แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ลาไปศึกษาต่อภายในประเทศโดยสัญญาว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะกลับมารับราชการใช้หนี้ตามกำหนดเวลาที่กำหนดไว้ หากผิดสัญญาจะต้องชำระเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินที่จะต้องชดใช้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยกลับมารับราชการใช้หนี้โจทก์บางส่วนเพียง 1 ใน 3 ของกำหนดเวลาที่ต้องทำงานใช้หนี้โจทก์ จึงสมควรลดเบี้ยปรับลง 1 ใน 3 ส่วน จำเลยตกลงใช้เงินที่ยังมิได้ชำระและเบี้ยปรับกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปีของเงินที่ยังมิได้ชำระแก่โจทก์ ถือว่าดอกเบี้ยเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ตำแหน่งครูใหญ่ ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาต่อภายในประเทศมีกำหนด 2 ปี โดยมีสัญญาว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 จะกลับเข้าปฏิบัติราชการต่อไปอีก ไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของเวลาที่จำเลยที่ 1 รับเงินเดือนระหว่างไปศึกษาต่อหากจำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการไม่ครบกำหนดเวลายอมใช้เงินทุนและหรือเงินเดือนและหรือเงินอื่นใดลดลงตามส่วนของเวลาที่กลับเข้ารับราชการและเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินที่ต้องชดใช้ หากไม่ชำระตามกำหนดที่โจทก์เรียกให้ชำระ ยอมให้ดอกเบี้ยจากเงินที่ยังมิได้ชำระในอัตราร้อยละ 12ต่อปี มีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันแต่เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการชดใช้ไม่ครบกำหนด ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 61,897.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 16,506.02บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 29พฤษภาคม 2528 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 45,100.03 บาทแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่า จำเลยที่ 1เป็นข้าราชการในสังกัดของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ไปศึกษาต่อภายในประเทศมีกำหนด 2 ปี โดยสัญญาว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะกลับมารับราชการใช้หนี้โจทก์เป็นเวลา 2 เท่าของเวลาที่ลาไปศึกษาต่อ หากผิดสัญญาจะต้องชำระเบี้ยปรับอีก 1 เท่าของเงินที่จะต้องชดใช้พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 12 ต่อปี ตามสัญญาเอกสารหมายป.จ.3 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ป.จ.4 จำเลยที่ 1 ได้ลาไปศึกษาต่อเป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน20 วัน ระหว่างนั้นได้รับเงินเดือนและค่าครองชีพจากโจทก์เป็นเงิน76,694.67 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการใช้หนี้โจทก์เป็นเวลา 3 ปี 7 เดือน 10 วัน แต่จำเลยที่ 1 กลับมารับราชการใช้หนี้โจทก์เพียง 1 ปี 2 เดือน 26 วัน ยังขาดอยู่อีก 2 ปี 4 เดือน14 วัน เมื่อคิดเป็นเงินแล้วจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้หนี้ให้โจทก์ในส่วนที่ยังขาดอยู่เป็นเงิน 50,391.02 บาท โจทก์หักเงินบำเหน็จของจำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วนแล้วเป็นเงิน 38,885 บาท คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. มีเหตุสมควรลดเบี้ยปรับตามสัญญาหรือไม่เพียงใด เห็นว่าศาลมีอำนาจที่จะลดเบี้ยปรับที่เห็นว่าสูงเกินส่วนลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 และเมื่อได้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 383 ดังกล่าวแล้วปรากฏว่า หลังจากที่จำเลยสำเร็จการศึกษาตามที่ได้ลาไปศึกษาต่อแล้ว จำเลยได้กลับมารับราชการทำงานใช้หนี้โจทก์บางส่วนแล้วเป็นเวลา 1 ปี 2 เดือน 26 วัน หรือ 451 วัน เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับราชการทำงานใช้หนี้โจทก์ตามสัญญาเป็นเวลา 3 ปี 7 เดือน 10 วัน หรือ 1,315 วันแล้วเวลาที่จำเลยที่ 1 มารับราชการทำงานใช้หนี้โจทก์คิดได้เป็นอัตราส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของกำหนดเวลาที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับราชการทำงานใช้หนี้โจทก์ต่อไปตามสัญญา จึงสมควรลดเบี้ยปรับลง 1 ใน 3 ส่วนโดยให้จำเลยที่ 1 ชำระเบี้ยปรับแก่โจทก์เพียง 2 ใน 3 ส่วนของจำนวนเต็มที่จะต้องชำระให้โจทก์จำนวน 50,391.02 บาท ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจมานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อ 2. ศาลมีอำนาจลดดอกเบี้ยที่กำหนดไว้สำหรับเงินที่ยังมิได้ชำระตามสัญญาได้หรือไม่ เห็นว่า ดอกเบี้ยจากเงินที่ยังมิได้ชำระอัตราร้อยละ 12 ต่อปีตามสัญญาเอกสารหมาย ป.จ.3 นั้น ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของเบี้ยปรับตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 379 และมาตรา 381 วรรคแรก เพราะเป็นส่วนหนึ่งของค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าจำเลยที่ 1 จะชดใช้แก่โจทก์เมื่อตนไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร ถ้าศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงได้ โจทก์มิได้ฎีกาว่า ไม่สมควรลดดอกเบี้ยดังกล่าวเพราะเหตุใดหรือที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลดดอกเบี้ยลงมานั้นไม่สมควรประการใด จึงไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในเรื่องนี้ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน.