คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2107/2532

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้รับขนส่งข้าวสารจากองค์การคลังสินค้าไปลงเรือที่อ่าวไทยเพราะเรือที่จำเลยที่ 1ใช้บรรทุกข้าวสารชนกับเรือของจำเลยที่ 2 จนจมลงและข้าวสารเสียหาย โดยโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่องค์การคลังสินค้าผู้เอาประกันภัยแล้ว จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้เพียงว่า เมื่อจำเลยที่ 1 รับจ้างขนส่งข้าวสารก็ได้ว่าจ้างจำเลยร่วมทำการขนส่งช่วง และข้าวสารสูญหายเพราะเรือชนกันเป็นความประมาทของเรือของจำเลยที่ 2 ประเด็นพิพาทจึงมีเพียงว่า เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 กับจำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ จำเลยที่ 1 มิได้ยกเหตุสุดวิสัยขึ้นปฏิเสธความรับผิดแต่อย่างใด ดังนั้นแม้จะฟังว่าข้าวสารเสียหายเพราะความประมาทของผู้ควบคุมเรือของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ขนส่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 และ 618

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยข้าวสารชนิดเอวันเลิศ จำนวน5,000 กระสอบ ซึ่งจะส่งไปต่างประเทศจากองค์การคลังสินค้า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างขนส่งข้าวสารดังกล่าวจากองค์การคลังสินค้าโดยใช้เรือบรรทุก ระหว่างการขนส่ง เมื่อเรือแล่นออกจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ประมาณ 10 กิโลเมตร ก็เกิดชนกับเรือขุดสันดอน 6ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองและใช้ โดยมีนายลำยองหวานฤดี และนายวิศิษฐ์ หิรัญยรัตน์ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือท้ายและต้นหนเรือ เหตุชนกันเกิดขึ้นเพราะความประมาทของเรือสันดอน 6 การกระทำของผู้ควบคุมเรือสันดอน 6เป็นไปโดยประมาทและกระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของจำเลยที่ 2 ขอศาลบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินดังกล่าวกับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี คิดจากต้นเงิน 2,168,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อจำเลยที่ 1 รับจ้างขนส่งข้าวสารจากองค์การคลังสินค้าแล้วก็ได้ว่าจ้างบริษัทสยามบาร์จเซอร์วิส จำกัด ทำการขนส่งช่วง การที่เรือชนกันเกิดเพราะความประมาทของเรือสันดอน 6 โจทก์จึงไม่มีสิทธิมาเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 2ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของเรือสันดอน 6 เหตุชนกันเกิดขึ้นทั้ง ๆ ที่เรือสันดอน 6 ซึ่งเป็นเรือกลไฟขนาดใหญ่ได้ให้สัญญาณเตือนแล้วว่าไม่สามารถหลบหลีกได้เพราะกำลังขุดลอกสันดอน จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลเรียกบริษัทสยามบาร์จเซอร์วิสจำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต จำเลยร่วมให้การว่าเหตุเรือชนกันเกิดจากความประมาทของนายวิศิษฐ์ หิรัญยรัตน์ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ซึ่งควบคุมเรือสันดอน 6 ปาดหน้าเรือลากจูงในระยะกระชั้นชิดเพื่อกลับคำขอให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมร่วมกันชำระเงิน 1,554,894 บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 15กุมภาพันธ์ 2526 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมจะชำระเสร็จสิ้นแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1และจำเลยร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้รับประกันภัยความเสียหายอันอาจจะเกิดจากการขนส่งข้าวสารชนิดเอวันเลิศ จำนวน 5,000 กระสอบ ขององค์การคลังสินค้าจากโกดังชัยยงค์ เขตราษฎร์บูรณะกรุงเทพมหานคร ไปลงเรือเซี่ยงไฮ้ซึ่งจอดอยู่บริเวณใกล้เกาะสีชัง จังหวัดชลบุรี ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.2ข้าวสารดังกล่าวคิดเป็นน้ำหนัก 500 เมตริกตัน ราคา 2,068,000 บาทองค์การคลังสินค้าได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำการขนส่งจำเลยที่ 1 มอบให้จำเลยร่วมเป็นผู้ขนส่งอีกต่อหนึ่ง จำเลยร่วมได้ว่าจ้างเรือของบริษัทรัตนสุรีย์ จำกัด มาทำการขนข้าวสารดังกล่าว คือเรือรัตนสุรีย์ 45 และ 33 เรือทั้งสองลำดังกล่าวไม่มีเครื่องยนต์ มีเรือพีแมนเป็นเรือกลไฟลากจูง ออกเดินทางจากโกดังชัยยงค์ วันที่ 15 มกราคม 2526 เวลาประมาณ 22.00 นาฬิกาเมื่อถึงเวลาประมาณ 04.00 นาฬิกา ของวันที่ 20 มกราคม 2526 ขณะที่เรือแล่นมาถึงบริเวณโค้งตำบลบางปู อำเภอเมืองสมุทรปราการจังหวัดสมุทรปราการ เรือรัตนสุรีย์ 45 ได้เกิดชนกับเรือขุดสันดอน 6 ของจำเลยที่ 2 ทำให้เรือรัตนสุรีย์ 45 จมลง เป็นเหตุให้ข้าวสารที่บรรทุกเสียหาย โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่องค์การคลังสินค้าไปแล้วเป็นจำนวนเงิน 2,068,000 บาท คดีมีปัญหาวินิจฉัยในชั้นนี้ตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าเกี่ยวกับคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในความเสียหายอันเนื่องจากการขนส่งสินค้าข้าวขององค์การคลังสินค้าจากโกดังเก็บไปลงเรือเซี่ยงไฮ้ที่อ่าวไทย ที่ได้เอาประกันภัยไว้กับโจทก์โดยโจทก์อ้างว่าได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่องค์การคลังสินค้าผู้เอาประกันภัยแล้ว จึงได้รับช่วงสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1รับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้เพียงว่า เมื่อจำเลยที่ 1รับจ้างขนส่งข้าวสารจากองค์การคลังสินค้าแล้วก็ได้ว่าจ้างจำเลยร่วมทำการขนส่งช่วง การที่ข้าวสารดังกล่าวเสียหายเกิดเพราะเรือชนกันโดยเป็นความประมาทของเรือสันดอน 6 ซึ่งจำเลยที่ 2เป็นเจ้าของแล่นตัดหน้าเรือรัตนสุรีย์ 45 อย่างกระชั้นชิดโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จึงมีประเด็นข้อโต้เถียงตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นประเด็นพิพาทว่า เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของลูกจ้างจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 1 กับจำเลยร่วมต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยไม่มีประเด็นโต้เถียงว่า สินค้าข้าวที่จำเลยที่ 1 รับขนนั้นได้เสียหายไปเนื่องจากเหตุสุดวิสัยอันจำเลยและจำเลยร่วมไม่ต้องรับผิดหรือไม่ทั้งฎีกาของจำเลยที่ 1 เองที่ปฏิเสธความรับผิดก็อ้างแต่เพียงว่าเหตุที่เรือชนกันเกิดจากลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่ควบคุมเรือสันดอน 6 ประมาทเลินเล่อขับเรือเลี้ยวกลับแล้วพุ่งเข้าชนกลางลำเรือรัตนสุรีย์ 45 ซึ่งมีเรือซีแมนลากจูงอยู่ถึงกับจมลง มิได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยร่วมหรือลูกจ้างของจำเลยร่วมแต่อย่างใด จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด โดยมิได้ยกเหตุสุดวิสัยขึ้นปฏิเสธความรับผิดแต่อย่างใด ดังนั้นถึงแม้จะฟังว่าข้าวสารดังกล่าวเสียหายเพราะความประมาทของผู้ควบคุมเรือสันดอน 6 จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ขนส่งอยู่นั่นเองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 และ 618 ฎีกาของจำเลยที่ 1ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share