คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5696/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่านิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 ขัดต่อ พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 54 และมาตรา 88 ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เป็นอันเสียเปล่าไม่มีผล ผู้ร้องจึงขอให้ศาลเพิกถอนรายการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินพิพาท ดังนี้ จึงหาใช่การขอให้เพิกถอนนิติกรรมการฉ้อฉล ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่ แต่เป็นการที่ผู้ร้องซึ่งมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนซึ่งทรัพย์สินของลูกหนี้จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ
ลูกหนี้เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย จึงต้องอยู่ใต้การควบคุมของนายทะเบียนตาม พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 หมวด 2 การควบคุมบริษัท มาตรา 52 วรรคหนึ่ง (เดิม) และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง หากบริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 52 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษตามมาตรา 88 (เดิม) บทบัญญัติดังกล่าวจึงมุ่งหมายที่จะคุ้มครองการประกอบธุรกิจประกันภัยซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศและต่อผู้เอาประกันซึ่งเป็นผู้บริโภค ผู้ฝ่าฝืนย่อมเป็นความผิดทางอาญา จึงเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดน้อยลง เข้าลักษณะจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินต้องห้ามชัดแจ้งโดย พ.ร.บ.ประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ทั้งนี้ไม่ว่าคู่กรณีจะรู้หรือไม่ก็ตามว่านิติกรรมนั้นมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายอันตกเป็นโมฆะ แม้จะมีการทำนิติกรรมนั้นโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนโดยสุจริตก็ตาม ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ไม่อาจยกความสุจริตขึ้นอ้างเพื่อให้มีผลล้มล้างบทกฎหมายได้ การจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่เริ่มแรก ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่อาจจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทต่อไปให้ผู้คัดค้านที่ 2 ได้ แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะรับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนโดยสุจริตก็ไม่มีสิทธิดีไปกว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้โอน ผู้ร้องชอบที่จะขอให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนที่ดินพิพาทกลับเป็นชื่อลูกหนี้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ดังเดิมได้
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกที่ตกเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนกลับมาเป็นชื่อลูกหนี้ตามเดิม ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลล้มละลายกลางเรื่องดังกล่าว จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ. ประกอบด้วย พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 วรรคท้าย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย จำกัด ลูกหนี้เด็ดขาด เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และมีคำพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลายเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2554
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่า นิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 49824 ตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 1177 เพื่อชำระหนี้ค่าซ่อมรถยนต์ระหว่างลูกหนี้ผู้โอนกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับโอนและนิติกรรมที่กระทำภายหลัง (หากมี) ถือว่าเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมโดยให้ผู้คัดค้านที่ 1 ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนโดยเพิกถอนสารบัญการจดทะเบียน หากเพิกเฉยให้ถือเอาคำสั่งของศาลเป็นการแสดงเจตนา ในกรณีไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชดใช้ราคาแทนเป็นเงิน 1,700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งจนกว่าจะชำระเสร็จแก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างการพิจารณา ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เรียกผู้คัดค้านที่ 2 เข้าเป็นคู่ความร่วมกับผู้คัดค้านที่ 1 ศาลล้มละลายกลางอนุญาต
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนโอนชำระหนี้เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 และรายการจดทะเบียนระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับที่ 2 เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 ในสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินเลขที่ 49824 ตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 1177 ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ลูกหนี้ประกอบธุรกิจรับประกันวินาศภัย เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 กรมการประกันภัยมีคำสั่งนายทะเบียน ที่ 12/2550 เรื่อง ให้ลูกหนี้หยุดการรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 และมีประกาศนายทะเบียน เรื่อง กำหนดการจ่ายเงินอื่นของลูกหนี้ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้ลูกหนี้หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 54 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 โดยห้ามมิให้กรรมการ พนักงานและลูกจ้างของลูกหนี้สั่งจ่ายเงินของลูกหนี้ หรือทำการเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของลูกหนี้ตามปกติ คำสั่งและประกาศดังกล่าวใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยลงโฆษณาในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2550 รวม 2 ฉบับ ทั้งนี้ กรมการประกันภัยมีหนังสือแจ้งคำสั่งและประกาศดังกล่าวให้ลูกหนี้ทราบแล้วเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2550 ตามสำเนาหนังสือ ต่อมาวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ลูกหนี้โอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 49824 ตำบลหนองจะบก อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างเลขที่ 1177 ของลูกหนี้ตีใช้หนี้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นการชำระหนี้ค่าซ่อมรถยนต์เป็นเงิน 1,700,000 บาท ตามสำเนาโฉนดที่ดิน สำเนาบันทึกข้อตกลงเรื่องโอนชำระหนี้และสำเนาบันทึกการประเมินราคาทรัพย์สินเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2555 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ตามสำเนาโฉนดที่ดิน สำเนาหนังสือสัญญาขายที่ดิน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า คำร้องของผู้ร้องขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า คำร้องของผู้ร้องเป็นการกล่าวอ้างว่านิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 ขัดต่อพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 54 และมาตรา 88 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 เป็นอันเสียเปล่าไม่มีผล ผู้ร้องจึงขอให้ศาลเพิกถอนรายการจดทะเบียนในโฉนดที่ดินพิพาท ดังนี้ จึงหาใช่การขอให้เพิกถอนนิติกรรมการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 ไม่ แต่เป็นการที่ผู้ร้องซึ่งมีอำนาจจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 22 ใช้สิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของลูกหนี้จากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสองว่า การที่ลูกหนี้โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 หรือไม่ เห็นว่า ลูกหนี้เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย จึงต้องอยู่ใต้การควบคุมของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 หมวด 2 การควบคุมบริษัท ซึ่งตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง (เดิม) บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัทใดมีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้บริษัทนั้นแก้ไขฐานะหรือการดำเนินการดังกล่าวได้ภายในระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด ในการนี้จะสั่งให้เพิ่มทุนหรือลดทุน หรือจะสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวด้วยก็ได้” และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 52 ห้ามมิให้กรรมการ พนักงานและลูกจ้างของบริษัทจ่ายเงินของบริษัทหรือทำการเคลื่อนย้ายหรือจำหน่ายทรัพย์สินของบริษัท เว้นแต่เป็นการจ่ายเงินเดือนหรือค่าจ้างแก่พนักงานหรือลูกจ้างของบริษัทตามปกติ สำหรับการจ่ายเงินอื่นให้เป็นไปตามที่นายทะเบียนกำหนด” ซึ่งมาตรา 88 (เดิม) บัญญัติว่า “บริษัทใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม…มาตรา 52 …มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท และถ้าเป็นกรณีการกระทำความผิดต่อเนื่อง ให้ปรับอีกไม่เกินวันละสองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่” บทบัญญัติดังกล่าวจึงมุ่งหมายที่จะคุ้มครองการประกอบธุรกิจประกันภัยซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศและต่อผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้บริโภค หากผู้ใดฝ่าฝืนย่อมเป็นความผิดในทางอาญา จึงเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อลูกหนี้ทราบคำสั่งและระเบียบของอธิบดีกรมการประกันภัยซึ่งเป็นนายทะเบียนตามนิยาม มาตรา 4 (เดิม) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น ลูกหนี้ย่อมมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม การที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดน้อยถอยลง เข้าลักษณะจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทตีใช้หนี้ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินอันเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 ทั้งนี้ ไม่ว่าคู่กรณีจะรู้หรือไม่ก็ตามว่านิติกรรมนั้นมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามตามกฎหมายอันตกเป็นโมฆะ แม้จะมีการทำนิติกรรมนั้นโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน และจดทะเบียนโดยสุจริตก็ตาม ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ไม่อาจยกความสุจริตขึ้นอ้างเพื่อมีผลเป็นการลบล้างบทกฎหมายดังกล่าวได้ ส่วนการกระทำของผู้ฝ่าฝืนจะเป็นความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง และมาตรา 88 หรือไม่ เป็นอีกกรณีหนึ่ง การจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นโมฆะเสียเปล่ามาแต่เริ่มแรกไม่มีผลใด ๆ ที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่อาจจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทต่อไปให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้ แม้ผู้คัดค้านที่ 2 จะรับโอนที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริต เสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริตก็ไม่มีสิทธิดีไปกว่าผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้โอน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสองที่อ้างความสุจริตจึงไม่อาจรับฟังได้ เมื่อนิติกรรมระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 1 และระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับโดยไม่จำต้องเพิกถอน เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ชอบที่จะขอให้เพิกถอนเพียงรายการจดทะเบียนที่ดินพิพาทกลับเป็นชื่อลูกหนี้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ดังเดิมได้ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสองล้วนฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องว่า นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาท ระหว่างลูกหนี้กับบุคคลภายนอกที่ตกเป็นโมฆะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนกลับมาเป็นชื่อลูกหนี้ตามเดิม ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์คำสั่งศาลล้มละลายกลางในเรื่องดังกล่าว จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพียง 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 179 วรรคท้าย ที่ผู้คัดค้านทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นนี้เพิ่มคนละ 34,000 บาท อย่างคดีมีทุนทรัพย์ตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง จึงเป็นการเสียเกินมา ศาลฎีกาชอบที่จะสั่งคืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมา 34,000 บาท แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นนี้ส่วนที่เสียเกินมาคนละ 34,000 บาท ให้แก่ผู้คัดค้านทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมอื่นในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share