คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3597/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ไม่แน่ชัดว่า จำเลยรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือไม่ เมื่อจำเลยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริต เข้าใจว่าตนเองมีสิทธิที่จะทำได้ จึงขาดเจตนาในการกระทำความผิดฐานบุกรุกที่ดินของรัฐ
คำสั่งอนุญาตให้จำเลยสร้างบังกะโลได้เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ยังมีข้อโต้เถียงกันจนต้องส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ เมื่อจำเลยเชื่อว่าตนมีสิทธิทำได้ตามที่ได้รับอนุญาตจากรองอธิบดีกรมป่าไม้ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตอุทยานแห่งชาติ
ในการพิจารณาคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิด ข้อเท็จจริงที่ได้จากการที่จำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงนั้นแล้ว นำมาฟังลงโทษจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ มาตรา ๔, ๖, ๑๖ (๑), (๔) (๑๓), ๒๔, ๒๗ พ.ร.บ. โรงแรม พ.ศ. ๒๔๗๘ มาตรา ๓, ๔, ๑๙ ป.ที่ดิน มาตรา ๙, ๑๐๘ ทวิ และให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และ บริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินที่จำเลยยึดถือครอบครอง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินที่จำเลยยึดถือครอบครอง
โจทก์อุทธรณ์ โดยอัยการพิเศษประจำเขต ๒ ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืน แต่ให้ยกคำขอให้จำเลย คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของจำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทที่จำเลยยึดถือครอบครองตามฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อจากนายแร้ว เมื่อปี ๒๕๒๓ ต่อมาวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๒๔ มี พ.ร.ฎ. กำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาแหลมเทียน เขาเปล็ด เขาแหลมหญ้า เกาะเสม็ด และเกาะใกล้เคียงในท้องที่ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง และตำบลแกลง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ เมื่อระหว่างวัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยได้ดำเนินกิจการร้านค้าและบังกะโลให้เช่าจัดตั้งเป็นโรงแรมใช้ชื่อว่า “วงเดือนวิลล่า” ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวอยู่ที่บริเวณอ่าววงเดือน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยได้กระทำผิดฐานบุกรุกเข้ายึดถือครอบครอง ก่นสร้างที่ดินของรัฐหรือไม่นั้น เห็นว่าตามหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงมีข้อความระบุเพียงว่า “หนังสือนี้สำหรับแสดงว่าที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ที่เกาะเสม็ด เป็นที่สำหรับตั้งประภาคารและที่พักเจ้าพนักงานผู้รักษาประภาคาร” โดยที่ไม่มีข้อความระบุว่าที่ดินส่วนนี้เนื้อที่เท่าไร ตามแผนที่หมายเขตพื้นที่ของประภาคารเป็นเครื่องหมายเส้นและจุด(__ .) ก็มีปรากฏเพียงพื้นที่บางส่วนของเกาะเสม็ดไม่ใช่พื้นที่ทั้งเกาะ ซึ่งนายดาวเรืองเบิกความว่า ทางราชการใช้พื้นที่ของเกาะเสม็ดเป็นที่ตั้งประภาคารและที่พักของเจ้าพนักงานผู้รักษาประภาคาร นายสมบูรณ์เบิกความว่า หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ระบุว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นที่สำหรับตั้งประภาคารและที่พักเจ้าพนักงานผู้รักษาประภาคาร ที่ตั้งของประภาคารจะมีเนื้อที่ประมาณ ๒๐๐ ตารางวา เท่านั้น นอกจากนี้ปรากฏตามหนังสือกองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ บรรยายเกี่ยวกับพื้นที่ของเกาะเสม็ดว่าเกาะเสม็ดมีเนื้อที่ประมาณ ๖,๐๐๐ ไร่ พยานโจทก์อ้างว่าเกาะเสม็ดอยู่ในความดูแลของกองทัพเรือทั้งเกาะ แต่โจทก์ก็ไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าเป็นดังอ้าง หรือมีป้ายติดไว้รอบเกาะเช่นเดียวกับแนวเขตแสดงการเป็นอุทยานแห่งชาติที่ติดไว้รอบเกาะเป็นระยะ ๆ ปรากฏจากพยานโจทก์จำเลยรับกันว่า มีราษฎรเข้ามายึดถือครอบครองที่ดินอยู่บนเกาะเสม็ดอยู่ก่อนที่จะมี พ.ร.ฎ. กำหนดบริเวณที่ดินป่าเขาแหลมเทียน เขาเปล็ด เขาแหลมหญ้า เกาะเสม็ด และเกาะใกล้เคียง ในท้องที่ตำบลเพ อำเภอเมืองระยอง และตำบลแกลง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ดังนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ยังฟังได้ไม่แน่ชัดว่าจำเลยรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินของรัฐซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะหรือไม่ เมื่อจำเลยเข้าครอบครอง ที่ดินพิพาทโดยสุจริต เข้าใจว่าตนเองมีสิทธิจะทำได้ จำเลยจึงขาดเจตนาในการกระทำความผิดฐานบุกรุกที่ดินของรัฐดังฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตอุทยานแห่งชาติหรือไม่นั้น เห็นว่า ก่อนมี พ.ร.ฎ. กำหนดให้ที่ดินบนเกาะเสม็ดเป็นอุทยานแห่งชาติ มีราษฎรเข้ายึดถือครอบครองที่ดินบนเกาะเสม็ดอยู่แล้ว ปรากฏจากคำเบิกความของนายสมชาย นายอมร และนายดาวเรืองพยานโจทก์ว่า ได้กันพื้นที่ทางด้านเหนือของเกาะประมาณ ๗๐๐ ไร่ ให้ราษฎรอยู่อาศัย นอกจากนี้นายไพโรจน์ รองอธิบดีกรมป่าไม้ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้ ได้ทำบันทึกระบุว่ามีผู้อ้างว่าตกสำรวจ ทั้งนายไพโรจน์ยังทำบันทึกด้วยว่า กรมป่าไม้อนุญาตให้สร้างบังกะโลได้ ๕ หลัง ต่อพื้นที่ ๑ ไร่ ซึ่งนายสมบูรณ์พยานโจทก์ได้เบิกความตอบคำถามค้านยอมรับว่า นายไพโรจน์ทำบันทึกยินยอมให้เอกชนก่อสร้างบังกะโลได้ ๕ หลัง ต่อพื้นที่ ๑ ไร่จริง เมื่อนายไพโรจน์ทำบันทึกขณะปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมป่าไม้อนุญาตให้ราษฎรจำนวน ๓๔ ครอบครัว รวมทั้งจำเลยที่เดือดร้อนสร้างบังกะโลได้ ๕ หลัง ต่อพื้นที่ ๑ ไร่ เพื่อบริการนักท่องเที่ยวบนเกาะเสม็ด นายไพโรจน์จะมีอำนาจอนุญาตได้หรือไม่ และขัดต่อระเบียบของกรมป่าไม้หรือไม่ ก็ยังมีข้อโต้เถียงกันจนต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ ดังนี้ จึงมีเหตุน่าเชื่อว่าจำเลยเชื่อโดยสุจริตว่านายไพโรจน์ซึ่งเป็นรองอธิบดีกรมป่าไม้ขณะนั้นมีอำนาจโดยชอบในการที่จะอนุญาตให้สร้างบังกะโลบนเกาะเสม็ดได้ จำเลยจึงเข้าใจโดยสุจริตว่าตนเองมีสิทธิจะทำได้ตามที่ได้รับอนุญาตพยานโจทก์ยังฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีเจตนากระทำผิดฐานยึดถือครอบครองที่ดินภายในเขตอุทยานแห่งชาติตามฟ้อง
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยดำเนินกิจการโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้จะได้ความจากคำเบิกความของจำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า จำเลยดำเนินกิจการโรงแรมโดย ไม่ได้รับอนุญาต และเป็นเจ้าสำนักแห่งโรงแรมซึ่งเปิดดำเนินกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ตาม ก็เป็นข้อเท็จจริงที่ได้จากการที่จำเลยตอบคำถามค้านของโจทก์ถือไม่ได้ว่าโจทก์นำสืบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว เพราะในการพิจารณาคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิด แม้โจทก์จะมีนายสมบูรณ์และนายสมชายเบิกความว่า จำเลยใช้ชื่อ “วงเดือนวิลล่า” ก็ฟังไม่ได้ว่านายสมบูรณ์และนายสมชายเป็นเจ้าพนักงานผู้รู้เห็นเกี่ยวข้องกับการ ขออนุญาตดำเนินกิจการโรงแรมตาม พ.ร.บ. โรงแรมฯ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share