แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่เครื่องหมายการค้าคำว่า FOX-D เครื่องหมายการค้า และ ของโจทก์ร่วมได้มีการจดทะเบียนในประเทศไทยโดยชอบแล้วมาตั้งแต่ปี 2513 ปี 2518 และปี 2536 โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้มีสิทธิเพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสามดังกล่าวสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทย ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 44 หากบุคคลอื่นเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมดังกล่าวไปใช้กับสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมโดยชอบแล้ว ก็ย่อมมีความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนของโจทก์ร่วม หรือถ้าได้มีการจัดทำเครื่องหมายการค้าขึ้นโดยการดัดแปลงแก้ไขให้คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนของโจทก์ร่วมเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมแล้ว ก็ย่อมมีความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมได้
เมื่อขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้จนถึงเวลาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษา พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 114 เดิมยังมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ได้มีการแก้ไขบทบัญญัติมาตรา 114 ดังกล่าวโดย พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 มาตรา 25 จึงเป็นกรณีที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 114 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับมาตรา 114 ที่แก้ไขใหม่ และปรากฏว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดมากกว่ากฎหมายเดิม เพราะตามมาตรา 114 เดิม โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์เพียงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้กระทำความผิดเท่านั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการและผู้แทนของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ต้องรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ด้วย หน้าที่พิสูจน์ให้พ้นความผิดจึงตกอยู่แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่ตามมาตรา 114 ที่แก้ไขใหม่หน้าที่พิสูจน์ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดตกอยู่แก่โจทก์ซึ่งต้องพิสูจน์ว่าการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 เกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงจะต้องรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น กรณีจึงต้องใช้บทบัญญัติมาตรา 114 ที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้กระทำความผิดทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3
แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า สินค้าที่จำเลยทั้งสามผลิตโดยใช้เครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมจะไม่มีการวางจำหน่ายในประเทศไทยโดยจำเลยทั้งสามส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศทั้งหมดก็ตาม แต่เจตนาพิเศษที่จำเลยทั้งสามได้กระทำขึ้นเพื่อให้ประชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมนั้น เป็นเจตนาพิเศษของจำเลยทั้งสามที่เกิดขึ้นเมื่อจำเลยทั้งสามเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม อันเป็นผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า เมื่อมีผู้พบเห็นแล้วจะได้หลงเชื่อในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทั้งสามได้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม
คำว่า “ประชาชน” ตามความหมายในมาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 หมายถึงบุคคลอื่นโดยทั่วๆ ไปเท่านั้น ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นคนใดคนหนึ่งหรือเป็นคนไทยหรือคนต่างประเทศแต่อย่างใด หากได้เคยเห็นหรือเคยรู้ว่าเครื่องหมายการค้า BOSNY เป็นของโจทก์ร่วมแล้วได้มาเห็นเครื่องหมายการค้าที่เป็นรูปและคำว่า BOTNY ก็ทำให้หลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษครบองค์ประกอบความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ตามมาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 แล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๘, ๑๐๙, ๑๑๐ และ ๑๑๕ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓, ๘๓ และ ๙๑ ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณานายประชา พันธ์อุทัยวัฒน์ ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางอนุญาต
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๘, ๑๐๙, ๑๑๐ (ที่ถูกเป็นมาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘, มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๙) และ ๑๑๕ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒, ๓๓,๘๓ และ ๙๑ เป็นความผิด ๓ กรรม ต่างกัน ฐานร่วมกันปลอมเครื่องหมายการค้าคำว่า FOX-D ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๖ เดือน ฐานเลียนเครื่องหมายการค้าที่เป็นรูปและคำว่า BOSNY ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑ จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท และลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๖ เดือน และฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า FOX-D ปลอม หรือเลียนเครื่องหมายการค้าที่เป็นรูปและคำว่า BOSNY ลงโทษปรับจำเลยที่ ๑จำนวน ๒๐๐,๐๐๐ บาท และลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๖ เดือน รวมเป็นโทษปรับจำเลยที่ ๑ จำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๑ ปี ๖ เดือน ริบของกลาง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า _ _ _ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยชั้นนี้ตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามว่าจำเลยกระทำความผิดตามคำฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า FOX-D เครื่องหมายการค้า และ ของโจทก์ร่วมได้มีการจดทะเบียนในประเทศไทยโดยชอบแล้วมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๓ ปี ๒๕๑๘ และปี ๒๕๓๖ ตามลำดับ ตามทะเบียนแบบเครื่องหมายการค้าเอกสารหมาย จ.๒ จ.๓ และ จ.๕ ดังนั้นโจทก์ร่วมจึงเป็นผู้มีสิทธิเพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าทั้งสามดังกล่าวสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๔๔ หากบุคคลอื่นเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมดังกล่าวไปใช้กับสินค้านั้น โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมโดยชอบแล้ว ก็ย่อมมีความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนของโจทก์ร่วม หรือถ้าได้มีการจัดทำเครื่องหมายการค้าขึ้นโดยการดัดแปลงแก้ไขให้คล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนของโจทก์ร่วมเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมแล้ว ก็ย่อมมีความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมได้ การที่จำเลยที่ ๑ ได้ผลิตสินค้าสีสเปรย์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า FOX-D โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจากโจทก์ร่วม จึงถือได้ว่าจำเลยที่ ๑ ได้ปลอมเครื่องหมายการค้าคำว่า FOX-D ของโจทก์ร่วม ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ผลิตสินค้าสีสเปรย์โดยใช้เครื่องหมายการค้า
และ นั้น เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้า และ ของโจทก์ร่วมแล้ว เห็นได้ว่าการทำรูปแบบเครื่องหมายการค้า ๒ แบบ ดังกล่าวจะอยู่ในลักษณะเป็นอักษรตัว B และในวงกลมรูปไข่เหมือนกัน ตัวอักษรคำว่า BOSNY กับ BOTNY เหมือนกันถึง ๔ ตัว ต่างกันเฉพาะตัวอักษรตัวกลางเท่านั้นโดยของโจทก์ร่วมเป็นตัวอักษร S ส่วนของจำเลยที่ ๑ เป็นตัวอักษร T ซึ่งหากไม่สังเกตให้ดีจะดูคล้ายกันมาก และสำเนียงเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ ๑ คำว่า BOTNY ซึ่งอ่านว่า บอตนี ก็ใกล้เคียงกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมคำว่า BOSNY ซึ่งอ่านว่า บอสนี จนอาจทำให้ประชาชนสับสนและหลงเชื่อว่าสินค้าของจำเลยทั้งสามเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมได้ จึงถือได้ว่าเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย จำเลยที่ ๑ ย่อมมีความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนของบุคคลอื่น ฐานเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนของบุคคลอื่น และฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวปลอมและเลียน ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๐๘, ๑๐๙, ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ และ ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๙ ตามคำฟ้อง สำหรับปัญหาว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ได้ร่วมกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่นั้น ปัญหานี้ ปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.๙ หรือ จร.๒๑ ว่า บริษัทจำเลยที่ ๑ มีเพียงจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ เท่านั้นที่เป็นกรรมการและกรรมการ ๑ คน ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ ๑ มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ ๑ ได้ กับปรากฏว่าขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๓๘ โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกระทำความผิดเมื่อระหว่างวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๓๖ ถึงวันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๖ และศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษา เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๓ พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๔ ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นบัญญัติว่า “ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตินี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น” แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ปรากฏว่าได้มีการแก้ไขบทบัญญัติมาตรา ๑๑๔ ดังกล่าวโดยพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๒๕ และให้ใช้ข้อความใหม่แทนว่า “มาตรา ๑๑๔ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการ การกระทำหรือไม่สั่งการ หรือไม่กระทำการอันเป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำของกรรมการผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นๆ ด้วย” ดังนี้ เป็นกรณีที่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๔ เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับ มาตรา ๑๑๔ ที่แก้ไขใหม่ และปรากฏว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดมากกว่ากฎหมายเดิม เพราะตามมาตรา ๑๑๔ เดิมโจทก์มีหน้าที่พิสูจน์เพียงว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้กระทำความผิดเท่านั้น จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งเป็นกรรมการและผู้แทนของบริษัทจำเลยที่ ๑ ก็ต้องรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้รู้เห็นหรือยินยอมในการกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑ ด้วย หน้าที่พิสูจน์ให้พ้นความผิดจึงตกอยู่แก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ แต่ตามมาตรา ๑๑๔ ที่แก้ไขใหม่หน้าที่พิสูจน์ว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กระทำความผิดตกอยู่แก่โจทก์ซึ่งต้องพิสูจน์ว่าการกระทำความผิดของจำเลยที่ ๑ เกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงจะต้องรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น กรณีจึงต้องใช้บทบัญญัติมาตรา ๑๑๔ ที่แก้ไขใหม่ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ผู้กระทำความผิด ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ เมื่อจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นกรรมการและมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ ๑ ในประเทศไทยและเป็นผู้สั่งการกับควบคุมดูแลการผลิตสีสเปรย์ของบริษัทจำเลยที่ ๑ โดยรู้อยู่แล้วว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า FOX-D และที่เป็นรูปและคำว่า BOSNY เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าสีสเปรย์แล้ว จำเลยที่ ๒ จึงมีความผิดและต้องรับโทษสำหรับความผิดที่บริษัทจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้กระทำ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๔ ที่แก้ไขใหม่ ส่วนจำเลยที่ ๓ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ ทราบดีว่าโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า FOX-D และที่เป็นรูปและคำว่า BOSNY ซึ่งได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าสีสเปรย์ในประเทศไทย พฤติการณ์ของจำเลยที่ ๓ จากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมดังกล่าวจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๒ ในคดีนี้ด้วย ส่วนที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์อ้างว่า จำเลยทั้งสามเป็นเพียงผู้รับจ้างผลิตสีสเปรย์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า FOX-D จากห้างกั่นทงเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และผลิตสีสเปรย์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่เป็นรูปและคำว่า BOTNY จากบริษัทยูโรเปียน เอเชีย เทรดดิ้ง จำกัด ที่เมืองฮ่องกง ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนแล้ว จำเลยทั้งสามไม่มีเจตนาที่จะทำปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม เพราะไม่เคยทราบว่าโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า FOX-D และ BOSNY มาก่อนนั้น ไม่อาจรับฟังให้จำเลยทั้งสามพ้นผิดได้ เมื่อจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รู้มาก่อนที่จะจัดตั้งบริษัทจำเลยที่ ๑ เพื่อผลิตสินค้าสีสเปรย์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า FOX-D และที่เป็นรูปและคำว่า BOTNY ว่าโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า FOX-D และที่เป็นรูปและคำว่า BOSNY ที่ได้จดทะเบียนไว้โดยชอบในประเทศไทยแล้ว อีกประการหนึ่ง หากจำเลยทั้งสามรับจ้างห้างกั่นทงผลิตสินค้าสีสเปรย์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า FOX-D และรับจ้างบริษัทยูโรเปียน เอเชีย เทรดดิ้ง จำกัด ผลิตสินค้าสีสเปรย์ซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าที่เป็นรูปและคำว่า BOTNY แล้วที่กระป๋องสีสเปรย์ก็ต้องระบุชื่อห้างกั่นทงหรือบริษัทยูโรเปียน เอเชีย เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ว่าจ้างว่าเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ แต่ตามสินค้าสีสเปรย์บรรจุกระป๋องที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า FOX-D วัตถุพยานหมาย วจร.๔ และสินค้าสีสเปรย์บรรจุกระป๋องที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่เป็นรูปและคำว่า BOTNY วัตถุพยานหมาย วจ.๓ กลับระบุชื่อจำเลยที่ ๑ คือ BOSNY LONDON CHEMICALS เป็นเจ้าของผู้ผลิตเสียเอง เช่นนี้ จึงเป็นการแสดงให้เห็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยทั้งสามมีเจตนาปลอมเครื่องหมายการค้า FOX-D และเลียนเครื่องหมายการค้า และ ของโจทก์ร่วม ซึ่งได้จดทะเบียนแล้วในประเทศไทยดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อไปอีกว่า ความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา ๑๐๙ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ นั้น นอกจากเจตนาทั่วไปการกระทำผิดแล้ว ยังต้องปรากฏว่ามีเจตนาพิเศษคือเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นด้วย ซึ่งคำว่า “ประชาชน” นั้น หมายถึง “ประชาชนคนไทย” แต่ตามข้อเท็จจริงในคดีได้ความว่า เมื่อจำเลยทั้งสามผลิตสินค้าสีสเปรย์ที่ใช้เครื่องหมายการค้า และ แล้ว จำเลยทั้งสามส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศทั้งสิ้น จึงไม่ใช่เป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม เพื่อให้ประชาชนคนไทยหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมการกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นการขาดเจตนาพิเศษนั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า สินค้าสีสเปรย์ที่จำเลยทั้งสามผลิตโดยใช้เครื่องหมายการค้า BOTNY ตามวัตถุพยานหมาย วจร.๓ ซึ่งเป็นการเลียนเครื่องหมายการค้าที่เป็นรูปและคำว่า BOSNY ของโจทก์ร่วมจะไม่มีการวางจำหน่ายในประเทศไทย โดยจำเลยทั้งสามส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศทั้งหมดก็ตาม แต่เจตนาพิเศษที่จำเลยทั้งสามได้กระทำขึ้นเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมนั้น เป็นเจตนาพิเศษของจำเลยทั้งสามที่เกิดขึ้นเมื่อจำเลยทั้งสามเลียนเครื่องหมายการค้าที่เป็นรูปและคำว่า BOSNY ของโจทก์ร่วม อันเป็นผลที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า เมื่อมีผู้พบเห็นแล้วจะได้หลงเชื่อในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยทั้งสามได้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมดังกล่าวนั้น ดังนั้น คำว่า “ประชาชน” ตามความหมายในมาตรา ๑๐๙ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ จึงหมายถึงบุคคลอื่นโดยทั่วๆ ไปเท่านั้น ไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นคนใดคนหนึ่งหรือเป็นคนไทยหรือคนต่างประเทศแต่อย่างใด หากได้เคยเห็นหรือเคยรู้ว่าเครื่องหมายการค้า BOSNY เป็นของโจทก์ร่วมแล้วได้มาเห็นเครื่องหมายการค้าที่เป็นรูปและคำว่า BOTNY ก็ทำให้หลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม ย่อมถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษครบองค์ประกอบความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่น ตามมาตรา ๑๐๙ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ แล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น_ _ _
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรปลอม ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา ๑๐๘ ตามมาตรา ๑๑๐ วรรคท้าย และมีความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๙ ซึ่งต้องระวางโทษตามมาตรา ๑๐๙ ตามมาตรา ๑๑๐ วรรคท้าย แต่เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๑๑๐ (๑) ประกอบมาตรา ๑๐๘ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ให้ปรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ในความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรคนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง ฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรคนละ ๑๐๐,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง ฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรปลอมคนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง รวมปรับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๕๐๐,๐๐๐ บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ไว้คนละ ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๕๖ หากจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ ส่วนจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ หากไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙ และ ๓๐ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง