คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 444/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตกลงจะคืนเช็คให้แก่โจทก์เมื่อโจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 2ที่ 3 ไม่นำเช็คมาคืนแก่โจทก์ ในที่สุดโจทก์ถูกฟ้องตาม พ.ร.บ.เช็คพ.ศ. 2497 และต้องใช้เงินแก่ผู้ทรงเช็ค ดังนี้ เป็นคำฟ้องที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ผิดสัญญาโดยไม่คืนเช็คตามข้อตกลงโจทก์จึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฐานผิดสัญญาซึ่งกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น ต้องใช้อายุความ 10 ปี.

ย่อยาว

คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน31,875 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 30,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การร่วมกันว่า โจทก์ที่ 2 ที่ 3 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ส่วนโจทก์ที่ 1 ทำสัญญากับจำเลยที่ 2 เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ชำระหนี้โดยรู้อยู่แล้วว่าเกินกว่าจำนวนหนี้ที่เป็นอยู่จริง ซึ่งโจทก์ไม่มีความผูกพันธ์ โจทก์ต้องฟ้องเรียกคืนภายใน1 ปี จำเลยที่ 1 มิได้เป็นตัวแทนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และจำเลยที่ 2ที่ 3 มิได้มอบให้จำเลยที่ 1 ไปรับเช็คจากโจทก์ จำเลยที่ 2 ที่ 3ไม่เคยบอกโจทก์ว่าจะนำเช็คจากจำเลยที่ 1 มาคืนโจทก์ การที่โจทก์ชำระเงิน 30,000 บาท แก่จำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยเพราะจำเลยที่ 2 ที่ 3ไม่ได้กระทำผิดหรือละเมิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสามจำนวน 30,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 2 กรกฏาคม 2525 จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องไม่เกิน 1,875 บาทและให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสามโดยกำหนดค่าทนายความ 1,100 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้เงิน25,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 25,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์500 บาทแทนโจทก์ทั้งสาม
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษาประเด็นเรื่องอายุความว่า “โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ที่ 3 ตกลงจะคืนเช็คให้แก่โจทก์ เมื่อโจทก์จ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 แล้วจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่นำเช็คมาคืนแก่โจทก์และบรรยายฟ้องข้อ 4 ว่า ในที่สุดโจทก์ทั้งสามถูกฟ้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 และต้องใช้เงินแก่ผู้ทรงเช็ค เป็นคำฟ้องที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2ที่ 3 ผิดสัญญาโดยไม่คืนเช็คให้ตามข้อตกลง จนเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย เป็นคำฟ้องที่เรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ที่ 3 ฐานผิดสัญญา แม้คำฟ้องจะได้บรรยายไว้ด้วยว่าเกี่ยวกับเรื่องตัวการตัวแทน หรือระบุว่าจำเลยทั้งสามจงใจกระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายเป็นการบรรยายให้ทราบถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเท่านั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นเรื่องละเมิดหรือลาภมิควรได้ กรณีดังกล่าวกฎหมายมิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้เป็นอย่างอื่น ต้องใช้อายุความ 10 ปี ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 2 ที่ 3ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกาแทนโจทก์ทั้งสาม 500 บาท.

Share