คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5606/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 โดยอาศัยยอดหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ซึ่งผนวกหนี้นอกเหนือความรับผิดของจำเลยที่ 2 เข้าไว้ด้วยและคิดดอกเบี้ยทบต้นตลอดมา ทำให้ไม่อาจหยั่งทราบได้ว่าจำเลยที่ 2เป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าใด แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความนั้น เป็นการใช้อำนาจตามป.วิ.พ. มาตรา 148(3) แม้จำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้เรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไว้ แต่เมื่อศาลเห็นว่าจะต้องยกฟ้องโจทก์เพราะเหตุอื่นแล้วย่อมมีอำนาจที่จะไม่วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยและแม้จะวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ก็ถือว่าศาลยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีที่ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่เพียงใด โจทก์ย่อมจะนำคดีมาฟ้องเพื่อให้ศาลชี้ขาดในประเด็นดังกล่าวได้ ไม่ถือเป็นฟ้องซ้ำ คำพิพากษาศาลชั้นต้นหาขัดต่อ ป.วิ.พ.มาตรา 141(4) (5), 142 และ 148 ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีและสัญญาจำนอง กับบังคับจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ตามสัญญาค้ำประกัน ให้ร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองของจำเลยที่ ๑ ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้แก่โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ดอกเบี้ยขาดอายุความและจำเลยที่ ๑ ยังมิได้รับการบอกกล่าวบังคับจำนอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ทำสัญญาค้ำประกันตามฟ้องบางฉบับเท่านั้น จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ในส่วนที่จำเลยที่ ๒ ค้ำประกันครบถ้วนแล้ว โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๒ รับผิดในหนี้ซึ่งจำเลยที่ ๒มิได้ค้ำประกันไว้ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและโจทก์คิดดอกเบี้ยไม่ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ ๓ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินให้โจทก์โดยให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดต่อโจทก์เป็นบางส่วน หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาด หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์จนครบตามจำนวนซึ่งแต่ละคนจะต้องรับผิด และให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ โดยไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่าจำเลยที่ ๒ ให้การไว้ด้วยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม และศาลชั้นต้นก็ได้กำหนดประเด็นนี้ไว้แล้ว แต่ศาลล่างทั้งสองกลับพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยยังมิได้วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๑(๔) (๕) และมาตรา ๑๔๒ เพราะคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ และถ้าหากศาลพิพากษาว่าฟ้องโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๒ เคลือบคลุม โจทก์จะนำคดีมาฟ้องใหม่อีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้ำ เพราะถือว่าศาลได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีแล้ว คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองจึงขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๘ ด้วยนั้น เห็นว่าในกรณีที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ยกฟ้องโจทก์นั้น มาตรา ๑๔๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งบัญญัติให้อำนาจศาลที่จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยสั่งไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ได้ภายในอายุความ คดีนี้ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๒ มีความรับผิดในหนี้ตามสัญญาค้ำประกันรายที่โจทก์ฟ้องเป็นเงินเท่าใดเป็นแต่วินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ ๒ รับผิดร่วมกับจำเลยที่ ๑โดยอาศัยยอดหนี้ตามบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ ๑ ซึ่งผนวกหนี้ที่นอกเหนือความรับผิดของจำเลยที่ ๒ เข้าไว้ด้วยและคิดดอกเบี้ยทบต้นตลอดมา จึงไม่อาจหยั่งทราบได้ว่าจำเลยที่ ๒ เป็นหนี้โจทก์จำนวนเท่าใด แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๒ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ด้วยว่าไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความจึงเป็นการใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา๑๔๘(๓) แม้จำเลยที่ ๒ จะให้การต่อสู้เรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมไว้ แต่เมื่อศาลเห็นว่าจะต้องยกฟ้องโจทก์เพราะเหตุอื่นแล้วศาลก็มีอำนาจที่จะไม่วินิจฉัยประเด็นดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัย และกรณีนี้ถึงแม้จะวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ก็ถือว่าศาลยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดประเด็นแห่งคดีที่ว่าจำเลยที่ ๒ จะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่เพียงใด โจทก์ย่อมจะนำคดีมาฟ้องเพื่อให้ศาลชี้ขาดในประเด็นข้อนี้ได้ ไม่ถือว่าเป็นฟ้องซ้ำ ดังนั้น คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองจึงหาขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๑(๔) (๕),๑๔๒ และ ๑๔๘ ไม่
พิพากษายืน.

Share