คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13876/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2517 มาตรา 4 ได้บัญญัตินิยาม คำว่า “การฌาปนกิจสงเคราะห์” หมายความว่า กิจการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้ากันเพื่อทำการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันในการจัดการศพ หรือจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัวของบุคคลหนึ่งบุคคลใดที่ตกลงเข้ากันนั้นซึ่งถึงแก่ความตาย และมิได้ประสงค์จะหากำไรเพื่อแบ่งปันกัน ซึ่งองค์ประกอบสำคัญของการฌาปนกิจสงเคราะห์คือการตกลงเข้ากันของบุคคลหลายคนที่จะดำเนินกิจการดังกล่าวเสียก่อน จากนั้นกฎหมายจึงบัญญัติให้กิจการดังกล่าวต้องดำเนินการจดทะเบียนในรูปของฌาปนกิจสงเคราะห์ โดยมีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียนตามมาตรา 50 เพื่อเป็นการควบคุมการดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งเป็นกิจการสาธารณประโยชน์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ก. ความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยเก็บค่าสมาชิกคนละ 2,000 บาท และเก็บเงินค่าช่วยเหลือจัดการศพจากสมาชิกศพละ 20 บาท โดยจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ใช้ชื่อว่า “ฌาปนกิจสงเคราะห์บ้านท่าช้าง” โดยมิได้จดทะเบียนเป็นสมาคมหรือขึ้นทะเบียนการฌาปนกิจสงเคราะห์ตามกฎหมาย กับบรรยายฟ้องในข้อ ข. สรุปว่าจำเลยทั้งสองได้แสดงต่อประชาชนด้วยคำพูดว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันก่อตั้งฌาปนกิจสงเคราะห์ใช้ชื่อว่า ฌาปนกิจสงเคราะห์บ้านท่าช้าง โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้จัดตั้งหรือก่อตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ดังกล่าวขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีเจตนาที่จะนำเงินที่ได้รับจากสมาชิกไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง และโดยการหลอกลวงนั้นจำเลยทั้งสองจึงได้ทรัพย์สินจากผู้เสียหายหลายรายที่หลงเชื่อ ชำระเงินเพื่อเป็นค่าสมาชิกและค่าจัดการศพ จากการบรรยายฟ้องดังกล่าวจะเห็นได้ว่า จำเลยทั้งสองเพียงแต่ใช้ข้ออ้างดังกล่าวหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ เพื่อให้ได้เงินที่ประชาชนจ่ายให้แก่จำเลยทั้งสองในรูปแบบที่เรียกว่าค่าสมัครสมาชิกและค่าจัดการศพเท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงมิได้มีเจตนาที่จะดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์อันเป็นองค์ประกอบความผิดข้อหาดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยไม่ได้จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนตามกฎหมายตามคำขอให้ลงโทษของโจทก์แต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2517 มาตรา 50

ย่อยาว

ย่อยาวคำพิพากษาฎีกาที่ 13876/2555
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑, ๓๔๓, ๙๑ พระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๔, ๘, ๕๐ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายแต่ละคนตามบัญชีจำนวนเงินที่ผู้เสียหายแต่ละคนถูกฉ้อโกงท้ายฟ้อง รวมเป็นเงิน
ทั้งสิ้น ๑,๐๘๗,๑๘๐ บาท
จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพ ส่วนจำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ วรรคแรก, ๘๓ พระราชบัญญัติการฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๑๗ มาตรา ๕๐ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน จำคุกคนละ ๕ ปี ฐานร่วมกันดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยผิดกฎหมาย จำคุกคนละ ๓ ปี จำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพในความผิดฐานร่วมกันดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยผิดกฎหมาย เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้เฉพาะความผิดฐานร่วมกันดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยผิดกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๑ ปี ๖ เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๖ ปี ๖ เดือน
จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๘ ปี ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายแต่ละคนตามบัญชีจำนวนเงินที่ผู้เสียหายแต่ละคนถูกฉ้อโกงตามเอกสารท้ายฟ้องรวมเป็นเงิน ๑,๐๘๗,๑๘๐ บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน จำคุก ๓ ปี ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยผิดกฎหมาย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีประเด็นต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า คำฟ้องของโจทก์ข้อ ก. ในความผิดฐานร่วมกันดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยผิดกฎหมายนั้นขาดองค์ประกอบความผิดหรือไม่
เห็นว่า องค์ประกอบสำคัญของการฌาปนกิจสงเคราะห์คือการตกลงเข้ากันของบุคคลหลายคนที่จะดำเนินกิจการดังกล่าวเสียก่อน จากนั้นกฎหมายจึงบัญญัติให้กิจการดังกล่าวต้องดำเนินการจดทะเบียนใน
รูปของฌาปนกิจสงเคราะห์ โดยมีบทกำหนดโทษสำหรับผู้ที่ดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยมิได้จดทะเบียนตามมาตรา ๕๐ เพื่อเป็นการควบคุมการดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ซึ่งเป็นกิจการสาธารณประโยชน์ให้เป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย แต่โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ ข. ถึงพฤติการณ์ฉ้อโกงของจำเลยทั้งสองสรุปได้ว่า จำเลยทั้งสองได้แสดงต่อประชาชนด้วยคำพูดว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันก่อตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ใช้ชื่อว่า “ฌาปนกิจสงเคราะห์บ้านท่าช้าง” โดยจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิก ซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้จัดตั้งหรือก่อตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ดังกล่าวขึ้นโดยถูกต้องตามกฎหมาย และไม่มีเจตนาที่จะนำเงินที่ได้รับจากสมาชิกไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง และโดยการหลอกลวงนั้นจำเลยทั้งสองจึงได้ทรัพย์สินเป็นเงินจากผู้เสียหายหลายรายที่หลงเชื่อชำระเงินเพื่อเป็นค่าสมัครสมาชิก และค่าจัดการศพตามที่จำเลยทั้งสองกล่าวอ้าง จากการบรรยายฟ้องของโจทก์ในข้อ ก.
และ ข. นั้น เกิดเหตุในวันเวลาเดียวกันและเห็นได้ว่าเป็นพฤติการณ์เดียวกันของจำเลยทั้งสองซึ่งใช้คำพูดที่เป็นเท็จแก่ประชาชนว่าจำเลยทั้งสองดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ถูกต้องตามกฎหมาย ความจริงแล้วจำเลยทั้งสองไม่ได้จัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ดังกล่าวแต่อย่างใด และคำบรรยายฟ้องที่ว่า จำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาที่จะนำเงินที่ได้รับจากสมาชิกไปช่วยเหลือจัดการศพสมาชิกที่ถึงแก่ความตาย จึงเท่ากับว่าจำเลยทั้งสองมิได้มีเจตนาจะดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์ตามบทนิยามของกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองเพียงแต่ใช้ข้ออ้างดังกล่าวหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อ เพื่อให้ได้เงินที่ประชาชนจ่ายให้แก่จำเลยทั้งสองในรูปแบบที่เรียกว่าค่าสมาชิกและค่าจัดการศพเท่านั้น จากคำบรรยายฟ้องของโจทก์แม้จะได้บรรยายแยกความผิดในข้อหาดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยไม่ได้จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย และข้อหาฉ้อโกงไว้ต่างหากจากกันก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่าพฤติการณ์ฉ้อโกงของจำเลยทั้งสองตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์นั้น จำเลยทั้งสองมิได้มีเจตนาที่จะดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์อันเป็นองค์ประกอบความผิดในข้อหาดำเนินกิจการฌาปนกิจสงเคราะห์โดยไม่ได้จดทะเบียนหรือขึ้นทะเบียนตามกฎหมายตามคำขอให้ลงโทษของโจทก์แต่อย่างใด การที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share