แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การครอบครองทรัพย์มรดกจะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วยหรือไม่ ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดีว่า พฤติการณ์ใดบ้างที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยครอบครองทรัพย์มรดก แทนทายาทอื่นหรือครอบครองเพื่อตนเอง เพราะไม่มีกฎหมาย สนับสนุนว่าใครครอบครองทรัพย์มรดกแล้วถือว่าครอบครองแทนทายาท อื่น เมื่อเจ้ามรดกตายตั้งแต่ปี 2525 โจทก์มาฟ้องเมื่อปี 2530 เกิน 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นบุตรของนายมาก นางหยวก คเชนทร นายมาก นางหยวกถึงแก่กรรมเมื่อเดือนเมษายน 2525 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ โจทก์ทั้งสามและจำเลยมีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกคนละหนึ่งในสี่ส่วน นายมาก นางหยวกมีที่ดินโฉนดเลขที่ 1106 เนื้อที่ 19 ไร่ 1 งาน 12 ตารางวา ซึ่งเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยคนละ 4 ไร่ 3 งาน 28 ตารางวา คิดเป็นเงินที่จะได้คนละ 19,280 บาท กับโฉนดที่ดินเลขที่ 1290 เนื้อที่ 1 งาน29 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 8 ซึ่งจะได้ที่ดินคนละ 32 ตารางวาคิดเป็นเงินทั้งบ้านและที่ดินคนละ 10,320 บาท แต่จำเลยไม่ยอมแบ่งให้ขอให้จำเลยแบ่งที่ดินและบ้านมรดกตามฟ้องให้แก่โจทก์ทั้งสามตามส่วน
จำเลยให้การว่า โจทก์ทั้งสามแต่งงานแยกครอบครัวออกไปอยู่ต่างหากบิดามารดายกที่ดินและทรัพย์สินให้โจทก์ทุกคนเมื่อแต่งงานจนเหลือจำเลยอยู่กับบิดามารดาเพียงคนเดียว จำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่สหกรณ์แทนบิดา บิดามารดาจึงยกที่ดินโฉนดเลขที่ 1106 กับบ้านเลขที่ 8ซึ่งปลูกบนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยตั้งแต่ปี 2518 ทรัพย์สินดังกล่าวจึงมิใช่ทรัพย์มรดกที่จะต้องนำมาแบ่งให้แก่โจทก์ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามและจำเลยเป็นบุตรนายมากและนางหยวก คเชนทร โจทก์ทั้งสามได้แต่งงานและแยกไปอยู่ต่างหาก ส่วนจำเลยได้อยู่กับนายมากและนางหยวกจนนายมากและนางหยวกถึงแก่ความตายเมื่อเดือนเมษายน 2525 มีทรัพย์มรดกคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 1106 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้องจังหวัดสุพรรณบุรี และที่ดินโฉนดเลขที่ 1290 ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมด้วยบ้านเลขที่ 8 ซึ่งปลูกบนที่ดินดังกล่าว เมื่อนายมากและนางหยวกตายแล้ว จำเลยก็ได้อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 8 และทำกินในที่ดินดังกล่าวตลอดมา เมื่อวันที่1 มิถุนายน 2525 โจทก์ทั้งสามและจำเลยเคยไปยื่นเรื่องราวขอรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 1106 พนักงานเจ้าหน้าที่ได้บันทึกการสอบสวนของจดทะเบียนโอนมรดก แต่เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้จำเลยส่งโฉนดที่ดินเพื่อจดทะเบียน จำเลยไม่ยอมส่ง โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทั้งสามจะเอามรดกเป็นของตนเอง เพราะในชั้นต้นที่ยื่นเรื่องราวโจทก์ทั้งสามจะรับมรดกมาแล้วยกให้จำเลยทั้งหมด แต่ต่อมาโจทก์ทั้งสามไม่ยอมยกให้จำเลย จำเลยจึงไม่ยอมส่งโฉนดเพื่อทำการจดทะเบียนแบ่งมรดก พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ยกคำขอของโจทก์ทั้งสามและจำเลย และเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2426 โจทก์ที่ 1 ได้ร้องเรียนต่อนายอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ว่าจำเลยไม่ยอมแบ่งทรัพย์มรดกให้ จำเลยอ้างว่าบุตรคนอื่นของผู้ตายไม่มีสิทธิได้รับมรดกคู่กรณีตกลงกันไม่ได้ นายอำเภอแนะนำให้นำคดีมาสู่การพิจารณาของศาลโจทก์ทั้งสามจึงได้ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2530
ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามมีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามฎีกาว่า เมื่อเจ้ามรดกตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ ทรัพย์ดังกล่าวย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาททุกคน โจทก์ทั้งสามมิได้สละมรดก เมื่อจำเลยครอบครองทรัพย์มรดกถือว่าครอบครองแทนทายาททุกคน เห็นว่า การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกถือว่าครอบครองแทนทายาททุกคน เห็นว่า การที่จำเลยครอบครองทรัพย์มรดกจะเป็นการครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วยหรือไม่ย่อมแล้วแต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในแต่ละคดีว่าพฤติการณ์ใดบ้างที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่นหรือครอบครองเพื่อตนเองเพราะไม่มีกฎหมายสนับสนุนว่าใครครอบครองทรัพย์มรดกแล้วถือว่าครอบครองแทนทายาทอื่นดังที่โจทก์ทั้งสามฎีกาส่วนข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่าจำเลยครอบครองทรัพย์มรดกแทน เนื่องจากโจทก์ทั้งสามมิได้สละมรดก โจทก์ทั้งสามเคยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์บางส่วนในทรัพย์มรดก ทั้งเคยเสียภาษีบำรุงท้องที่หลังจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยโจทก์ทั้งสามนำสืบว่าเคยออกเงินเสียภาษีบำรุงท้องที่ และโจทก์ที่ 1 เคยไปตัดไม้ไผ่ที่แนวรั้วทรัพย์มรดก ส่วนจำเลยนำสืบว่าได้เสียภาษีบำรุงท้องที่เองตลอดมาตามเอกสารหมาย ล.2-ล.8 และโจทก์ที่ 1 เคยไปตัดไม้ไผ่เมื่อตอนที่นายมากนางหยวกยังมีชีวิตอยู่จริงตามหลักฐานดังกล่าวโจทก์เบิกความมาลอย ๆ ว่าเคยเสียภาษีบำรุงท้องที่แต่หลักฐานใบเสร็จรับเงินในการเสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินมรดกตั้งแต่ปี 2525-2530 ปรากฏว่านายมนัส ผดุงสุข สามีของจำเลยเป็นผู้เสียตลอดมาข้ออ้างของโจทก์ทั้งสามไม่น่าเชื่อถือ ส่วนที่โจทก์ที่ 1 เคยไปตัดไม้ไผ่ริมแนวเขตรั้วทรัพย์มรดก นางประหยัดใจงามดี พยานโจทก์เบิกความว่าเคยเห็นครั้งเดียวแม้จะไปตัดไม้ไผ่จริงตามที่โจทก์ที่ 1 อ้าง ก็ไม่เป็นข้อสนับสนุนว่าจำเลยครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ทั้งสาม และพฤติการณ์อีกประการหนึ่งที่โจทก์ทั้งสามและจำเลยเคยไปยื่นคำขอรับมรดกเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 1106ตำบลบ้านกุ่ม อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี โจทก์ทั้งสามมิได้ฎีกาอ้างมาเป็นเหตุว่ากรณีเช่นนี้เป็นพฤติการณ์ที่จำเลยครอบครองแทนโจทก์ทั้งสาม แต่กลับปรากฏจากข้อนำสืบของจำเลยว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแต่ผู้เดียวโดยมิได้ครอบครองแทนโจทก์ทั้งสามเมื่อจำเลยจะไปขอรับมรดก พนักงานเจ้าหน้าที่บอกให้ทายาทอื่นสละมรดกจำเลยจึงให้โจทก์ทั้งสามไปยื่นขอรับมรดกด้วย และเมื่อได้รับแล้วโจทก์ทั้งสามจะโอนให้จำเลย แต่หลังจากยื่นเรื่องราวแล้ว โจทก์ทั้งสามจะเอาทรัพย์มรดกเป็นของตนเอง จำเลยจึงไม่ยอมส่งโฉนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อจดทะเบียนรับมรดกจนพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องยกคำขอ เมื่อโจทก์ที่ 1 ให้นายอำเภอเปรียบเทียบ จำเลยอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิรับมรดก การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยมิได้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนโจทก์ทั้งสาม แต่เป็นการครอบครองเพื่อจำเลยเอง เมื่อเป็นเช่นนี้การที่เจ้ามรดกตายตั้งแต่ปี 2525โจทก์ทั้งสามฟ้องเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2530 เกิน 1 ปี คดีโจทก์ขาดอายุความ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ห้ามมิให้โจทก์ฟ้องคดีมรดก เมื่อกฎหมายห้ามมิให้โจทก์ฟ้องแล้ว ฎีกาข้ออื่นนอกจากนี้ไม่จำต้องวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.