แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในวันสืบพยานจำเลยแต่ละนัด จำเลยนำพยานเข้าสืบครั้งละ1 ปาก คงมีการสืบพยาน 2 ปากเพียงครั้งเดียว และเลื่อนไปขอสืบพยานประเด็นอีกหลายปาก ซึ่งรวมพยาน 2 ปาก ที่ศาลชั้นต้นงดสืบด้วย ศาลที่รับประเด็นไม่ได้สืบเพราะจำเลยไม่ไปศาล เมื่อส่งประเด็นคืนจำเลยขอเลื่อนคดีและแถลงรับรองว่าถึงวันนัดจำเลยไม่มีพยานมาสืบก็จะไม่ติดใจสืบ พอถึงวันนัดจำเลยไม่สามารถนำตัวพยานมาสืบได้ ศาลชั้นต้นสอบจำเลยแล้วเห็นว่า พยานที่จำเลยจะขอสืบเป็นพยานแวดล้อม ไม่ใช่ประเด็นหลักไม่เสียเปรียบในการต่อสู้คดี จึงถือว่าจำเลยไม่ติดใจสืบพยานทั้งสองปาก ตามเหตุผลดังกล่าวพอถือได้ว่าจำเลยมีพฤติการณ์ประวิงคดีที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจงดสืบพยาน 2 ปาก ดังกล่าวจึงชอบแล้ว
ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยฐานปลอมเอกสารสิทธิเป็น3 กระทง ตาม ป.อ. มาตรา 265 โดยปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 264 ด้วยนั้นเห็นว่า เมื่อผิดบทเฉพาะตามมาตรา 265 แล้ว ก็ไม่จำต้องปรับบททั่วไปตามมาตรา264 อีก
เอกสารสิทธิตาม ป.อ. มาตรา 1(9) หมายถึงเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิ แต่ใบเสนอราคาเป็นเพียงคำเสนอที่จะขายหินให้แก่โจทก์ร่วม ยังไม่แน่ว่าโจทก์ร่วมจะตกลงซื้อหินหรือไม่ ใบเสนอราคาดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อสิทธิ มิใช่เอกสารสิทธิตามความใน ป.อ. มาตรา 1(9) การกระทำของจำเลยซี่งปลอมใบเสนอราคาและใช้เอกสารดังกล่าว จึงไม่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม คงเป็นความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก,268 วรรคแรกประกอบมาตรา 264 วรรคแรก เท่านั้น
ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 850,000 บาท แก่โจทก์ร่วม แต่โจทก์ร่วมได้ถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39(2) โจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้บังคับจำเลยใช้เงินคืนแก่โจทก์ร่วม