คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3698/2545

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 728 บัญญัติว่า “เมื่อจะบังคับจำนองนั้น ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้น…” และมาตรา 798 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแต่งตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย” บทบัญญัติมาตรา 728 มิได้บัญญัติว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือ กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 798 วรรคหนึ่งดังกล่าว
โจทก์มอบหมายให้ อ. บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือ อ. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้รับแล้วไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของ อ. ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของ อ. ซึ่งเป็นตัวแทนที่บอกกล่าวบังคับจำนองแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 ดังนั้น เมื่อ อ. ตัวแทนโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ 1 ผู้จำนองย่อมถือได้ว่าโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังผู้จำนองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 728 แล้ว
หนังสือสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่แก่โจทก์ มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 อันเกิดจากนิติกรรมใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไว้แล้วในขณะทำสัญญาค้ำประกันนี้ และหนี้เกิดจากนิติกรรมใด ๆ ต่อไปในภายหน้าด้วย การฟ้องร้องจำเลยที่ 2 กับที่ 4 ให้รับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน เป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดงตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 94 เมื่อโจทก์อ้างส่งหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นพยานเอกสารโดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 มิได้มีพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบ ศาลย่อมไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นแตกต่างจากข้อความในหนังสือสัญญาค้ำประกันได้
การที่โจทก์มาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท ซึ่งเป็นสัญญาที่ไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของจำเลยที่ 1 เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยที่ 1 ซึ่งมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 193/34 (7)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้เงินจำนวน ๒๕,๙๑๒,๓๐๘.๒๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๔.๗๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๑๘,๘๕๙,๗๕๐.๒๙ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ ให้บังคับจากทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน ๒๕,๙๑๒,๓๐๘.๒๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๔.๗๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๑๘,๘๕๙,๗๕๐.๒๙ บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๒) จนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ในหนี้ต้นเงินในมูลหนี้ทั้งหมดรวมแล้วไม่เกินจำนวน ๑๒๖,๐๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ. ๗๓ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระ ให้บังคับจากทรัพย์จำนองคือที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๑๒๗๗ เลขที่ดิน ๑๒๕ ตำบลหนองอ้อ อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ ๑ และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๖๐,๐๐๐ บาท
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ว่า โจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒๘ บังคับว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือ และมาตรา ๗๙๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้น ก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย” ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์มิได้มีหนังสือมอบอำนาจให้นายเอกวิช รัตนเสาวภาคย์ บอกกล่าวบังคับจำนองแทน การที่นายเอกวิชทำหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ ๑ จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการฟ้องคดีของโจทก์ไม่ถือเป็นการให้สัตยาบัน ทั้งกำหนดชำระหนี้ตามหนังสือบอกกล่าวที่ให้เวลาเพียง ๑๕ วัน ไม่ใช่ระยะเวลาอันสมควรนั้น พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๒๘ บัญญัติว่า “เมื่อจะบังคับจำนองนั้นผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้น…” และมาตรา ๗๙๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “กิจการอันใดท่านบังคับไว้โดยกฎหมายว่าต้องทำเป็นหนังสือ การแต่งตั้งตัวแทนเพื่อกิจการอันนั้นก็ต้องทำเป็นหนังสือด้วย” เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา ๗๒๘ มิได้บัญญัติว่าการบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือ กรณีจึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา ๗๙๘ วรรคหนึ่ง ดังกล่าว คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์มอบให้นายเอกวิช พนักงานธนาคารโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ ๑ โดยไม่ได้ทำเป็นหนังสือ แต่เมื่อนายเอกวิชมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ได้รับแล้วไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงนำคดีมาฟ้อง แสดงว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของนายเอกวิช ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้ให้สัตยาบันแก่การกระทำของนายเอกวิชซึ่งเป็นตัวแทนที่บอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๒๓ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายเอกวิชพนักงานธนาคารโจทก์เป็นตัวแทนของโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยที่ ๑ ผู้จำนอง ก็ย่อมถือได้ว่าโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังผู้จำนองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๗๒๘ แล้ว สำหรับกำหนดเวลาให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ภายใน ๑๕ วัน ตามจดหมายบอกกล่าวนั้น เห็นว่า จำเลยที่ ๑ ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับและไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์เลยนับแต่วันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญาฉบับสุดท้ายถึงวันที่โจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นเวลาเกินกว่า ๑ ปี แล้ว และหลังจากโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนอง ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้รับเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๔๑ ตามใบไปรษณีย์ตอบรับ แต่โจทก์ก็มิได้ดำเนินการฟ้องร้องจำเลยทั้งสี่ในทันทีเมื่อพ้นกำหนด ๑๕ วัน ตามจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๔๒ แสดงว่าโจทก์ไม่ได้ถือกำหนดเวลา ๑๕ วัน ตามจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นสาระสำคัญ ถือไม่ได้ว่าจดหมายบอกกล่าวมิได้กำหนดเวลาให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควร การที่โจทก์มีจดหมายถึงจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวจึงเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับซึ่งต้องรับผิดตามคำฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ อุทธรณ์ว่า สัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ตกลงค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ ๑ ที่ได้ทำในวันเดียวกันเท่านั้น หนี้ตามคำฟ้องเกิดขึ้นภายหลัง จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่า หนังสือสัญญาค้ำประกันซึ่งจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ ๑ ที่มีอยู่แก่โจทก์ ในข้อ ๑ มีข้อความระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ อันเกิดจากนิติกรรมใด ๆ ที่จำเลยที่ ๑ ได้กระทำไว้แล้วในขณะทำสัญญาค้ำประกันนี้ และหนี้เกิดจากนิติกรรมใด ๆ ต่อไปในภายหน้าด้วย การฟ้องร้องจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ให้รับผิดตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๒๖ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ เมื่อโจทก์อ้างส่งหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นพยานเอกสาร การที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ อุทธรณ์ว่ามีข้อความเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นว่า จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ มิได้ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ มิได้มีพยานหลักฐานใด ๆ มาสืบ ศาลย่อมไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นแตกต่างจากข้อความในหนังสือสัญญาค้ำประกัน ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ ๑ ตามคำฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ต่อไปว่า สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ว่าพฤติการณ์ของโจทก์เป็นการประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่น หรือรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับในการนั้น รวมทั้งเงินที่ได้ทดรองออกไป มีกำหนดอายุความ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๔ (๗) โจทก์นำสิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทฉบับที่ ๑ ถึงที่ ๘ มาฟ้องเกินกว่า ๒ ปี แล้ว จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า กรณีตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่จำเลยที่ ๑ สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ และขอให้โจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตโดยจ่ายเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายในต่างประเทศแทนจำเลยที่ ๑ ไปก่อน เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว จำเลยที่ ๑ จะนำเงินค่าสินค้าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ มาชำระให้แก่โจทก์ และรับเอาสินค้าไป แต่เมื่อสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว จำเลยที่ ๑ ยังไม่มีเงินชำระค่าสินค้าและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ให้แก่โจทก์ แต่ประสงค์จะขอรับสินค้าออกไปก่อน จึงมาขอทำสัญญาทรัสต์รีซีทกับโจทก์โดยขอรับเอกสารนำไปรับสินค้าออกไปก่อนแล้วจะจ่ายเงินค่าสินค้า ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ การที่โจทก์มาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้งสิบสองฉบับ ซึ่งจำเลยที่ ๑ ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จึงเป็นการฟ้องเรียกร้องให้ชำระหนี้ตามมูลหนี้อันเกิดแต่สัญญาทรัสต์รีซีท ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐ ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของจำเลยที่ ๑ เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายแทนจำเลยที่ ๑ ดังที่จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ยังไม่ขาดอายุความนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสี่ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีท.

Share