คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 222-223/2509

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน(ตำรวจ) ไปจับผู้เสียหายทั้งสอง (ในข้อหาว่า ขายสลากกินรวบ) และยึดเอาเงินในตัวผู้เสียหายทั้งสอง โดยปราศจากหลักฐานหรือเหตุผลที่ควรจะจับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ และได้จูงใจให้ผู้เสียหายยอมให้เงินที่จำเลยยึดไว้แก่จำเลย แล้วจำเลยปล่อยผู้เสียหายไป การกระทำของจำเลยเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 และการที่จำเลยจับผู้เสียหายแต่ละสำนวนมาคนละที(โจทก์ฟ้องจำเลยเป็น 2 สำนวน) ในเวลาห่างกันสถานที่ที่จับก็เป็นคนละแห่ง ข้อหาที่จับแม้จะเป็นอย่างเดียวกัน แต่ก็มิได้เกี่ยวเนื่องเป็นกรณีเดียวกันจะฟังว่าคดีที่โจทก์กล่าวหาจำเลยทั้ง 2 สำนวนเป็นเรื่องเดียวกันไม่ได้ ฉะนั้น เมื่อปรากฏว่าคดีทั้ง 2 สำนวนศาลพิจารณารวมกัน ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยไปจับผู้เสียหายทั้งสองแล้วนำไปส่งสถานีตำรวจ แล้วเรียกให้ผู้เสียหายยอมให้เงินในเวลาที่พาไป ศาลล่างทั้งสองจึงวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยเรียกและรับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองจริงตามฟ้อง จึงไม่มีข้อเท็จจริงอะไรที่จะย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัย ฉะนั้นเมื่อ(ศาลชั้นต้นยกฟ้องสำนวนหลังสำนวนเดียวเห็นว่าเป็นฟ้องซ้อน)
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ และจำเลยกระทำผิดจริงก็ชอบเพียงแต่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดีเท่านั้นเพื่อให้เป็นไปตามลำดับศาล

ย่อยาว

คดี 2 สำนวนนี้ ศาลล่างพิจารณาพิพากษารวมกัน โจทก์ฟ้องข้อหาอย่างเดียวกันว่า จำเลยรับราชการเป็นพลตำรวจสมัครประจำกองตำรวจภูธร อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ แกล้งกล่าวหา นายเทศ พันธมาศ และนายเภา ดัดตุยะรัชผู้เสียหายแต่ละสำนวนว่าขายสลากกินรวบ ทำการตรวจค้นไม่ได้หลักฐานอะไร คงยึดเงินจากนายเทศ 80 บาท จากนายเภา 140 บาท ระหว่างควบคุมตัวไปส่งสถานีตำรวจ จำเลยเจรจาจูงใจว่า หากผู้เสียหายยอมให้เงินคนละ 50 บาท แก่จำเลยแล้วจะปล่อยตัวและคืนเงินที่เหลือให้ผู้เสียหายทั้งสองจำยอมให้จำเลยหักเงินไว้คนละ 50 บาท และรับเงินที่เหลือคืน แล้วจำเลยปล่อยผู้เสียหายทั้งสอง ไม่ส่งดำเนินคดี ขอให้ลงโทษตามมาตรา 148

จำเลยให้การปฏิเสธทั้งสองสำนวน

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่าจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจให้ผู้เสียหายทั้งสองมอบเงินให้แก่จำเลยจริงตามฟ้อง แต่เห็นว่าจำเลยจับผู้เสียหายทั้งสองในเวลาไล่เลี่ยกันในวันเดียวกัน นำมาควบคุมไว้ที่บ้านครูชุมพล แล้วคุมตัวไป ระหว่างทางและได้เรียกเงินจากผู้เสียหาย โดยคืนเงินบางส่วนให้ผู้เสียหายพร้อม ๆ กัน แม้ผู้เสียหายจะมี 2 คน และ สอบสวนผู้เสียหายคนละวัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวและเป็นความผิดเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องคดีแรกแล้ว จะยื่นฟ้องคดีเดียวกันต่อศาลเดียวกันหรือต่อศาลอื่นอีกไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรค 2 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 พิพากษายกฟ้องคดีหลัง ส่วนคดีแรกพิพากษาว่าจำเลยผิดมาตรา 148 จำคุก 5 ปี

โจทก์จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทำผิดจริงตามฟ้อง และไม่เป็นฟ้องซ้ำ แต่เห็นว่าศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า จำเลยได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะคดีหมายเลขดำของศาลชั้นต้นที่ 918/2507 (สำนวนหลัง) ให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีส่วนคดีดำที่ 917/2507 (สำนวนแรก) พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ชอบที่จะลงโทษจำเลยในคดีดำที่ 918/2507 (สำนวนหลัง) ได้เลย

จำเลยฎีกาข้อกฎหมายว่าเป็นฟ้องซ้ำ และฎีกาข้อเท็จจริงโดยผู้พิพากษาผู้พิจารณาคดีในศาลชั้นต้นอนุญาต

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงาน ได้ไปจับผู้เสียหายทั้ง 2 และยึดเอาเงินในตัวผู้เสียหายโดยปราศจากหลักฐานหรือเหตุผลที่ควรจะจับได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ และจำเลยได้พูดจูงใจให้ผู้เสียหายทั้ง 2 ยอมให้เงินที่จำเลยได้ยึดไว้อยู่แล้วแก่จำเลยแล้วจำเลยก็ปล่อยผู้เสียหายไปตามฟ้อง ศาลล่างพิพากษาลงโทษจำเลยชอบแล้ว

และเห็นว่า จำเลยไปจับผู้เสียหายแต่ละสำนวนมาคนละทีในเวลาห่างกัน สถานที่ที่จับก็เป็นคนละแห่ง ข้อหาที่จับแม้จะเป็นอย่างเดียวกัน แต่ก็มิได้เกี่ยวเนื่องเป็นกรณีเดียวกันแต่ประการใดจะฟังว่าคดีที่โจทก์กล่าวหาจำเลยทั้ง 2 สำนวน เป็นเรื่องเดียวกันดังฎีกาจำเลยไม่ได้ และเห็นว่า ปรากฏว่าคดีทั้ง 2 สำนวนนี้ศาลได้พิจารณารวมกันมา ข้อเท็จจริงที่นำสืบกันมาก็ได้ความทั้งสองสำนวนว่า จำเลยได้ไปจับผู้เสียหายทั้ง 2 คนมา แล้วพาไปส่งสถานีตำรวจด้วยกันแล้ว จำเลยได้เรียกให้ผู้เสียหายยอมให้เงินแก่จำเลยในเวลาที่พาไปนั้นเอง ศาลล่างทั้งสองจึงได้วินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงมาต้องกันว่า จำเลยได้เรียกและรับเงินจากผู้เสียหายทั้ง 2 คนเป็นความจริงตามที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่มีข้อเท็จจริงอะไรที่ศาลอุทธรณ์จะย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีดำที่ 918/2507 (สำนวนหลัง) อีก เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ และศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง ก็ชอบที่เพียงแต่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิพากษาใหม่ตามรูปคดีเท่านั้น เพื่อให้เป็นไปตามลำดับศาล พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีดำที่ 918/2507 (สำนวนหลัง) ใหม่ตามรูปคดี

Share