แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ฟ้องโจทก์บรรยายว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยแสดงแบบยื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง และยื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ต่ำกว่ายอดรายรับขั้นต่ำซึ่งเจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าได้กำหนดไว้ เจ้าพนักงานประเมินจึงได้หมายเรียกจำเลยให้นำบัญชีพร้อมเอกสารประกอบการลงบัญชีปี 2515 ถึง 2523มา ตรวจสอบภาษี จำเลยไม่มาพบและไม่นำบัญชีมาให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินอาศัยอำนาจตามมาตรา 87,87 ทวิแห่ง ป. รัษฎากร ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีใหม่พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 5,469,805.71 บาทจำเลยไม่มีทรัพย์ใดที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ โจทก์ได้ทวงถามจำเลยให้ชำระแล้วสองครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน จำเลยไม่ชำระจำเลยจึงมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ดังนี้ ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ส่วนรายละเอียดต่าง ๆตามฎีกาของจำเลยนั้น โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม โจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารมายืนยันว่าจำเลยได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์และโจทก์ได้แจ้งกำหนดรายรับขั้นต่ำให้จำเลยทราบแล้ว พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ ส่วนจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมินภาษีจำเลยโดยชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 19,21 และจำเลยเป็นหนี้ค่าภาษีโจทก์ตามการประเมินดังกล่าว การประเมินภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี 2519 เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งจำนวนเงินภาษีที่ประเมินไปยังจำเลยแล้ว อันมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 173 นับแต่วันที่แจ้งดังกล่าวจนถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปีสิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรปี 2519 จึงไม่ขาดอายุความ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยได้แสดงรายการตามแบบยื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.5) ไม่ถูกต้องตามความจริงและยื่นแบบแสดงรายการการค้า (ภ.ค.4) ไว้โดยแสดงยอดรายรับไว้ต่ำกว่ายอดรายรับขั้นต่ำซึ่งเจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าได้กำหนดรายรับขั้นต่ำประจำเดือนสำหรับกิจการค้าของจำเลยซึ่งประกอบกิจการค้าประเภท 7 (ข)(ง) โรงแรมและภัตตาคาร เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงหมายเรียกจำเลยให้นำบัญชีพร้อมทั้งเอกสารประกอบการลงบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515 ถึง 2523 มาทำการตรวจสอบภาษีอากร แต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามหมายเรียก โดยไม่มาพบและไม่นำบัญชีพร้อมทั้งเอกสารประกอบการลงบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปีดังกล่าวมาให้เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ตรวจสอบเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์อาศัยอำนาจตามมาตรา 87, 87 ทวิแห่งประมวลรัษฎากร จึงได้ทำการตรวจสอบรายได้ของจำเลยจากแบบยื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.5) และแบบแสดงรายการการค้า (ภ.ค.4) ซึ่งจำเลยได้ยื่นไว้ตรวจสอบจากสถานที่ประกอบการค้าตามความเป็นจริงของจำเลย และตรวจสอบจากยอดรายรับขั้นต่ำซึ่งเจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้า กองภาษีการค้ากรมสรรพากรได้กำหนดรายรับขั้นต่ำประจำเดือนสำหรับกิจการค้าของจำเลย และได้แจ้งให้จำเลยได้ทราบแล้ว เป็นหลักฐานแห่งการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลและประเมินภาษีการค้าสำหรับกิจการค้าของจำเลยซึ่งจำเลยมีหน้าที่ที่จะต้องเสียภาษีให้แก่โจทก์ จากการตรวจสอบของพนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ดังกล่าว ปรากฏว่าในรอบระยะเวลาบัญชีระหว่างปี 2515 ถึง 2523 จำเลยแสดงแบบยื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้ไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง และยื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้โดยแสดงยอดรายรับไว้ต่ำกว่ายอดรายรับขั้นต่ำซึ่งเจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าได้กำหนดไว้สำหรับกิจการค้าของจำเลย เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ทำการประเมินเสียใหม่ ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล กับภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล เมื่อได้ตรวจสอบภาษีอากรดังกล่าวแล้วเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยมารับทราบผลการตรวจสอบ แต่จำเลยไม่มารับทราบตามกำหนดเวลาเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงได้ทำการประเมินภาษีอากรตามผลการตรวจสอบดังกล่าว และได้แจ้งการประเมินภาษีอากรทุกประเภทให้จำเลยทราบและให้จำเลยจัดการชำระภาษีอากรทุกประเภทให้แก่โจทก์ภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน มิฉะนั้นจำเลยจะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 สำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลและมาตรา 89 ทวิ สำหรับภาษีการค้าอีกด้วย ปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้ารวมภาษีบำรุงเทศบาล เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2-26 จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวทุกฉบับแล้ว และมิได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือแจ้งการประเมิน เลขที่ 1047/2/00783-00786 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2520 (ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2-5)และตามหนังสือแจ้งการประเมิน เลขที่ 1047/2/00817-00820 ลงวันที่27 พฤษภาคม 2520 และตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีการค้าเลขที่ 1047/3/01820-01827 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2520 (ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6-9, 13-20) แต่จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีสำหรับหนังสือแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล เลขที่ 1047/2/01315-01317 และแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเลขที่ 1047/3/03564-03565 ลงวันที่ 6 กันยายน 2522 (ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข10-12, 21, 22) และแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า เลขที่1047/3/04597-04598 ลงวันที่ 10 กันยายน 2523 (ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 23-24) และแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้าเลขที่ 1047/3/04775 ลงวันที่ 24 ธันวาคม 2523 (ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 25) แต่ปรากฏว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยทั้ง 3 ครั้ง ไว้พิจารณา เนื่องจากคำอุทธรณ์ของจำเลยต้องห้ามมิให้อุทธรณ์การประเมินและยื่นอุทธรณ์เมื่อเกินกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 30 แห่งประมวลรัษฎากร และนอกจากนี้จำเลยยังได้ยื่นอุทธรณ์แบบแจ้งการประเมินภาษีการค้า เลขที่ 1047/3/04959 ลงวันที่ 10 มีนาคม 2524 (ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 26)ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์แล้วตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ 33/2525 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2524ว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการถูกต้องและชอบแล้วซึ่งจำเลยได้รับทราบผลการวินิจฉัยไม่รับอุทธรณ์และผลการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วทุกครั้ง แต่จำเลยก็มิได้ดำเนินการนำคดีขึ้นสู่ศาล อันจะทำให้การประเมินการเสียภาษีอากรทุกชนิดของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภาษีอากรตามกฎหมายมีผลเป็นอย่างอื่น และจำเลยก็มิได้จัดการชำระเงินภาษีอากรให้แก่โจทก์ภายในกำหนดแต่ประการใดรวมค่าภาษีอากรทุกประเภท เงินเพิ่ม และเบี้ยปรับที่จำเลยค้างชำระแก่โจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นเงินทั้งสิ้น 5,469,805.71 บาท ปรากฏตามสำเนารายละเอียดแสดงหนี้ภาษีอากรค้าง เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 27เพื่อให้ได้รับชำระหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าว โจทก์ได้ตรวจสอบเพื่อพบอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ซึ่งจำเลยมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แล้วแต่ไม่ปรากฏ จึงไม่อาจดำเนินการตามมาตรา 12 แห่งประมวลรัษฎากรได้ จำเลยไม่มีทรัพย์ใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ให้โจทก์ได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้มีหนังสือไปยังจำเลยให้นำภาษีอากรค้างไปชำระให้แก่โจทก์รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2530 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530 แต่ละครั้งได้แจ้งให้จำเลยนำเงินภาษีอากรค้างไปชำระให้แก่โจทก์ภายใน15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือเตือน ปรากฏตามภาพถ่ายสำเนาหนังสือแจ้งให้นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระ และบันทึกการส่งหนังสือแจ้งเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 28-29 ในการส่งหนังสือเตือนดังกล่าวปรากฏว่าไม่พบตัวจำเลยแต่พบกับพนักงานของจำเลยได้รับหนังสือแจ้งให้นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระที่โจทก์นำส่งทั้งสองครั้ง และได้รับว่าจะนำหนังสือดังกล่าวส่งให้แก่จำเลย ถือว่าจำเลยได้รับแล้วจำเลยก็ยังเพิกเฉยไม่ยอมชำระหนี้ภาษีอากรค้างตามจำนวนข้างต้นให้แก่โจทก์ภายในกำหนด จำเลยได้รับหนังสือทวงถามจากโจทก์ให้ชำระหนี้ค่าภาษีอากรตามฟ้องไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง ซึ่งมีระยะห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยก็ไม่ชำระหนี้จำเลยจึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด และพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย
จำเลยให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ตามคำฟ้องของโจทก์ไม่บรรยายให้ชัดแจ้งว่ามีเหตุอันควรเชื่ออย่างไร เกิดจากอะไร และการกำหนดรายรับขั้นต่ำของเจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าได้กำหนดไว้อย่างไร มีจำนวนเท่าไร และมีหลักเกณฑ์ในการคำนวณอย่างไรเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ออกหมายเรียกให้จำเลยส่งบัญชีพร้อมเอกสารประกอบการลงบัญชีสำหรับรอบระยะเวลาประจำปี 2515ถึง 2523 เมื่อไร เป็นการเคลือบคลุมในเรื่องอายุความ จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ว่ามีการออกหมายเรียกจริงหรือไม่ จำเลยไม่เคยได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ให้ส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยขัดขืนไม่ส่งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีแก่เจ้าพนักงานประเมิน เจ้าพนักงานประเมินจึงไม่มีอำนาจประเมินภาษีแก่จำเลย แบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.5) และภาษีการค้า (ภ.ค.4) ที่จำเลยได้ยื่นต่อโจทก์สำหรับปีภาษี 2515 ถึง 2523 ถูกต้องตามความเป็นจริง จึงไม่มีค่าภาษีอากรค้างที่จำเลยจะต้องชำระแก่โจทก์ การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินตามคำฟ้อง ข้อ ก.(1) ถึง (11) ข้อ ข.(1) ถึง(14) จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายโดยอาศัยมูลหนี้ค่าภาษีที่ค้างชำระและที่ชำระไม่ถูกต้องในปีภาษี 2515ถึง 2519 ตามคำฟ้องข้อ ก.(1) ถึง (9) และข้อ ข.(1) ถึง (8) โจทก์จะต้องฟ้องภายในอายุความ 10 ปี นับแต่จำเลยมีหน้าที่เสียภาษีแต่โจทก์ฟ้องเมื่อพ้นกำหนดอายุความแล้ว ตามคำฟ้องข้อ ก.(10)(11)โจทก์ฟ้องคำนวณเงินเพิ่มสำหรับปีภาษี 2520 ถึง 2521 รวมเป็นยอดหนี้ด้วย การฟ้องเรียกเงินเพิ่มต้องฟ้องภายในอายุความ 5 ปีแต่โจทก์ไม่ได้ฟ้องภายในอายุความ 5 ปี โจทก์ไม่อาจยกเอาหนี้ที่ขาดอายุความมาเป็นมูลฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ ตามคำฟ้องข้อข.(9) ถึง (14) โจทก์ฟ้องคำนวณเบี้ยปรับและเงินเพิ่มสำหรับปีภาษี2521 ถึง 2522 และภาษีเดือนมกราคมถึงกรกฎาคม 2523 โจทก์ไม่ได้ฟ้องภายในอายุความ 5 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ มูลหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องไม่เป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน และยังมีข้อโต้เถียงอยู่ จำเลยไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว แต่มีทรัพย์สินและเครดิตพอที่จะชำระหนี้ได้ จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้ค่าภาษีอากรทั้งสองครั้ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว จำเลยฎีกาข้อแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะไม่ได้บรรยายว่า มีเหตุอะไรที่เป็นเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยยื่นแบบภาษีไว้ไม่ถูกต้อง โจทก์ออกหมายเรียกจำเลยเมื่อใด และได้กำหนดรายรับขั้นต่ำไว้มีจำนวนเท่าใด เห็นว่าฟ้องโจทก์บรรยายว่ามีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยแสดงแบบยื่นรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง และยื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ต่ำกว่ายอดรายรับขั้นต่ำซึ่งเจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าได้กำหนดไว้ เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์จึงได้หมายเรียกจำเลยให้นำบัญชีพร้อมเอกสารประกอบการลงบัญชีปี 2515 ถึง 2523มาตรวจสอบภาษี จำเลยไม่มาพบและไม่นำบัญชีมาให้เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ตรวจสอบ เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์อาศัยอำนาจตามมาตรา 87, 87 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ทำการประเมินเรียกเก็บภาษีใหม่พร้อมทั้งเบี้ยปรับและเงินเพิ่มเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น5,469,805.71 บาท จำเลยไม่มีทรัพย์ใดที่จะยึดมาชำระหนี้ได้โจทก์ได้ทวงถามจำเลยให้ชำระแล้วสองครั้งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวัน จำเลยไม่ชำระจำเลยจึงมีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยล้มละลาย ดังนี้ ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ตามฎีกาของจำเลยนั้น โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่จำต้องบรรยายมาในฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า หนี้ค่าภาษีอากรที่โจทก์นำมาฟ้องยังเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้ไม่แน่นอน เพราะจำเลยไม่เคยได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยขัดขืนหมายเรียกอันจะทำให้เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์มีอำนาจประเมินภาษีการประเมินของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 19, 21ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเสียภาษีไว้น้อยกว่ากำหนดรายรับขั้นต่ำก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์กำหนดรายรับขั้นต่ำของจำเลยไว้เท่าใด มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือไม่ และได้แจ้งกำหนดรายรับขั้นต่ำให้จำเลยทราบอย่างไร การกำหนดรายรับขั้นต่ำดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 86 เบญจ จะถือว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าภาษีอากรโจทก์ตามการประเมินไม่ได้ ในข้อนี้ โจทก์มีพยานคือนายเทียนเชาวน์ พุทธถาวร เจ้าหน้าที่ตรวจสอบภาษีของโจทก์เบิกความว่า พยานเป็นผู้ตรวจสอบและประเมินภาษีเงินได้ของจำเลยระหว่างปี2515 ถึง 2519 เพราะจำเลยได้ยื่นแบบแสดงภาษีมีผลขาดทุนตลอดมาและยื่นชำระภาษีการค้าไว้ต่ำกว่าที่โจทก์กำหนดรายรับขั้นต่ำไว้ในการตรวจสอบพยานได้ออกหมายเรียกไปยังจำเลยให้นำบัญชีพร้อมเอกสารประกอบการลงบัญชีระหว่างปีดังกล่าวมาส่งมอบให้พยานปรากฏตามสำเนาหมายเรียกและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.1 จำเลยไม่มาพบและไม่ส่งเอกสารตามหมายเรียก พยานจึงมีหนังสือเตือนจำเลยให้ปฏิบัติตามหมายเรียกปรากฏตามสำเนาหนังสือเตือนและใบตอบรับเอกสารหมาย จ.2 จ.3 นางนิภา ถิ่นพังงา เจ้าหน้าที่ของโจทก์เบิกความว่า จำเลยยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีไว้ต่ำกว่ายอดรายรับที่โจทก์กำหนดไว้ และจำเลยไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล พยานจึงได้ออกหมายเรียกให้จำเลยนำบัญชีและเอกสารระหว่างปี 2519 ถึง 2521 มาให้ตรวจสอบ ปรากฏตามสำเนาหมายเรียกเอกสารหมาย จ.28 จำเลยได้รับหมายเรียกแล้ว ปรากฏตามใบรับเอกสารหมาย จ.29 แต่จำเลยไม่มาพบและไม่ส่งมอบบัญชีและเอกสารให้พยาน และนายธวัชชัย สวนสีดา นิติกรของโจทก์เบิกความว่าการที่จำเลยไม่มาพบเจ้าพนักงานประเมินตามหมายเรียกนั้น โจทก์มีอำนาจเปรียบเทียบปรับไม่เกิน 7,000 บาท จำเลยยอมเสียค่าปรับปรากฏตามแบบเปรียบเทียบกำหนดค่าปรับเอกสารหมาย จ.52 โจทก์เคยแจ้งการกำหนดรายรับขั้นต่ำเพื่อเสียภาษีการค้าให้แก่จำเลยได้ทราบหลายครั้ง ปรากฏตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.53 เห็นว่า โจทก์มีทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารมายืนยันว่าจำเลยได้รับหมายเรียกจากเจ้าพนักงานประเมินของโจทก์และโจทก์ได้แจ้งกำหนดรายรับขั้นต่ำให้จำเลยทราบแล้ว พยานหลักฐานโจทก์จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อ ส่วนจำเลยมิได้นำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ทำการประเมินภาษีจำเลยโดยชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา 19, 21 และจำเลยเป็นหนี้ค่าภาษีโจทก์ตามการประเมินดังกล่าว
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรปี 2519 ขาดอายุความแล้ว เพราะโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2530 ซึ่งเกินกว่า 10 ปีแล้ว เห็นว่า การประเมินภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีประจำปี 2519เจ้าพนักงานประเมินได้แจ้งจำนวนเงินภาษีที่ประเมินไปยังจำเลย เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2520 และวันที่ 6 กันยายน 2522 ตามลำดับ ปรากฏตามสำเนาหนังสือเอกสารหมาย จ.20 จ. 23 และ จ.31 อันมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173นับแต่วันที่แจ้งดังกล่าวจนถึงวันฟ้องยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในหนี้ค่าภาษีอากรปี 2519 จึงไม่ขาดอายุความเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยเป็นหนี้ค่าภาษีอากรโจทก์ไม่น้อยกว่า 500,000 บาท เป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนและจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดจึงชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.