แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 3 เป็นเสมียนแผนกการเงินทำหน้าที่เขียนเช็คมาช้านานแล้ว และวิธีเขียนก็มีการเว้นช่องระยะไว้ข้างหน้า ่จำนวนเงินที่เขียนไว้แล้วเช่นนี้ อยู่เสมอและไม่เคยมีเหตุเกิดขึ้น ในคราวที่เกิดเรื่องนี้ จำเลยที่ 3 ก็เขียนเช็คโดยเว้นช่องระยะไว้ข้างหน้า จำนวนเงินที่เขียนไว้แล้วทำนองเดียวกันและผ่านการตรวจตราจากเจ้าหน้าที่ชั้นรอง ๆ ผู้มีหน้าที่โดยเฉพาะมาแล้ว อีกทั้งมีหลักฐานการขอเบิกจ่ายมาถูกต้อง จึงเสนอเช็คให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายช่างผู้เชี่ยวชาญ กรมทางฯ ขณะมีงานอื่นกำลังปฏิบัติอยู่มาก และจำเลยที่ 2ซึ่งเป็นหัวหน้าแผนกการเงิน กองคลัง เช็นสั่งจ่ายและแล้วจำเลยที่ 3 นำเช็คนั้นไปเติมจำนวนเงินลงในช่องที่เว้นระยะไว้นั้ เป็นเหตุให้กรมทางฯ ต้องจ่ายเงินเกินจำนวนที่ควรต้องจ่ายจริงไป 600,000 บาท ดังนี้แม้เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 – 2 จะไม่รอบคอบแต่ถ้าเจ้าหน้าที่ธนาคารได้ปฏิบัติงานโดยชอบด้วยหน้าที่แล้ว ควรเสียหายของโจทก์ก็จะไม่เกิดขึ้น ความเสียหายของโจทก์โดยตรงเกิดจากการที่ธนาคารยอมจ่ายเงินทั้งๆ ที่เช็ครายนี้มีพิรุธในข้อที่เติมจำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวหนังสือ ซึ่งแม้พิจารณาด้วยตาเปล่าของคนธรรมดา ก็เห็นชัดหาได้เกิดโดยตรงจากการไม่รอบคอบของจำเลยที่ 1 – 2 ไม่ ดังนี้ จำเลยที่ 1 – 2 ไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินที่โจทก์ต้องเสียหายไปดังกล่าว (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2503)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ – ๒ เป็นข้าราชการสังกัดกรมทางฯ เซ็นชื่อในเช็คแทนโจทก์สั่งจ่ายเงินของกรมทางฯ โจทก์โดยประมาทขาดความระมัดระวังโดยปล่อยให้จำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกรมทางฯ เหมือนกัน เป็นผู้เขียนเช็ค เขียนจำนวนเงินเว้นช่องว่างไว้ข้างหน้า แล้วจำเลยที่ ๓ ไปเติมจำนวนเงินลงตรงช่องว่างเป็นเหตุให้ต้องจ่ายเงินออกจากบัญชีของกรมทางฯ เกินไป ๖๐๐,๐๐๐ บาท ต่อมาโจทก์ได้รับเงินคืนบางส่วน จึงขอให้พิพากษาบังคับจำเลยทั้งสามให้ช่วยกันใช้เงินแก่โจทก์ที่ยังขาดอีก รวม ๒๙๔,๖๐๕ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ – ๒ ต่อสู้ว่ามิได้เป็นผู้เขียนเช็ค เป็นแต่เพียงผู้เซ็นและได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว ไม่ได้ประมาทเลินเล่ออย่างใด
จำเลยที่ ๓ ไม่ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นเห็นว่า ความเสียหายครั้งนี้มิได้เป็นผลโดยตรงหรือผลอันใกล้ชิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๑ – ๒ แต่เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ ๓ จำเลยที่ ๑ – ๒ จึงไม่ต้องรับผิดตามนัยฎีกา ที่ ๒๘/๒๔๙๖, ๑๓๑/๒๔๙๖ และ ๕๐๒/๒๔๙๗ ฐานะของโจทก์กับจำเลยที่ ๑ – ๒ ไม่ใช่เป็นตัวการตัวแทนตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๑๒ ที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ ๑ – ๒ ทำผิดพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนศาลชั้นต้นเห็นว่า พระราชบัญญัติทางวินัย ไม่ใช่บทบัญญัติให้ต้องรับผิดทาง แพ่ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๓ ใช้เงินค่าเสียหาย ๒๙๔,๖๐๕ บาท กับดอกเบี้ย ร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ แต่ปรากฏว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๒๒๑๖/๒๔๙๘ ของศาลอาญา ศาลบังคับให้จำเลยที่ ๓ ชำระเงินที่โจทก์ยังไม่ได้คืนเป็นเงิน ๒๙๖,๑๐๕ บาท (ภายหลังโจทก์ได้รับคืนมาอีก ๑,๕๐๐ บาท) ให้โจทก์ด้วย ถ้าจะบังคับคดีเฉพาะจำนวนค่าเสียหาย ก็ให้บังคับได้แต่เฉพาะคดีเดียวเท่านั้น คำขอของโจทก์ข้ออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ ให้จำเลยที่ ๑ – ๒ ร่วมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ด้วย
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
แต่ผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ผู้นั่งพิจารณาคดีนายหนึ่งมีความเห็นแย้งว่าหลักการแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะตัวแทนที่จะต้องรับผิดต่อตัวการในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนย่อมนำมาใช้ได้จำเลยผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เซ็นเช็คสั่งจ่ายเงินแทนตัวการซึ่งไม่ได้เป็นผู้เขียนเช็คเอง ก็ควรต้องใช้ความระมัดระวังตรวจดูว่า ผู้เขียนจะไม่มีโอกาศเขียนจำเนวนเงินเติมลงไปอีกได้ จึงเห็นสมควรให้จำเลยที่ ๑ – ๒ ร่วมรับผิดใช้เงินจำนวนที่ยังไม่ได้คืนนี้ด้วย
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ ๑ – ๒ เป็นตัวแทนของโจทก์ตามหลักการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จะต้องรับผิดต่อตัวการในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนและจำเลยที่ ๑ – ๒ มีความประมาทขาดความระมัดระวัง เป็นเหตุให้เสียหายแก่โจทก์
ศาลฎีกาฟังว่า เช็ครายนี้ จำเลยที่ ๓ เป็นผู้เขียนตามหน้าที่ในตำแหน่งราชการ (เสมียนแผนกการเงิน) แล้วนำเสนอจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๑ ลงนามสั่งจ่ายพร้อมด้วยเสนอหลักฐานการขอจ่ายไปตามระเบียบราชการ จำเลยที่ ๓ ทำหน้าที่เขียนเช็คนี้มาช้านาน แต่ก่อนมาก็ไม่เคยมีเหตุเกิดขึ้น และการเว้นช่องระยะอย่างที่เกิดเหตุคราวนี้ก็มีมาเป็นปกติวิสัยในวิธีเขียนเช็คของจำเลยที่ ๓ ดังนี้ ศาลฎีกาจึงเห็นว่า ไม่น่าจะทำให้จำเลยที่ ๑ – ๒ สังเกตุเป็นพิเศษประการใด เพราะเมื่อเป็นปกติวิธีของการเขียนเช็คโดยเจ้าหน้าที่การเงินเช่นนี้แล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดที่จำทำให้ผิดสังเหตุไปอย่างใดในคราวนี้ ตามพฤติการณ์ที่รู้กันอยู่ทั่วไป ผู้บังคับบัญชาราชการชั้นสูงอย่างเช่นจำเลยที่ ๑ (นายช่างผู้เชี่ยวชาญกรมทางหลวงแผ่นดิน) ก็หาได้มีงานตามหน้าที่อยู่แต่เฉพาะการเซ็นเช็คสั่งจ่ายเงินที่มีผู้มาขอเบิกเท่านั้นไม่ จำเลยที่ ๑นำสืบไว้ตอนหนึ่งว่า ขณะเซ็นเช็ครายนี้ มีงานอื่นกำลังปฏิบัติอยู่มาก ฉะนั้น เมื่อเซ็นรายนี้ผ่านการตรวจตราจากเจ้าหน้าที่ชั้นรอง ๆ ผู้มีหน้าที่โดยเฉพาะมาแล้ว อีกทั้งมีหลักฐานการขอเบิกจ่ายมาถูกต้องแล้ว กรณีจึงเป็นที่น่าเห็นใจจำเลยที่ ๑ – ๒ อยู่ แต่ถึงกระนั้นก็ต้องถือว่าจำเลยที่ ๑ – ๒ หาได้รอบคอบดังที่ควรไม่
ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยที่ ๑ – ๒ จะไม่รอบคอบแต่ถ้าเจ้าหน้าที่ธนาคารได้ปฏิบัติงานโดยชอบด้วยหน้าที่แล้ว ควรเสียหายของโจทก์ก็จะไม่เกิดขึ้น ความเสียหายของโจทก์โดยตรงเกิดจากการที่ธนาคารยอมจ่ายเงินทั้งๆ ที่เช็ครายนี้มีพิรุธในข้อที่เติมจำนวนเงินทั้งตัวเลขและตัวหนังสือ ซึ่งแม้พิจารณาด้วยตาเปล่าของคนธรรมดา ก็เห็นชัดหาได้เกิดโดยตรงจากการไม่รอบคอบของจำเลยที่ ๑ – ๒ ไม่
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า จำเลยที่ ๑ – ๒ ไม่ต้องรับผิดชอบใช้เงินที่โจทก์ต้องเสียหายไปครั้งนี้ เมื่อเช่นนี้ ข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่า ข้าราชการกับกระทรวงทบวงกรมที่สังกัดมีฐานะเป็นตัวแทนตัวการกันหรือไม่ ก็ไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์