คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5650/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้โดยให้คุมความประพฤติของจำเลย ต่อมาระหว่างคุมความประพฤติจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งยกเลิกการคุมประพฤติและเปลี่ยนโทษจากการรอการลงโทษจำคุกเป็นไม่รอการลงโทษ ดังนี้ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้และเมื่อศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแล้ว คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมเป็นที่สุดจะฎีกาต่อไปไม่ได้ตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญาฯ มาตรา 17 วรรคสอง การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมาจึงไม่ชอบ

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเสพเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำเลยให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 57, 91 จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือนและปรับ 10,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้2 ปี แต่ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ภายในกำหนดระยะเวลา1 ปี และห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดทุกประเภทกับให้เข้าร่วมกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด24 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30

ต่อมาพนักงานคุมประพฤติรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า ระหว่างคุมความประพฤติจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลชั้นต้นที่ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษ โดยกระทำความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนอีก ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 87/2543ของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นสอบจำเลยแล้ว ฟังได้ว่าจำเลยให้การรับสารภาพในคดีดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงมีคำสั่งยกเลิกการคุมประพฤติและให้ลงโทษจำคุกที่รอไว้

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 เดือนและปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี แต่ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้โดยให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน ภายในกำหนด 1 ปี และห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดทุกประเภท กับให้เข้าร่วมกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 24 ชั่วโมงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ต่อมาพนักงานคุมประพฤติรายงานต่อศาลชั้นต้นว่า ระหว่างคุมความประพฤติจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลชั้นต้นที่ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งยกเลิกการคุมประพฤติและเปลี่ยนโทษจากการรอการลงโทษจำคุกเป็นไม่รอการลงโทษ จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นได้เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาแล้วคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติวิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2522มาตรา 17 วรรคสอง จำเลยจะฎีกาต่อไปไม่ได้ ที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยมาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาจำเลย

Share