คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1582/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

นิ้วมือแต่ละนิ้วต่างเป็นองคาพยพของร่างกาย แยกเป็นอิสระจากกัน และมีสมรรถภาพในการใช้งานแตกต่างกัน การที่ลูกจ้างประสบอันตรายได้รับบาดเจ็บที่กระดูกนิ้วมือข้างขวาทั้งห้านิ้ว จึงเป็นกรณีบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2(พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ข้อ 2(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายประเสริฐ มาลัยรักษ์ เป็นลูกจ้างของโจทก์สังกัดฝ่ายผลิตหนังเทียม ทำหน้าที่ประจำเครื่องอัดลายซึ่งต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2542 ระหว่างปฏิบัติงานนายประเสริฐประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานโดยถูกลูกกลิ้งอัดลายทับมือขวาได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง แพทย์วินิจฉัยว่ากระดูกเอ็น และเส้นเลือดขาดหลายแห่ง กระจัดกระจายไม่อยู่ในตำแหน่งต้องผ่าตัดแก้ไขภายหลังจากแพทย์ผ่าตัดรักษาแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ปรากฏว่านิ้วชี้นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อยไม่มีเลือดมาหล่อเลี้ยงทำให้เซลล์บริเวณนิ้วมือตาย แพทย์ต้องตัดนิ้วมือดังกล่าวออก ต่อมาอีกประมาณ 1 สัปดาห์ เซลล์บริเวณฝ่ามือตายอีกแพทย์ต้องตัดเนื้อบริเวณหน้าขามาแปะเพื่อปลูกเนื้อใหม่บริเวณฝ่ามือทำให้เนื้อบริเวณหน้าขาที่ถูกตัดเกิดอักเสบมาก นายประเสริฐไม่สามารถลุกจากเตียงเพื่อช่วยเหลือตนเองได้ ต้องใช้เวลารักษาประมาณ 1 สัปดาห์ จึงทุเลา รวมค่ารักษาพยาบาลทั้งสิ้น117,476 บาท โจทก์ได้สำรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามความจำเป็น35,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลตามความจำเป็นเพิ่มอีก 50,000บาท ให้แก่โรงพยาบาล การประสบอันตรายของนายประเสริฐดังกล่าวมีลักษณะบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไข และต้องผ่าตัดต่ออวัยวะโดยใช้วิธีจุลศัลยกรรม แต่เมื่อโจทก์ขอเบิกเงินค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกิน 35,000 บาท ต่อจำเลยจำเลยกลับวินิจฉัยว่าการประสบอันตรายของนายประเสริฐไม่เข้าข่ายการพิจารณาค่ารักษาพยาบาลเกิน 35,000 บาท เนื่องจากเป็นการบาดเจ็บของมือข้างเดียวและไม่มีการทำจุลศัลยกรรม โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน คณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนพิจารณาแล้วมีมติว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลเกินกว่า35,000 บาท ได้เนื่องจากเป็นการบาดเจ็บของอวัยวะเพียงแห่งเดียวและการรักษาไม่ได้ใช้วิธีจุลศัลยกรรม ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ มติและคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ข้อ 2(2) ที่ใช้ถ้อยคำว่าบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่ง มิได้ใช้คำว่าอวัยวะหลายแห่ง ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินจำนวน 50,000 บาท ที่ได้จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้แก่โรงพยาบาลโสธราเวชนอกเหนือค่ารักษาพยาบาลตามความจำเป็นจำนวน 35,000 บาท จากจำเลยแต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยตามหนังสือที่ ฉช 0030/5170 กับมติของคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามหนังสือที่ รส 0711/6686 และให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์ได้จ่ายไปเป็นเงิน 50,000 บาท ให้แก่โจทก์

จำเลยให้การว่า นายประเสริฐ มาลัยรักษ์ ได้รับบาดเจ็บที่มือข้างขวาเพียงข้างเดียว แพทย์วินิจฉัยว่ากระดูกมือขวาหักและข้อหลุด ให้การรักษาด้วยการผ่าตัดใส่ K- WIRE ต่อมาต้องผ่าตัดนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อยออกถึงโคนนิ้ว กรณีดังกล่าวไม่ใช่การบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่ง ไม่มีการผ่าตัดต่อเส้นเลือดและเส้นเอ็นหลายแห่งตามฟ้องโจทก์ อีกทั้งการผ่าตัดรักษาตามฟ้องโจทก์ก็ไม่ใช่การรักษาพยาบาลโดยใช้วิธีจุลศัลยกรรมจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติเงินทดแทนพ.ศ. 2537 ข้อ 2 โจทก์ไม่มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลเกินกว่า 35,000 บาท ได้คำวินิจฉัยของจำเลยและมติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2542ระหว่างปฏิบัติหน้าที่นายประเสริฐ มาลัยรักษ์ ลูกจ้างโจทก์ซึ่งทำหน้าที่ประจำเครื่องอัดลายหนังเทียมประสบอันตรายเนื่องจากการทำงาน โดยถูกลูกกลิ้งอัดลายทับมือขวาได้รับบาดเจ็บมีแผลเปิดผิวหนังถลกขึ้นมาสูญเสียผิวหนังรอบนิ้ว นิ้วหัวแม่มือขาดระดับข้อปลายนิ้ว กระดูกโคนนิ้วชี้หัก ข้อโคนนิ้วเคลื่อน ละมีแผลเปิดบริเวณโคนนิ้ว ข้อโคนนิ้วกลางเคลื่อนข้อกลางของนิ้วนางและนิ้วก้อยเคลื่อนและมีแผลเปิด แพทย์ต้องรักษาโดยการผ่าตัดล้างแผลจัดชิ้นกระดูกที่หักให้เข้าที่ ใส่โลหะดามกระดูกภายในและใส่เฝือกปูนแต่มือขวาของนายประเสริฐเน่าตาย วันที่ 16 มีนาคม2542 แพทย์ต้องผ่าตัดเอาเนื้อที่ตายออกและตัดนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนางและนิ้วก้อยออกระดับข้อโคนนิ้ว ปรากฏว่าแผลบริเวณรอยตัดนิ้วมีเนื้อขึ้นเต็ม วันที่ 25 มีนาคม 2542 แพทย์จึงผ่าตัดปลูกผิวหนังบริเวณรอยแผล แล้ววินิจฉัยว่า การผ่าตัดรักษามือขวาของนายประเสริฐดังกล่าวไม่ได้ใช้วิธีจุลศัลยกรรม แต่การประสบอันตรายของนายประเสริฐเป็นการบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ข้อ 2(2) โจทก์ซึ่งจ่ายค่ารักษาพยาบาลนายประเสริฐเท่าที่จ่ายจริงตามความจำเป็นจึงมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาลที่เกินจำนวน35,000 บาท เพิ่มอีกได้ไม่เกิน 50,000 บาท แต่ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์และอัตราตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2539) ข้อ 3 พิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยตามหนังสือที่ ฉช 0030/5170 และมติคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทนตามหนังสือที่ รส 0711/6686 ให้จำเลยจ่ายค่ารักษาพยาบาลส่วนที่เกิน 35,000 บาท เพิ่มอีก 50,000 บาท แต่ต้องไม่เกินค่ารักษาพยาบาลเท่าที่โจทก์จ่ายเพิ่มจริงตามความจำเป็นให้แก่โจทก์ทั้งนี้ให้จ่ายตามหลักเกณฑ์และอัตราตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ข้อ 3 ด้วย

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่านายประเสริฐได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงเฉพาะที่มือขวาเพียงข้างเดียว แม้นิ้วหัวแม่มือจะขาดระดับข้อปลายนิ้ว กระดูกข้อโคนนิ้วชี้หักและข้อโคนนิ้วเคลื่อน ข้อโคนนิ้วกลางเคลื่อน ข้อกลางนิ้วนางและนิ้วก้อยเคลื่อน แต่นิ้วมือดังกล่าวก็ทำหน้าที่ช่วยมือข้างขวาในการหยิบจับ กำ หรือบีบ นิ้วมือห้านิ้วต้องทำงานร่วมกันนายประเสริฐจึงมิได้บาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัย เห็นว่า นิ้วมือแต่ละนิ้วต่างเป็นองคาพยพของร่างกาย แยกเป็นอิสระจากกัน และมีสมรรถภาพในการใช้งานแตกต่างกันเป็นต้นว่าการหยิบจับจะต้องใช้นิ้วหัวแม่มือเป็นหลักประกอบกับนิ้วอื่นมิฉะนั้นจะไม่สามารถหยิบจับได้อย่างมั่นคง กฎหมายจึงได้กำหนดความสำคัญของนิ้วมือแต่ละนิ้วไว้ลดหลั่นกัน เริ่มตั้งแต่นิ้วหัวแม่มือไปจนถึงนิ้วก้อย ดังจะเห็นได้จากประกาศกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เรื่อง กำหนดระยะเวลาการจ่ายค่าทดแทนและหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าจ้างรายเดือน ลงวันที่ 12 กันยายน 2537 ออกตามความในมาตรา 6 และมาตรา 18(2)(3) วรรคสามและวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 และข้อ 3 ที่กำหนดให้นายจ้างจ่ายค่าทดแทนเป็นรายเดือนให้แก่ลูกจ้างที่ประสบอันตรายสูญเสียนิ้วหัวแม่มือ นิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง และนิ้วก้อยไว้มากน้อยกว่ากันเรียงเป็นลำดับจากนิ้วหัวแม่มือไปหานิ้วก้อย ทั้งกรณีสูญเสียนิ้วมือทั้งนิ้วและบางส่วน การที่นายประเสริฐประสบอันตรายได้รับบาดเจ็บที่กระดูกนิ้วมือข้างขวาทั้งห้านิ้วจึงเป็นกรณีบาดเจ็บอย่างรุนแรงของกระดูกหลายแห่งและต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขตามกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2539) ออกตามความในพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ข้อ 2(2) ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชอบแล้ว อุทธรณ์จำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share