แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 เป็นกฎหมายพิเศษเกี่ยวด้วยแรงงานซึ่งประกาศขึ้นใช้แทนพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ.2499 มีวัตถุประสงค์เพื่อมิให้มีเหตุการณ์ต่างๆ อันเกิดจากความไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างเป็นการคุ้มครองและอำนวยประโยชน์แก่ลูกจ้าง ทั้งป้องกันมิให้เกิดความระส่ำระสายในการเศรษฐกิจของประเทศและความสงบสุขของบ้านเมือง จึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ลูกจ้างของโจทก์ถึงแก่ความตายขณะปฏิบัติหน้าที่ โจทก์กับมารดาของผู้ตายได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในเรื่องเงินค่าทดแทนกันไว้หากโจทก์จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ตามคำวินิจฉัยของเจ้าหน้าที่ซึ่งกระทรวงมหาดไทยแต่งตั้ง โจทก์จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนเป็นรายเดือน เดือนละ 200 บาท มีกำหนด 5 ปีคำนวณแล้วเป็นเงินถึง 12,000 บาท. แต่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จ่ายเงินเพียง 2,000 บาทเท่านั้น เป็นการหลีกเลี่ยงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับเงินค่าทดแทน จึงเป็นข้อตกลงที่ผิดแผกแตกต่างไปจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 19 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ
(วรรคแรก วินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่2/2516 )
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายบุญน้อย อินอ่อน ลูกจ้างของโจทก์ซึ่งทำหน้าที่พนักงานเก็บค่าโดยสารประจำรถโดยสารประจำทางของโจทก์ ขณะปฏิบัติหน้าที่ได้กระโดดลงจากรถและถูกล้อรถทับถึงแก่ความตาย เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ ต่อมาโจทก์กับนางดีมารดา นายบุญน้อยได้ทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยโจทก์ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้นางดี ๒,๐๐๐ บาท และโจทก์เป็นผู้จัดการศพ นางดีไม่ติดใจเรียกค่าสินไหมทดแทนทั้งทางแพ่งและทางอาญา แต่นางดีกลับยื่นคำร้องขอรับเงินค่าทดแทนอีก เจ้าหน้าที่ของจำเลยได้วินิจฉัยให้โจทก์จ่ายเงินค่าทดแทนแก่นางดีเป็นรายเดือน ๆ ละ ๒๐๐ บาท มีกำหนด ๕ ปี และให้โจทก์จ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพ ๑,๐๘๐ บาท โจทก์อุทธรณ์ จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ในฐานะอธิบดี วินิจฉัยยืนตาม ขอให้ศาลสั่งให้จำเลยเพิกถอนคำวินิจฉัย
จำเลยต่อสู้ว่านายบุญน้อยมิได้ฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ สิทธิรับเงินค่าทดแทนของนางดีไม่ระงับ คำวินิจฉัยของจำเลยชอบแล้ว จำเลยที่ ๒ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์กับนางดีได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแล้วก่อนระงับสิทธินางดีที่จะเรียกเงินค่าทดแทน จำเลยไม่มีอำนาจออกคำสั่งให้โจทก์ใช้เงินค่าทดแทนแก่นางดีอีก พิพากษาว่าคำวินิจฉัยของจำเลยไม่ผูกพันโจทก์ให้จำต้องปฏิบัติ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ เป็นกฎหมายพิเศษคู่กรณีหลีกเลี่ยงทำสัญญาประนีประนอมกันเองไม่ได้ จึงไม่ตัดสิทธินางดีที่จะร้องขอรับเงินค่าทดแทน พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทำความเห็นแย้ง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ว่า ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๙ เป็นกฎหมายพิเศษเกี่ยวด้วยแรงงาน ซึ่งประกาศขึ้นใช้แทนพระราชบัญญัติแรงงาน พ.ศ. ๒๔๙๙ และปรากฏตามคำปรารภของคณะปฏิวัติว่าเพื่อกำหนดการคุ้มครองและอำนวยประโยชน์แก่ลูกจ้างและป้องกันมิให้เกิดความระส่ำระสายในการประกอบอุตสาหกรรมพาณิชยกรรมอันจะเป็นภัยร้ายแรงแก่การดำเนินงานเศรษฐกิจเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศวัตถุประสงค์ที่ออกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้กล่าวโดยสรุปก็เพื่อให้มีเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเกิดจากความไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้างเป็นการคุ้มครองและอำนวยประโยชน์แก่ลูกจ้าง ทั้งป้องกันมิให้เกิดความระส่ำระสายในการเศรษฐกิจของประเทศและความสงบสุขของบ้านเมือง ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้จึงเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
การที่โจทก์และนางดี อินอ่อน มารดาของนายบุญน้อย อินอ่อนลูกจ้างโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในเรื่องเงินค่าทดแทนกันไว้ ศาลฎีกาเห็นว่าย่อมเป็นการหลีกเลี่ยงก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่ลูกจ้าง กล่าวคือ หากโจทก์จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๙ ตามคำวินิจฉัยของจำเลยที่ ๒ โจทก์จะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนเป็นรายเดือน ๆ ละ ๒๐๐ บาทมีกำหนด ๕ ปี คำนวณแล้วเป็นเงินถึง ๑๒,๐๐๐ บาท แต่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จ่ายเงินเพียง ๒,๐๐๐ บาท เท่านั้น ดังนั้นสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวในส่วนที่เกี่ยวกับเงินค่าทดแทนจึงเป็นข้อตกลงที่ผิดแผกแตกต่างไปจากประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๙ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน สัญญาประนีประนอมยอมความนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับเงินค่าทดแทน จึงตกเป็นโมฆะไม่มีผลบังคับ จำเลยจึงมีอำนาจวินิจฉัยสั่งให้โจทก์จ่ายเงินค่าทดแทนได้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๙ และประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจ่ายเงินค่าทดแทนตลอดจนจำนวนเงินค่าทดแทนศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน