คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5677/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อระเบียบของนายจ้างมีข้อจำกัดวงเงินค่ารักษาพยาบาลและ ระบุ ชื่อโรงพยาบาลที่ลูกจ้างและครอบครัวจะไปรักษาไว้ การที่ลูกจ้างป่วย โดยมิได้เกิดจากประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้าง จึงยกบทคำนิยามของค่ารักษาพยาบาลตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มาปรับแก่กรณีหาได้ไม่ แต่ต้องพิจารณา จากระเบียบเกี่ยวกับสวัสดิการของนายจ้างและเมื่อระเบียบไม่มีบทนิยาม คำว่าค่ารักษาพยาบาลไว้ จึงต้องแปลคำว่าค่ารักษาพยาบาล ตามความเข้าใจของคนทั่วไปว่า หมายถึงค่าบำบัดโรคโดยตรงเท่านั้น ดังนี้ ค่ารถพยาบาลซึ่งระเบียบมิได้กำหนดให้เบิกได้จึงมิใช่ค่าบำบัดโรค อันลูกจ้างจะมีสิทธิเรียกร้องได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย โจทก์ป่วยเป็นโรคท้องร่วงอย่างรุนแรงจึงเรียกรถพยาบาลมารับโจทก์ไปรักษา โจทก์ขอเบิกเงินค่ารถพยาบาลจากจำเลย จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่ารถพยาบาล 500 บาทพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า ค่ารถพยาบาลไม่เป็นค่ารักษาพยาบาลตามระเบียบสวัสดิการสงเคราะห์พนักงานเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ค่ารถพยาบาลมิใช่ค่ารักษาพยาบาลแต่เป็นค่าพาหนะเดินทางไปโรงพยาบาลเท่านั้น ตามระเบียบเกี่ยวกับสวัสดิการฯ มิได้กำหนดให้จ่ายค่าพาหนะด้วย จำเลยจึงปฏิเสธไม่จ่ายเงิน 500 บาทแก่โจทก์ได้พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามคำสั่ง เรื่อง ระเบียบสวัสดิการฯข้อ 4 มีบทนิยามเฉพาะคำว่า พนักงาน บุคคลในครอบครัว แต่ค่ารักษาพยาบาลมีความหมายเป็นประการใดหามีบทนิยามไว้ไม่ ข้อ 5 กำหนดวงเงินค่ารักษาพยาบาลไว้ว่า พนักงานมีสิทธิเบิกได้ปีละเท่าใด บุคคลในครอบครัวเบิกได้ปีละเท่าใด ถ้าคู่สมรสของพนักงานประกอบอาชีพในสถาบันอื่นก็มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลได้โดยรวมถึงค่าผ่าตัดและค่าคลอดบุตรไม่เกินครรภ์ที่สี่ ข้อ 6 กรณีต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล จำเลยจะจ่ายค่าห้องให้ครึ่งหนึ่ง ส่วนข้อ 7 ได้ระบุชื่อโรงพยาบาลที่พนักงานและบุคคลในครอบครัวจะไปรับการรักษาพยาบาลได้ศาลฎีกาเห็นว่า ที่จะยกเอาบทนิยามของคำว่า ค่ารักษาพยาบาลตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน มาปรับแก่คดีนี้เป็นการปรับที่ไม่ถนัด เพราะบทนิยาามดังกล่าวมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย และใช้บังคับแก่เงินทดแทนที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน บังคับให้นายจ้างจ่ายเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานให้แก่นายจ้างหรือปกป้องรักษาผลประโยชน์ให้แก่นายจ้าง ส่วนคำสั่ง เป็นระเบียบสวัสดิการซึ่งสุดแต่นายจ้างและลูกจ้างได้ตกลงกันแต่ละสถานประกอบกิจการเป็นราย ๆ ไปกฎหมายมิได้บังคับให้นายจ้างต้องจ่ายเงินที่เป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง เพราะฉะนั้นการแปลความหมายระเบียบสวัสดิการจึงต้องแปลตามถ้อยคำและเจตนารมณ์จากระเบียบนั้นเอง เฉพาะคดีนี้คำสั่งไม่มีบทนิยามคำว่า ค่ารักษาพยาบาลไว้จึงต้องแปลคำว่าค่ารักษาพยาบาลตามความเข้าใจของคนทั่วไป ศาลฎีกาเห็นว่าค่ารักษาพยาบาลหมายถึงค่าบำบัดโรคโดยตรงเท่านั้น จะหมายความถึงค่าใช้จ่ายอย่างอื่นด้วยไม่ได้ หากจำเลยประสงค์จะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเจ็บป่วยทุกกรณีโดยไม่มีที่จำกัดแล้ว ก็ไม่ควรระบุค่าผ่าตัด ค่าคลอดบุตร ไว้ในข้อ 5 และค่าห้องไว้ในข้อ 6 ซึ่งค่าใช้จ่ายตามที่กล่าวข้างต้นนั้นเกี่ยวเนื่องใกล้ชิดกับค่ารักษาพยาบาลยิ่งกว่าค่ารถพยาบาลเป็นอันมาก ว่าโดยปกติ เมื่อลูกจ้างได้เสียเงินค่าใช้จ่ายเช่นว่านั้นไปแล้วก็ควรเบิกจ่ายจากจำเลยได้ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องระบุไว้ในระเบียบสวัสดิการอีก การที่ระบุไว้ดังนั้นย่อมแปลได้ว่า ค่าผ่าตัด ค่าคลอดบุตรและค่าห้อง มิใช่ค่ารักษาพยาบาล แต่ถึงแม้มิใช่จำเลยก็ยอมช่วยเหลือ เมื่อกรณีเป็นไปตามที่กล่าว ศาลฎีกาเห็นว่า ค่ารถพยาบาลมิใช่ค่าบำบัดโรค ทั้งระเบียบสวัสดิการก็มิได้กำหนดให้เบิกจ่ายได้เช่นค่าผ่าตัด ค่าคลอดบุตร และค่าห้องดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าพยาบาล

พิพากษายืน

Share