอกกับสภานี้ว่าได้ตัดสินใจขั้นสุดท้ายที่จะประกาศที่จะให้ค่าเงินบาทลอยตัวเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมความตรงนี้มีนัยที่น่าสนใจมาก ท่านประธานครับพลเอกชวลิตคล้ายๆ จะบอกกับสภานี้ว่าตัดสินใจวันที่ 1 รุ่งขึ้นเช้าวันที่ 2 ประกาศเลย เหมือนกับเป็นการป้องกันตัวไว้ก่อนว่าไม่มีใครหยิบฉวยจังหวะตรงนี้ไปหาประโยชน์ได้หรอก ความจริงไม่ใช่ ไปปรึกษาการตัดสินใจครั้งสุดท้ายวันที่ 29 มิถุนายน เป็นวันอาทิตย์ 9.30 นาฬิกา ก่อนหน้านี้มีคนนั่งกันอยู่ในห้องหลายคนมีผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ มีสภาพัฒน์ฯ พอ 3 คน นี้เข้าไปก็ให้คนอื่นออกแต่เหลือนายโภคินเอาไว้ แล้วตัดสินใจเสร็จ จากวันที่ 29 ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ รุ่งขึ้นวันที่ 30 เป็นวันจันทร์ วันที่ 1 กรกฎาคม เป็นวันอังคาร พลเอกชวลิตมาพูดที่นี่ว่าวันที่ 1 เป็นวันหยุดกลางปีของธนาคาร ใครรู้อะไรก็ทำอะไรไม่ได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยหยุด ท่านประธานครับ ธนาคารฮ่องกง ธนาคารสิงคโปร์ไม่หยุด รู้ล่วงหน้า 2 วัน ทำเงินได้หลายพันล้านบาทครับ ถ้าคนนั้นมีเงินในระดับที่จะไปลงทุนได้ความ 2 ประการนี้เป็นพิรุธ พิรุธเรื่องที่บอกว่ารู้กัน 3 คน ทั้งๆ ที่รู้กัน 4 คน พิรุธเรื่องที่บอกว่าตัดสินวันที่ 1 ทั้งๆ ที่ตัดสินเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พิรุธนี้ทำให้ผมสงสัยว่าอย่างไร สงสัยว่าเอาเวลาช่วงที่ขาดไปนั้นไปให้พรรคพวกของตัวเองได้ไปซื้อเงินดอลลาร์ไว้ล่วงหน้า ไปซื้ออัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้าแล้วทำกำไร ท่านประธานที่เคารพครับวันนี้ผมยอมบาป คนที่ผมสงสัยมากที่สุดนั่งอยู่ตรงนั้นครับ ดอกเตอร์ทักษิณครับ ผู้ต้องสงสัยของผมท่านดอกเตอร์ทักษิณไม่ได้ทำบาปอะไรหรอกครับ ที่ผมสงสัยคือสงสัยว่า รัฐมนตรีโภคินจะเป็นคนบอกความลับเรื่องนี้กับดอกเตอร์ทักษิณ แล้วดอกเตอร์ทักษิณไปซื้อขายเงินไว้ล่วงหน้าทำกำไร ท่านประธานที่เคารพครับ ท่านได้กำไรไปเยอะในขณะที่คนในชาติน้ำตาไหลกันทุกคน ผลไม่แปลกใจว่าหลังจากนั้นไม่นาน ได้มาเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ก็เก่งขนาดทำเงินได้ 2 วัน 4,000,000,000 บาท ถึง 5,000,000,000 บาท ก็น่าจะให้เป็นหรอกครับท่านประธาน นี่เป็นข้อสงสัยของผม ผมคาดคะเนสงสัยด้วยเหตุผลแวดล้อมอย่างนี้ และผมมีประจักษ์พยานหลักฐานว่า หลังจากนายโภคินได้รับความลับเรื่องนี้ ได้มีการโทรศัพท์ติดต่อกับดอกเตอร์ทักษิณเสียอย่างเดียวว่าผมไม่มีหูทิพย์ว่าพูดกันอย่างไรเท่านั้นเองครับแต่ผมสงสัย และผมรู้ว่านายโภคินได้พูดความลับเรื่องนี้กับคนอื่นอีก ถ้านท่านรัฐมนตรีโภคินสงสัยฟ้องศาล จะได้รู้ว่าคนที่ท่านบอกนั้นจะเป็นพยานให้ท่านหรือจะเป็นพยานให้ผม การที่มีคนรู้ความลับและเอาความลับไปเปิดเผยแล้วไปหาประโยชน์กันมันผิดทั้งคุณธรรม ทั้งจรรยา ผมต้องเรียนกับท่านประธานตรงๆ นะครับ ผมไม่สามารถจะสงสัยคนอื่นที่เปิดเผยความลับได้หรอกนอกจากรัฐมนตรีโภคิน เพราะว่าคนแรกคือนายกรัฐมนตรี ผมเชื่อว่าด้วยศักดิ์ศรีของความเป็นนายกรัฐมนตรีคงไม่บอกด้วยปากตัวเอง คนที่ 2 คือ รัฐมนตรีฯ ทนงถึงจะเคยมีความสัมพันธ์กับดอกเตอร์ทักษิณมาก่อน ทำงานอยู่ด้วยกัน แต่ศักดิ์ศรีขุนคลังของประเทศคงไม่เปิดปาก คนที่ 3 คือ นายเริงชัยที่รู้เรื่องเขาเป็นลูกหม้อธนาคารแห่งประเทศไทยแบงก์ชาติ ผมว่าจิตวิญญาณเขาคงหนักแน่นไม่ทำอย่างนั้น คนที่ 4 ซึ่งไม่เกี่ยวกับเขาละสิครับไปนั่งอยู่ด้วยนี่สิครับไม่ให้ผมสงสัยได้อย่างไร นี่คือเหตุผลครับ ท่านประธานครับ…” วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงพาดหัวข่าวการอภิปรายของจำเลยที่ 1
คดีมีปัญญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ ขณะที่จำเลยที่ 1 อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น โจทก์อ้างว่าคำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์เสียหายเป็นการละเมิดต่อโจทก์ คำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมูลความรับผิดแห่งคดีนี้ จำเลยที่ 1 ได้อภิปรายเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2540 ขณะนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 ใช้บังคับ เอกสิทธิ์และความคุ้มกันในการอภิปรายของจำเลยที่ 1 มีกำหนดไว้ในมาตรา 131 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่า ในที่ประชุมวุฒิสภาก็ดี ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ดี ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาก็ดี สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดๆ ในทางแถลงข้อเท็จจริงหรือแสดงความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนนย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้ และวรรคสองของมาตรา 131 บัญญัติว่า เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภาและการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น ส่วนจำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 ได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 157 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่ประชุมวุฒิสภา หรือที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา สมาชิกผู้ใดจะกล่าวถ้อยคำใดในทางแถลงข้อเท็จจริงแสดงความคิดเห็น หรือออกเสียงลงคะแนน ย่อมเป็นเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องว่ากล่าวสมาชิกผู้นั้นในทางใดมิได้ และมาตรา 157 วรรคสอง บัญญัติว่า เอกสิทธิ์ตามวรรคหนึ่งไม่คุ้มครองสมาชิกผู้กล่าวถ้อยคำในการประชุมที่มีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ หากถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภา และการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่รัฐมนตรีหรือสมาชิกแห่งสภานั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540 หลังจากที่จำเลยที่ 1 อภิปรายไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรี เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของจำเลยที่ 1 จึงต้องนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 ในขณะที่จำเลยที่ 1 อภิปรายมาใช้บังคับ ไม่อาจนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาใช้บังคับย้อนหลังแก่กรณีของจำเลยที่ 1 ได้ และกรณีก็ไม่ใช่กฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 มาตรา 131 ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 157 อันจะนำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 157 มาใช้บังคับแก่กรณีของจำเลยที่ 1 แม้ระหว่างการพิจารณาของศาลจะมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ออกมาใช้บังคับแล้วก็ตาม คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าขณะที่จำเลยที่ 1 อภิปรายนั้นมีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 มาตรา 131 ไม่คุ้มครองจำเลยที่ 1 หากการกล่าวถ้อยคำนั้นมีลักษณะเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งต่อบุคคลอื่น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะที่จำเลยที่ 1 อภิปรายมีการถ่ายทอดทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ถ้อยคำที่กล่าวในที่ประชุมของจำเลยที่ 1 ไปปรากฏนอกบริเวณรัฐสภาและมีลักษณะที่อาจเป็นความผิดทางอาญาหรือละเมิดสิทธิในทางแพ่งพุทธศักราช 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พุทธศักราช 2538 มาตรา 131 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยในประการต่อไปว่า คำอภิปรายของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ โจทก์เบิกความว่า คำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ได้กล่าวพาดพิงถึงโจทก์ว่า โจทก์ทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 และโจทก์นำข้อมูลที่ทราบไปบอกดอกเตอร์ทักษิณทำให้ดอกเตอร์ทักษิณอาศัยข้อมูลที่ได้รับทราบจากโจทก์ไปทำการซื้อขายเงินตราในระยะเวลา 2 วัน ได้กำไร 4,000,000,000 บาท ถึง 5,000,000,000 บาท ทำให้ประชาชนน้ำตาไหล และพรรคพวกของโจทก์ได้ประโยชน์เป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมจรรยา โดยสรุปจำเลยที่ 1 กล่าวว่าโจทก์ร่วมกันหาประโยชน์กับดอกเตอร์ทักษิณเกี่ยวกับข้อมูลที่จะเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท ซึ่งเป็นการทำให้บ้านเมืองเสียหาย ต่อมาหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงพิมพ์โฆษณาพาดหัวข่าวและลงข้อความว่าโจทก์ทำกำไรเรื่องค่าเงินบาท ซึ่งเป็นการทำให้บ้านเมืองเสียหาย ต่อมาหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ลงพิมพ์โฆษณาพาดหัวข่าวและลงข้อความว่าโจทก์ทำกำไรเรื่องค่าเงินบาท ซึ่งข้อความที่จำเลยที่ 1 อภิปรายนั้นเป็นความเท็จ โจทก์ไม่ทราบว่าในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 จะมีการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โจทก์ไม่เคยติดต่อกับดอกเตอร์ทักษิณ ทั้งไม่เคยร่วมมือกับดอกเตอร์ทักษิณหรือบุคคลอื่นใดในการแสวงหาประโยชน์จากข้อมูลดังกล่าว คำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนจำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่าในการไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จำเลยที่ 1 ได้อภิปรายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลดค่าเงินบาท โดยก่อนวันที่อภิปรายได้มีสื่อมวลชนวิพากษ์วิจารณ์ในทำนองที่ว่า ความลับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลดค่าเงินบาทได้รั่วไหลไปสู่นักธุรกิจก่อนแล้ว พลเอกชวลิตได้ออกมายืนยันว่าเรื่องนี้ได้ทำเป็นความลับและมีผู้รู้เพียง 3 คน เท่านั้น คือ พลเอกชวลิต นายทนงซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเริงชัยซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เหตุที่จำเลยที่ 1 อภิปรายเกี่ยวกับโจทก์เนื่องจากได้รับทราบข้อมูลจากนายภูษณะและนายไพโรจน์ซึ่งเป็นเพื่อนของโจทก์ ทั้งได้ทราบจากนายเริงชัยด้วยว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 ไม่ได้มีบุคคลเพียง 3 คน ดังกล่าวข้างต้นแต่โจทก์ได้ร่วมประชุมด้วย ในการอภิปรายจำเลยที่ 1 ไม่เคยอภิปรายยืนยันว่าโจทก์ทุจริต จำเลยที่ 1 อภิปรายโดยตั้งข้อสงสัยในพฤติกรรมของโจทก์ว่า โจทก์จะนำความลับเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงลดค่าเงินบาทไปบอกดอกเตอร์ทักษิณ จำเลยที่ 1 อภิปรายในฐานะเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้าน มีหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เป็นการอภิปรายตามหน้าที่ และเป็นการติชมโดยสุจริต อันเป็นวิสัยของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เห็นว่า โจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์ไม่ทราบว่าจะเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โจทก์ไม่เคยบอกดอกเตอร์ทักษิณเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โจทก์ไม่เคยร่วมมือกับดอกเตอร์ทักษิณหรือบุคคลอื่นใดในการแสวงหาประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท การอภิปรายของจำเลยที่ 1 เป็นความเท็จทั้งหมดแต่กลับได้ความจากนายเริงชัยพยานโจทก์เองว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 พยานกับนายทนง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าพบพลเอกชวลิตนายรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อที่จะปรึกษาหารือเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท โจทก์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนั่งอยู่ด้วย นายทนงพูดขึ้นว่าที่มาพบก็เนื่องจากจะปรึกษาหารือเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาท พยานจึงพูดขึ้นว่าเรื่องนี้จะนำมาพูดในขณะนี้สมควรหรือไม่ เนื่องจากมีโจทก์อยู่ด้วย นายกรัฐมนตรีก็พูดขึ้นว่า ไม่เป็นไรให้โจทก์อยู่ด้วยได้ และรับทราบได้ ดังนั้น นายทนงซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงได้รายงานผลสรุปของคณะกรรมการที่ได้เสนอต่อพยาน โดยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นแบบลอยตัว นอกจากนี้นายทนง พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 เวลาประมาณ 8 นาฬิกา พยานได้ไปพบนายกรัฐมนตรีเพื่อร่วมปรึกษาหารือทางด้านเศรษฐกิจ นายเริงชัยได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีพร้อมกับพยาน และโจทก์ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งมีบางตอนที่นายกรัฐมนตรีถามที่ประชุมว่า หากประชาชนมีคำถามเกี่ยวกับนโยบายการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยน จะให้ตอบอย่างไร นายเริงชัยได้ให้คำแนะนำว่าให้นายกรัฐมนตรีปฏิเสธว่ายังไม่มีการดำเนินการอย่างใด ดังนี้ เห็นได้ว่า คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวข้างต้นแตกต่างขัดแย้งกับคำเบิกความของโจทก์โดยสิ้นเชิง พยานโจทก์ทั้งสองปากดังกล่าวเป็นประจักษ์พยานที่อยู่ในเหตุการณ์วันที่ 29 มิถุนายน 2540 และไม่มีส่วนได้เสียในคดี ทั้งเป็นพยานที่โจทก์อ้าง จึงเชื่อว่าพยานโจทก์ทั้งสองปากเบิกความไปตามความจริง ซึ่งสอดคล้องกับทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในวันที่ 29 มิถุนายน 2540 ขณะที่พลเอกชวลิต นายกรัฐมนตรี นายทนง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายเริงชัย ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมกันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท โจทก์ได้ร่วมประชุมอยู่ด้วย นอกจากนี้ นายเริงชัยยังเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 1 ถามค้านว่าตามประเพณีปฏิบัติเกี่ยวกับการลดค่าเงินบาทจะรู้กันเพียง 3 คน เท่านั้น คือ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรี เหตุที่เป็นความลับเนื่องจากว่าหากบุคคลภายนอกซึ่งไม่เกี่ยวข้องล่วงรู้จะนำไปหาประโยชน์โดยแสวงหากำไร พยานจึงท้วงติงนายกรัฐมนตรีว่าควรที่จะพูดเรื่องลดค่าเงินบาทในขณะนั้นหรือไม่เพราะมีโจทก์อยู่ด้วย เนื่องจากโจทก์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยน ดังนี้ จึงเห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรว่า โจทก์ซึ่งไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่สมควรจะไปนั่งอยู่ด้วยในการประชุมตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะให้ค่าเงินบาทลอยตัวนั้น ไม่ใช่ข้อความอันเป็นเท็จหรือฝ่าฝืนต่อความจริง ฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ต่างหากที่ฝ่าฝืนต่อความจริง ส่วนที่จำเลยที่ 1 อภิปรายต่อไปว่า จำเลยที่ 1 สงสัยว่าโจทก์เป็นคนบอกความลับเรื่องนี้แก่ดอกเตอร์ทักษิณนั้น ศาลฎีกาโดยมติของที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีสิทธิและหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลพลเอกชวลิตได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 มาตรา 148 ถึงมาตรา 150 ส่วนโจทก์ซึ่งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกชวลิตเป็นบุคคลที่ต้องรับการตรวจสอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบหมายจากพรรคประชาธิปัตย์ให้ร่วมอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรี ได้อภิปรายถึงการทำงานของพลเอกชวลิตว่ามีข้อบกพร่องและไม่ถูกต้องอย่างไรนั้น เป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 กำหนดไว้ และการกระทำของพลเอกชวลิตที่ยอมให้โจทก์ได้ร่วมรับรู้ถึงการปรึกษาหารือและตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท อันเป็นเรื่องความลับที่สุดซึ่งเกี่ยวกับประโยชน์และส่วนได้เสียของประเทศและประชาชนจำนวนมากเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2540 ก่อนวันประกาศเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ถึง 3 วัน ทั้งๆ ที่โจทก์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องหรือควรรับรู้ถึงการปรึกษาหารือและการตัดสินใจในครั้งนี้เลย และหลังจากนั้นยังยืนยันในที่สาธารณะต่อสื่อมวลชนมาโดยตลอดว่า มีผู้รู้ถึงการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเพียง 3 คน เท่านั้น คือ ตัวพลเอกชวลิต นายทนงและนายเริงชัย เป็นข้อพิรุธสำคัญ ประกอบกับพันตำรวจโททักษิณซึ่งเป็นเจ้าของธุรกิจการค้ารายใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบเสียหายรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทอย่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าใหญ่รายอื่นที่มีหนี้สินเป็นเงินตราต่างประเทศที่ต่างประสบความเสียหายอย่างรุนแรง ย่อมเป็นมูลเหตุเพียงพอที่จะทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายตั้งข้อสงสัยโจทก์ได้ จำเลยที่ 1 เพียงแต่ตั้งข้อสงสัยว่าโจทก์เป็นผู้นำเอาความลับที่สุดดังกล่าวที่รู้มาโดยไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องและไม่ควรจะรู้ไปบอกพันตำรวจโททักษิณ ไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงการตั้งข้อสงสัยดังกล่าวของจำเลยที่ 1 จึงมีมูลเหตุเพียงพอที่จะให้ตั้งข้อสงสัยเช่นนั้นได้ ไม่ได้ตั้งข้อสงสัยอย่างเลื่อนลอย อันจะทำให้เห็นเจตนาร้ายของจำเลยที่ 1 ที่จงใจฉวยโอกาสในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคฝ่ายค้านให้ร้ายโจทก์โดยปราศจากเหตุอันสมควร การอภิปรายของจำเลยที่ 1 ที่พาดพิงถึงโจทก์นั้นยังอยู่ในขอบเขตของการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายค้านในการตรวจสอบการทำงานของพลเอกชวลิตนายกรัฐมนตรีเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน อันเป็นวิสัยที่พึงกระทำ คำอภิปรายของจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นการกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกต่อไป”
พิพากษายืน

Share