คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5381/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

คดีอาญาศาลชั้นต้นงดสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยตามฟ้องไม่เป็นความผิด พิพากษายกฟ้อง โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่งที่งดสืบพยาน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ แม้จะเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายก็ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 220 หากศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาดังกล่าวย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ (ฉบับที่พิมพ์ข้อความแล้ว)มีผู้พิพากษาลงนามเพียงคนเดียวก็ตาม แต่เมื่อผู้พิพากษาอีก 2 คนซึ่งเป็นองค์คณะได้ลงนามในต้นร่างคำพิพากษาแสดงว่าได้มีการร่วมประชุมปรึกษาเป็นองค์คณะแล้ว อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ได้ลงนามรับรองไว้ท้ายคำพิพากษาดังกล่าว คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเบิกความเท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 177
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นาง อารี เกษสมัย ผู้เสียหายร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้โดยไม่จำต้องสืบพยาน จึงให้งดสืบพยานโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยแล้ววินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องแม้คำเบิกความของจำเลยทั้งสองเป็นเท็จก็ไม่เป็นข้อสำคัญในคดี การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์คำสั่งที่งดสืบพยานและอุทธรณ์คำพิพากษา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17)พ.ศ. 2532 มาตรา 13 แม้จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีผู้พิพากษาลงนามเพียง 1 นาย อีก 2 นายมิได้ลงนามจึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์อีก 2 นายนั้นได้ลงนามในต้นร่างคำพิพากษาแล้วแต่ได้ย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่นเสียก่อนที่จะลงลายมือชื่อในคำพิพากษาฉบับนี้ ดังบันทึกของอธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อท้ายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงได้มีการร่วมปรึกษาครบองค์คณะตามกฎหมายแล้วเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมาย”
พิพากษายกฎีกาโจทก์ร่วม

Share