คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5330/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เงินชดเชยค่าพาหนะเหมาจ่ายแก่พนักงานที่นำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ให้แก่โจทก์ ไม่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(1) เพราะมิใช่จำนวนเงินที่พนักงานได้จ่ายเป็นค่าพาหนะไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการปฏิบัติการตามหน้าที่ของตน และได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นตามความเป็นจริงแล้วเบิกคืนจากโจทก์ตามจำนวนที่ถูกต้องตรงกันไม่เหลือเป็นประโยชน์แก่พนักงาน อย่างไรก็ดี เงินชดเชยค่าพาหนะเหมาจ่ายเฉพาะส่วนที่ไม่เกินกิโลเมตรละ 90 สตางค์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(2) โจทก์จึงมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 และ 52เฉพาะเงินชดเชยค่าพาหนะเหมาจ่ายส่วนที่เกินกิโลเมตรละ 90 สตางค์เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติหน้าที่เช่นนี้ โจทก์จึงต้องร่วมรับผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 54

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ที่ ต.6/1020/1/59412 ลงวันที่29 มีนาคม 2533 คำวินิจฉัยอุทธรณ์ เลขที่ 130/2534/1 ลงวันที่27 กุมภาพันธ์ 2534 ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ให้จำเลยคืนเงินภาษีและเงินเพิ่มจำนวน 173,961.81 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง เป็นต้นไป
จำเลยให้การว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายเลขที่ ต.6/1020/1/59412 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2533 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ตาม ภ.ส.7 เลขที่ 130/2534/1ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 ชอบด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายทุกประการ โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอคืนเงินภาษีอากรพร้อมดอกเบี้ยดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย ที่ ต.6/1020/1/59412ลงวันที่ 29 มีนาคม 2533 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 130/2534/1ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2534 ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยกับให้จำเลยคืนเงินภาษีและเงินเพิ่มจำนวน 173,961.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป คำขออื่นให้ยกเสีย
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เบื้องต้นโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า ปี พ.ศ. 2526 โจทก์ได้กำหนดระเบียบการจ่ายเงินให้แก่พนักงานของโจทก์ที่นำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ให้แก่โจทก์ไว้ตามเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 58 คือระยะทางต่อเดือน 1,000 กิโลเมตรแรก จ่ายค่าชดเชยให้กิโลเมตรละ 4.85 บาท กิโลเมตรที่ 1001 ขึ้นไปจ่ายค่าชดเชยให้กิโลเมตรละ 2.35 บาท ปี พ.ศ. 2528 โจทก์ได้จ่ายค่าชดเชยตามระเบียบดังกล่าวให้แก่พนักงานของโจทก์ไปตามรายชื่อพนักงาน ระยะทางอัตราค่าชดเชยและจำนวนเงินที่จ่ายในเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 116ถึง 121 เจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าเงินค่าชดเชยที่โจทก์จ่ายให้แก่พนักงานของโจทก์ดังกล่าวในส่วนที่เกินจากอัตรากิโลเมตรละ 90 สตางค์เป็นผลประโยชน์ที่พนักงานได้รับจากการจ้างแรงงานของโจทก์เป็นเงินได้พึงประเมินของพนักงานที่โจทก์จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 และนำส่งตามมาตรา 52 แต่โจทก์มิได้หักภาษีและนำส่งตามบทกฎหมายดังกล่าว จึงต้องร่วมรับผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 54 เมื่อนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไปรวมคิดคำนวณภาษีที่พนักงานแต่ละคนจะต้องเสียแล้ว โจทก์จะต้องร่วมรับผิดเป็นเงินค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย รวมจำนวน 93,552.39บาท เงินเพิ่มรวม 80,409.42 บาท เจ้าพนักงานประเมินจึงได้แจ้งการประเมินให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มดังกล่าว โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ แต่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการถูกต้องตามกฎหมายและชอบแล้ว ให้โจทก์นำเงินมาชำระตามการประเมิน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 40 บัญญัติว่า”เงินได้พึงประเมินนั้น คือเงินได้ประเภทต่อไปนี้ (1) เงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน ไม่ว่าเป็นเงินเดือน หรือประโยชน์ใด ๆบรรดาที่ได้เนื่องจากการจ้างแรงงาน” และมาตรา 42 บัญญัติว่า”เงินได้พึงประเมินประเภทต่อไปนี้ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ (1) ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือค่าพาหนะ ซึ่งลูกจ้างได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น (2) ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทางตามอัตราที่รัฐบาลกำหนดไว้ โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยอัตราค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง” ข้อเท็จจริงได้ความตามที่โจทก์จำเลยนำสืบโดยมิได้โต้แย้งกันว่า พนักงานของโจทก์ได้นำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้ในการปฏิบัติการตามหน้าที่ให้แก่โจทก์ตามระยะทางในช่องจำนวนกิโลเมตรในเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 116ถึง 121 และโจทก์ได้จ่ายเงินชดเชยให้แก่พนักงานของโจทก์ในการดังกล่าวไปในอัตรากิโลเมตรละ 4.85 บาท สำหรับ 1,000 กิโลเมตรแรกและอัตรากิโลเมตรละ 2.35 บาท สำหรับกิโลเมตรที่ 1001 ขึ้นไปอัตราค่าชดเชยดังกล่าวโจทก์นำมาจากการคิดคำนวณของนายกมล เสนโสฬิศพนักงานบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ซึ่งคำนวณจากข้อมูลค่าเสื่อมราคาของรถยนต์ ค่าดอกเบี้ยในการเช่าซื้อรถยนต์ ค่าภาษีประจำปีสำหรับรถ ค่าประกันภัย ค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หัวเทียนทองขาว คอนเดนเซอร์ สายพาน หม้อกรองน้ำมันเครื่อง หม้อกรองอากาศค่าน้ำมันเครื่อง น้ำมันเบรค น้ำมันเฟืองท้าย น้ำมันเกียร์ ค่ายางค่าแบตเตอรี่ ค่าซ่อมบำรุง และค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ตามรายละเอียดที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 60 ถึง 63 ดังนี้ ย่อมเห็นได้ว่าจำนวนเงินที่โจทก์จ่ายแก่พนักงานของโจทก์ไปตามวิธีการดังกล่าวนั้นมีลักษณะเป็นการจ่ายเงินชดเชยค่าพาหนะเหมาจ่ายแก่พนักงานของโจทก์ที่ได้นำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้เป็นพาหนะเดินทางไปปฏิบัติการตามหน้าที่ให้แก่โจทก์ หาใช่จำนวนเงินที่พนักงานของโจทก์ได้จ่ายเป็นค่าพาหนะไปโดยสุจริตตามความจำเป็นเฉพาะในการปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้นตามความเป็นจริงแล้วเบิกคืนจากโจทก์ตามจำนวนที่ถูกต้องตรงกันไม่เหลือเป็นประโยชน์แก่พนักงานของโจทก์อยู่อีกไม่ ฉะนั้น เงินได้ดังกล่าวที่พนักงานของโจทก์ได้รับไปจึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(1) การที่จำเลยนำระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการใช้ยานพาหนะส่วนตัวเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 ซึ่งออกโดยอนุวัตตามความในมาตรา 26 แห่งพระราชกฤษฎีกา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการ พ.ศ. 2526 ข้อ 4 กำหนดว่า “การใช้ยานพาหนะส่วนตัวเดินทางไปราชการให้เบิกเงินชดเชยให้แก่ผู้เดินทางไปราชการ ซึ่งเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองแล้วแต่กรณีได้ในอัตราต่อคันดังต่อไปนี้(1) รถยนต์ส่วนบุคคล กิโลเมตรละ 90 สตางค์” มาเทียบเคียงกับกรณีที่โจทก์จ่ายเงินชดเชยค่าพาหนะให้แก่พนักงานของโจทก์ในการที่พนักงานของโจทก์นำรถยนต์ส่วนตัวมาใช้เป็นพาหนะเดินทางไปปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนแก่โจทก์ในส่วนที่อยู่ในอัตรากิโลเมตรละ 90 สตางค์ยอมให้รับยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้จึงเหมาะสมแล้ว ดังนั้น จำนวนเงินชดเชยค่าพาหนะเหมาจ่ายที่เกินอัตรากิโลเมตรละ 90 สตางค์ ไปนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นประโยชน์ที่พนักงานโจทก์ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานของโจทก์เป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1) เมื่อโจทก์มิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 50 และนำส่งตามมาตรา 52จึงต้องร่วมรับผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 54 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์กับให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้นไม่ต้องด้วยความเห็นศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share