คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 358-359/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยได้รับการแต่งตั้งเป็นเสมียนเจ้าพนักงานประจำแผนกกลางของสำนักงานท่องเที่ยวกรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ฝ่ายการเงินของสำนักงานท่องเที่ยว กรมประชาสัมพันธ์ คือการรับเงินจ่ายเงิน ปกครองรักษาและนำเงินผลประโยชน์ รายได้ต่าง ๆ ของสำนักงานท่องเที่ยวกรมประชาสัมพันธ์ส่งต่อเจ้าหน้าที่ แผนกคลังกรมประชาสัมพันธ์เป็นรายได้ของรัฐบาล จำเลยได้ยักยอกเงินที่ได้รับไว้ในหน้าที่ไปเป็นประโยชน์ส่วนตัว แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานท่องเที่ยวนี้ได้รับเงินเดือนประเภทการจรมีฐานะเป็นลูกจ้างรายเดือนของสำนักงานและในคำให้การของจำเลยชั้นสอบสวนปรากฏว่า จำเลยรับราชการเป็นลูกจ้างได้ค่าจ้างเป็นรายเดือน จำเลยจึงไม่เป็นข้าราชการตาม พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน ถือไม่ได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานอันจะเป็นผิดตาม ม.131
ในคดียักยอกทรัพย์ถึงที่สุดในศาลอุทธรณ์โดยศาลพิพากษาว่าจำเลยผิด ก.ม.อาญา 319 (3) คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมาก็ตามแต่เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญา ม.3 บัญญัติให้ใช้ ก.ม. ในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดและตามประมวล ก.ม.อาญามิได้บัญญัติการกระทำของจำเลยอันความผิดตรงกับ ม.319 ดังนั้นความผิดของจำเลยจึงเข้า ม.352 ฐานยักยอกทรัพย์ธรรมดาซึ่งมีโทษเบากว่าโทษตาม ก.ม.อาญา ม.319 จึงต้องใช้ประมวล ก.ม.อาญา ม.352 บังคับ ลงโทษจำเลย.

ย่อยาว

คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตาม ก.ม.อาญา ม.๓๑๙(๓) และพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม ก.ม.อาญา พ.ศ.๒๔๘๔ ม.๓ และให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่กรมประขาสัมพันธ์ด้วย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ก.ม.อาญา พ.ศ.๒๔๘๔ ม.๓ ซึ่งเป็นบทหนัก ให้จำคุกจำเลย ๘ ปี กับให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน ๑๑๒,๙๗๘ บาท แก่กรมประชาสัมพันธ์ด้วย
จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงตามศาลชั้นต้น แต่ข้อที่ศาลชั้นต้นวางบทลงโทษจำเลยตาม ก.ม.อาญา ม.๑๓๑ ที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้นศาลอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยจึงพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกตาม ก.ม.อาญา ม.๓๑๙ (๓) จำคุกจำเลย ๓ ปี นอกนั้นยืน
โจทก์ฎีกาว่าจำเลยต้องมีความผิดตาม ก.ม.อาญา ม.๑๓๑
ศาลฎีกาตรวจปรึกษาทางพิจารณาข้อเท็จจริง คงฟังได้ว่าจำเลยนี้ได้เจตนาทุจริตยักยอกเงินที่จำเลยรับไว้ในหน้าที่ตามจำนวนที่โจทก์กล่าวในฟ้องไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวจำเลยเสียจริง ส่วนปัญหาที่จะต้องพิจารณาคงมีว่าจำเลยจะมีผิดฐานเจ้าพนักงาานยักยอกตาม ก.ม.อาญา ม.๑๓๑ หรือไม่ ข้อนี้ข้อเท็จจริงได้ความตามพยานโจทก์ว่าเจ้าหน้าที่ของสำนักงานท่องเที่ยวนี้ได้รับเงินเดือนประเภทการจร มีฐานะเป็นลูกจ้าง ได้ค่าจ้างเป็นรายเดือน ฉนั้น จำเลยจึงไม่เป็นข้าราชการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ถือไม่ได้ว่าเป็นเจ้าพนักงานอันจะเป็นผิดตาม ม.๑๓๑ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย สำนักงานท่องเที่ยวจะเป็นส่วนราชการหรือไม่ ๆ สำคัญ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น จึงพิพากษายืน.

Share