แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรมและผู้จัดการมรดกของ พ. ได้ครอบครองที่พิพาทสืบต่อมาในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นไปโดยสงบและเปิดเผยอย่างเป็นเจ้าของ. ส่วนจำเลยเป็นทายาทผู้สืบกรรมสิทธิ์จาก ส. ซึ่งมีชื่อในโฉนดที่พิพาท ฉะนั้น ภาระการพิสูจน์ว่าการครอบครองที่พิพาทของฝ่ายโจทก์ได้เป็นไปโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของย่อมตกอยู่แก่โจทก์(อ้างฎีกาที่ 521/2493,1112/2493).
แม้จำเลยจะเป็นฝ่ายนำสืบก่อนตามคำสั่งศาลชั้นต้น. หากจะทำการพิจารณาวินิจฉัยต่อไป. ก็ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ. ศาลฎีกาย่อมดำเนินการพิจารณาต่อไปตามรูปคดีที่โจทก์เป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบก่อนได้. โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาใหม่.
การที่ พ.ยอมให้ส.เอาที่พิพาทที่ส. จำนองไว้กับพ.ตีใช้หนี้ แม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียน. เมื่อพ.กับโจทก์ซึ่งเป็นทายาทได้ครอบครองมาเกิน 10 ปี ฝ่ายโจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทตามมาตรา 1382.สิทธิไถ่ถอนจำนองของจำเลยซึ่งเป็นทายาทของ ส.จึงระงับไป.จำเลยจะเถียงว่าเมื่อไม่มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง. การจำนองก็ยังมีอยู่หาได้ไม่. เพราะกรณีเป็นการที่ฝ่ายจำเลยยกที่พิพาทตีใช้หนี้และฝ่ายโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว. หนี้จำนองย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 321 ประกอบมาตรา 744(1). ทั้งจำเลยไม่ใช่บุคคลภายนอก.ซึ่งจะถือได้ว่าเมื่อไม่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองตามมาตรา 746. การจำนองก็ไม่ระงับไป.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายสุวรรณได้จำนองที่ดินโฉนดที่ 85 ไว้กับพระยาพิพัฒนธนากร นายสุวรรณไม่สามารถไถ่ถอนจำนองได้ จึงยกที่ดังกล่าวแทนหนี้จำนองและดอกเบี้ย พระยาพิพัฒนธนากรได้ครอบครองด้วยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ได้ให้ผู้มีชื่อและทายาทนายสุวรรณเช่าพระยาพิพัฒนธนากรถึงแก่กรรม โจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรมและผู้จัดการมรดก ได้ครอบครองที่แปลงนี้สืบต่อมาในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์และเป็นไปโดยความสงบและเปิดเผยอย่างเป็นเจ้าของ ปี 2507 จำเลยยื่นคำร้องขอรับมรดกที่ดินแปลงนี้โดยอ้างว่าได้ครอบครองในฐานะทายาทโดยธรรมนายสุวรรณ ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของพระยาพิพัฒนธนากรตลอดจนถึงโจทก์ โดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง กับให้เจ้าพนักงานที่ดินจัดการแก้ทะเบียนโฉนดเลขที่ 85ดังกล่าวใส่ชื่อพระยาพิพัฒนธนากรหรือชื่อโจทก์ ฯลฯ จำเลยทุกคนเว้นจำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยซึ่งเป็นทายาทนายสุวรรณรับมรดกที่ดินแปลงนี้ มอบที่พิพาทให้พระยาพิพัฒนธนากรผู้รับจำนองจัดหาผลประโยชน์ จำเลยและนายสุวรรณไม่ได้ตกลงยกที่พิพาทให้เป็นการใช้หนี้จำนอง จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นเห็นว่าพระยาพิพัฒนธนากรและโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทมาด้วยความสงบและเปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า10 ปีแล้ว พิพากษาว่าโจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทโฉนดที่ 85ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง ฯลฯ จำเลยทุกคนเว้นจำเลยที่ 3 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่อุทธรณ์ทุกคนฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าในเรื่องหน้าที่นำสืบนั้น เห็นว่าเมื่อจำเลยเป็นทายาทผู้สืบกรรมสิทธิ์จากนายสุวรรณ ภาระการพิสูจน์ว่าการครอบครองที่พิพาทของฝ่ายโจทก์ได้เป็นไปโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของยังตกอยู่แก่โจทก์ โจทก์มีหน้าที่นำสืบก่อน (อ้างฎีกาที่521/2493, 1112/2493) คดีนี้ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยจะเป็นฝ่ายนำสืบก่อน หากจะทำการพิจารณาวินิจฉัยต่อไป ก็ไม่ทำให้จำเลยเสียเปรียบ ฉะนั้น ศาลฎีกาจะได้ดำเนินการพิจารณาต่อไปตามรูปคดีที่โจทก์เป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบก่อน โดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาใหม่ ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า นายสุวรรณยกที่พิพาทตีใช้หนี้แก่พระยาพิพัฒนธนากร พระยาพิพัฒนธนากรครอบครองอย่างเป็นเจ้าของเมื่อนายสุวรรณตายแล้ว พระยาพิพัฒนธนากรและโจทก์ยังครอบครองที่พิพาทต่อมาโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปี การที่พระยาพิพัฒนธนากรยอมให้นายสุวรรณเอาที่พิพาทตีใช้หนี้ แม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือจดทะเบียน เมื่อพระยาพิพัฒนธนากรกับโจทก์ได้ครอบครองมาเกิน 10 ปีดังกล่าว ฝ่ายโจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่พิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382สิทธิไถ่ถอนของจำเลยจึงระงับไป และจำเลยจะเถียงว่าเมื่อไม่มีการจดทะเบียนไถ่ถอนจำนอง การจำนองก็ยังมีอยู่หาได้ไม่ เพราะกรณีเป็นการที่ฝ่ายจำเลยยกที่พิพาทตีใช้หนี้และฝ่ายโจทก์ได้ครอบครองที่พิพาทจนได้กรรมสิทธิ์แล้ว หนี้จำนองย่อมระงับไปตามมาตรา 321ประกอบด้วยมาตรา 744(1) ทั้งจำเลยไม่ใช่บุคคลภายนอกซึ่งจะถือได้ว่าเมื่อไม่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองตามมาตรา 746 การจำนองก็ไม่ระงับไป พิพากษายืน.