แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ตั้งรูปคดีฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยนำสืบตามคำฟ้องให้เห็นว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์ซึ่งเป็นของ ช. วันเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของ ช. ซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ทำการซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเดิมและส่งมอบคืนให้แก่ ช. แล้ว ต่อมาจำเลยได้ตกลงระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญา ดังนี้ เห็นได้ว่าสภาพแห่งข้อหาตามฟ้องของโจทก์คือจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้กับโจทก์ ไม่ได้ฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยในฐานที่โจทก์รับช่วงสิทธิจาก ช. ผู้เอาประกันภัยในมูลหนี้ละเมิดส่วนที่โจทก์กล่าวในฟ้องบรรยายให้เห็นว่าจำเลยทำละเมิดขับรถยนต์ชนรถยนต์ของ ช. คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายก็เป็นเพียงเท้าความอ้างถึงที่มาว่าเหตุใดโจทก์และจำเลยจึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ ช. ผู้เอาประกันภัยไปแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของ ช. ผู้เอาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง โจทก็ย่อมมีสิทธิทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยได้ สัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาและทำให้มูลหนี้ละเมิดเดิมเป็นอันระงับสิ้นไป เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยทำละเมิดขับรถเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยและโจทก์นำรถยนต์ซ่อมแซมโดยชำระค่าซ่อมรถยนต์ไปแล้วหรือไม่ เพียงใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิตามกฎหมายไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น เป็นการไม่ชอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก็เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บฉ5530กำแพงเพชรไว้จากนายชาญชัยผู้เอาประกันภัย ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2545 ถึงวันที่ 7 มีนาคม 2546 เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2545 จำเลยกระทำละเมิดขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 8 ป – 3828 กรุงเทพมหานครชนรถยนต์ของนายชาญชัยคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหาย โจทก์ซ่อมให้อยู่ในสภาพดีเช่นเดิมและส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวคืนให้แก่นายชาญชัยแล้ว โจทก์จึงรับช่วงสิทธิตามกฎหมายในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยชดใช้เงินจำนวนดังกล่าว ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2545 จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์เพื่อตกลงระงับข้อพิพาทในกรณีละเมิดที่จำเลยขับรถยนต์ชนรถยนต์ของนายชาญชัย โดยจำเลยยอมรับว่าเกิดจากความประมาทของจำเลยฝ่ายเดียว และยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 13,159 บาท โดยตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนเดือนละ 2,500 บาท เริ่มชำระวันที่ 31 ตุลาคม 2545 และชำระทุกวันที่ 31 ของเดือนต่อไปจนกว่าจะครบ ต่อมาจำเลยชำระเงินให้โจทก์เพียง 5,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือจำนวน 8,159 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 11,263 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 8,159 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ตั้งรูปคดีฟ้องบังคับให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยนำสืบตามคำฟ้องให้เห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บฉ 5530 กำแพงเพชร ซึ่งเป็นของนายชาญชัยวันเกิดเหตุจำเลยขับรถยนต์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของนายชาญชัยซึ่งเอาประกันภัยไว้กับโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ทำการซ่อมรถยนต์คันดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเดิมและส่งมอบคืนให้แก่นายชาญชัยแล้ว ต่อมาจำเลยได้ตกลงระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตามสัญญา ดังนี้ เห็นได้ว่าสภาพแห่งข้อหาตามฟ้องของโจทก์คือจำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำไว้กับโจทก์ ไม่ได้ฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยในฐานที่โจทก์รับช่วงสิทธิจากนายชาญชัยผู้เอาประกันภัยในมูลหนี้ละเมิด ส่วนที่โจทก์กล่าวในฟ้องบรรยายให้เห็นว่า จำเลยทำละเมิดขับรถยนต์ชนรถยนต์ของนายชาญชัยคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายก็เป็นเพียงเท้าความอ้างถึงที่มาว่าเหตุใดโจทก์และจำเลยจึงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน เมื่อจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายชาญชัยผู้เอาประกันภัยไปแล้วย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของนายชาญชัยผู้เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยได้ สัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาและทำให้มูลหนี้ละเมิดเดิมเป็นอันระงับสิ้นไป เมื่อจำเลยผิดนัดไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยทำละเมิดขับรถเฉี่ยวชนรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยและโจทก์นำรถยนต์ซ่อมแซมโดยชำระค่าซ่อมรถยนต์ไปแล้วหรือไม่ เพียงใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิตามกฎหมาย ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย แต่คดียังมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เพียงใด ซึ่งศาลชั้นต้นยังไม่ได้วินิจฉัย และเป็นปัญหาข้อเท็จจริง มิใช่ข้อกฎหมายที่ขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาโดยตรง อีกทั้งการพิจารณาถึงสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาปัญหาดังกล่าวต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 และมาตรา 249 ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาในคดีให้สิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) (2) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่ยังไม่ได้วินิจฉัยแล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี