คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พนักงานตรวจแรงงานเชิญกรรมการผู้จัดการของจำเลยไปพบเนื่องจากโจทก์ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยถึงวันนัดได้ทำบันทึกข้อตกลงขึ้นอันเป็นการจัดทำตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ที่ให้โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องได้ในกรณีจำเลยผู้เป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างตามพระราชบัญญัตินี้ เงินที่โจทก์รับจากจำเลยตามบันทึกก็คือเงินตามที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ดังกล่าว อันเป็นเงินที่อยู่ในกรอบสิทธิที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ตามมาตรา 123 วรรคหนึ่ง และพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจดำเนินการได้ตามมาตรา 124 ไม่มีข้อความในบันทึกว่าโจทก์ไม่ประสงค์เรียกร้องเงินจากจำเลยตามกฎหมายอื่นอีก การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม เป็นการฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งโจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานไม่ได้ และไม่อยู่ในอำนาจดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงานจึงถือไม่ได้ว่าบันทึกดังกล่าวเป็นการประนีประนอมยอมความรวมไปถึงให้ระงับข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสด้วย
ปัญหาที่ว่า การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่หากเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมจำเลยชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสตามฟ้องหรือไม่เพียงใด เป็นปัญหาที่ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยต่อไป เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานทำให้ข้อเท็จจริงไม่พอวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์จำเลยเพื่อฟังข้อเท็จจริงต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยติดประกาศในที่สาธารณะว่าให้โจทก์ออกจากงานโดยโจทก์ไม่มีความผิดและไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและการปิดประกาศแจ้งการเลิกจ้างทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ถูกบุคคลอื่นดูหมิ่นเหยียดหยาม เสื่อมเสียชื่อเสียงและประวัติการทำงาน จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหาย 1,000,000 บาท และชดใช้ค่าเสียโอกาสในการที่โจทก์หางานใหม่ได้ยากตามภาวะเศรษฐกิจอีก 1,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 31,130 บาท ค่าจ้างค้างจ่าย 31,130 บาท ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี 12,735 บาท ค่าชดเชย 186,780 บาท ค่าเสียหาย 1,000,000 บาท ค่าเสียโอกาส 1,000,000 บาท

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า โจทก์เป็นหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลของจำเลย ได้สมคบกับพนักงานอื่นสนับสนุนให้มีการซื้อขายอวัยวะร่างกายมนุษย์อันเป็นการผิดจรรยาแพทย์อย่างร้ายแรง เป็นการกระทำที่ไม่อยู่ในวัตถุประสงค์และนโยบายของจำเลยอีกทั้งโจทก์สนับสนุนให้มีการยักยอกเงินของจำเลยไปซื้ออวัยวะและยังร่วมกับพนักงานอื่นจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ในราคาที่สูงกว่าปกติมากการปิดประกาศเลิกจ้างโจทก์ไม่ทำให้โจทก์เสียหาย พฤติการณ์ของโจทก์ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารงานของจำเลยอย่างร้ายแรงโจทก์จำเลยได้เจรจาตกลงกันที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ โดยโจทก์ได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 217,910 บาท ค่าจ้างจำนวน 22,829 บาท ค่าจ้างวันหยุดพักผ่อนประจำปี 9,339 บาท ไปจากจำเลยครบถ้วนแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า หลังจากโจทก์ยื่นฟ้องแล้วโจทก์กับกรรมการจำเลยตกลงกันโดยโจทก์ยอมรับเงินตามข้อหาท้ายฟ้องเกือบทั้งหมด ยังคงขาดค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสซึ่งโจทก์เรียกร้องเป็นจำนวนถึง 2,000,000 บาทโจทก์มีอายุ 36 ปี ทำงานในตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล เงินเดือนมาก นับว่าเป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะและสติสัมปชัญญะเพียงพอ ยอมลงลายมือชื่อต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ ตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งระบุว่าคู่กรณีตกลงกันได้โดยไม่ได้ระบุยกเว้นค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสซึ่งเป็นข้อหาสำคัญที่โจทก์อ้างว่าติดใจอยู่ในชั้นพิจารณา หมายความว่าโจทก์ยอมสละสิทธิเรียกร้องทั้งหมดและยอมรับเงินจำนวนนั้นแล้ว เป็นการยอมผ่อนผันให้แก่กันเพื่อระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จไป ทำให้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งหมดระงับสิ้นไป เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850, 852 จำเลยทราบว่าถูกโจทก์ฟ้องหลังจากโจทก์จำเลยตกลงกันแล้วและจำเลยยังไม่ได้เข้ามาเป็นคู่ความ จึงไม่ใช่การทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาล ดังนั้นไม่ว่าจำเลยจะให้การต่อสู้อย่างไรข้อตกลงดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ ทำให้สิทธิที่โจทก์นำคดีมาฟ้องระงับไป พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความแถลงรับมีเพียงที่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.1 เท่านั้น ส่วนที่ศาลแรงงานกลางอ้างเกี่ยวกับอายุตำแหน่งหน้าที่ สติปัญญาของโจทก์และเหตุผลต่าง ๆ ที่ศาลแรงงานกลางยกขึ้นวินิจฉัยเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ปรากฏในเอกสารหมาย ล.1 และในสำนวนจึงเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็นนั้น เห็นว่า ที่ศาลแรงงานกลางยกเรื่องเกี่ยวกับอายุ ตำแหน่งหน้าที่การงานของโจทก์ก็ดี เรื่องเกี่ยวกับการที่จำเลยทราบว่าถูกฟ้องเมื่อใดก็ดีขึ้นวินิจฉัย ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดแจ้งอยู่ในคำฟ้องของโจทก์และหลักฐานในสำนวนทั้งสิ้น สำหรับข้อวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางที่โจทก์อ้างว่านอกฟ้องนอกประเด็นก็เป็นเหตุผลที่ศาลแรงงานกลางต้องยกขึ้นอ้างในการวินิจฉัยคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวนเช่นเดียวกันอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ประการที่สองว่า การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.1 และโจทก์รับเงินจากจำเลยตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.1 แล้ว จะถือว่าโจทก์สละสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่โจทก์ถูกบุคคลอื่นดูหมิ่นเหยียดหยาม เสียชื่อเสียงและประวัติการทำงานเป็นเงิน 1,000,000บาท และค่าเสียโอกาสในการที่โจทก์หางานใหม่ได้ยากอีก 1,000,000 บาท ตามฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า ข้อความด้านหลังของเอกสารหมาย ล.1 ปรากฏว่าพนักงานตรวจแรงงานเชิญกรรมการผู้จัดการของจำเลยไปพบเนื่องจากโจทก์ร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานว่าถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ถึงวันนัดจึงได้ทำบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.1 ขึ้น เห็นได้ชัดว่าบันทึกข้อความดังกล่าวจัดทำขึ้นสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 123 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้โจทก์มีสิทธิยื่นคำร้องได้ในกรณีจำเลยผู้เป็นนายจ้างฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเกี่ยวกับสิทธิได้รับเงินของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้างตามพระราชบัญญัตินี้ เงินที่โจทก์รับจากจำเลยตามที่ปรากฏในบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.1 ก็คือเงินตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานดังกล่าว อันเป็นเงินที่อยู่ในกรอบสิทธิที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานได้ตามมาตรา 123 วรรคหนึ่งและพนักงานตรวจแรงงานมีอำนาจดำเนินการได้ตามมาตรา 124 ไม่มีข้อความในบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.1 ว่าโจทก์ไม่ประสงค์เรียกร้องเงินจากจำเลยตามกฎหมายอื่นอีก ส่วนค่าเสียหายจากการที่โจทก์ถูกบุคคลอื่นดูหมิ่นเหยียดหยาม เสียชื่อเสียงและประวัติการทำงานเป็นเงิน 1,000,000 บาทและค่าเสียโอกาสในการที่โจทก์หางานใหม่ได้ยากอีก 1,000,000 บาท รวมเป็นเงิน2,000,000 บาท นั้น โจทก์ฟ้องโดยอ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมเป็นการฟ้องตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ซึ่งโจทก์ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานไม่ได้ และไม่อยู่ในอำนาจดำเนินการของพนักงานตรวจแรงงาน จึงถือไม่ได้ว่าบันทึกข้อความเอกสารหมาย ล.1 เป็นการประนีประนอมยอมความรวมไปถึงให้ระงับข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสดังกล่าวด้วยอุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น แต่ปัญหาที่ว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ หากเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสตามฟ้องหรือไม่เพียงใดเป็นปัญหาที่ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยต่อไป เมื่อปรากฏว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานทำให้ข้อเท็จจริงไม่พอวินิจฉัยปัญหาดังกล่าว เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์จำเลยเพื่อฟังข้อเท็จจริงต่อไป”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานโจทก์จำเลยเพื่อฟังข้อเท็จจริงในปัญหาว่าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ และจำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสตามฟ้องหรือไม่เพียงใด แล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share