แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้เสียหายอายุ 16 ปีเศษ ยังอาศัยและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดา แม้บิดามารดาจะให้อิสระแก่ผู้เสียหายโดยผู้เสียหายจะไปเที่ยวที่ไหนกลับเมื่อใดไม่เคยสนใจสอบถามหรือห้ามปราม ผู้เสียหายก็ยังอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่จำเลยพบกับผู้เสียหายที่งานบวชพระแล้วพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราด้วยความสมัครใจของผู้เสียหาย ย่อมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบิดามารดา จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319
การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไม่ว่าผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยหรือไม่ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 318 แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ศาลย่อมปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 319 ได้มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้อง
(วรรคแรกวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 7/2530)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้พรากนางสาวกัลยาณี สุวรรณดึ อายุ ๑๖ ปีเศษ ไปเสียจากนายจิว แซ่ตัน บิดาเพื่อการอนาจาร โดยใช้มีดปลายแหลมขู่บังคับให้นางสาวกัลยาณีไปกับจำเลยและจำเลยได้ข่มขืนกระทำขำเรานางสาวกัลยาณี ๒ ครั้ง โดยนางสาวกัลยาณีไม่เต็มใจไปด้วย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๘
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๘ วรรคสามจำคุก ๓ ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นางสาวกัลยาณีผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์ มีอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกิดสิบแปดปี ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ผู้เสียหายเคยได้เสียกับจำเลยมาก่อน ๒ ครั้ง ครั้งแรกจำเลยบังคับแต่ครั้งที่สองผู้เสียหายสมัครใจ วันเกิดเหตุผู้เสียหายกับนางเรียวไปเที่ยวงานบวชพระด้วยรถจักรยานขากลับปรากฏว่ายางในรถจักรยานแตก ผู้เสียหายนั่งซ้อนท้ายจักรยานกลับกับจำเลย คงให้นางเรียงกลับบ้านกับเพื่อนบ้าน ระหว่างทางจำเลยจอดรถและพาผู้เสียหายไปกระทำชำเรา ๒ ครั้ง ปัญหาต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๙ หรือไม่ ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ผู้เสียหายมีอายุเพียง ๑๖ ปีเศษ ยังอาศัยและอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของบิดามารดา ผู้เสียหายจึงอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา การกระทำของจำเลยต่อผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะสมัครใจยินยอมก็ตาม ต้องได้รับความยินยอมของบิดามารดาก่อน มิฉะนั้นย่อมเป็นการล่วงอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่บิดามารดาผู้เสียหายให้อิสระแก่ผู้เสียหาย ที่จะไปเที่ยวที่ไหนและกลับเมื่อใด ไม่เคยใจสอบถามหรือห้ามปราม ผู้เสียหายก็ยังคงอยู่ในอำนาจปกครองของบิดามารดา การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปกระทำชำเราจึงเป็นการพรากผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๙ การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ไม่ว่าผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๘ แต่ทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๙ ศาลย่อมปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๙ ได้ มิใช่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงในทางพิจารณาแตกต่างกับฟ้อง
พิพากษากลับว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๙