คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4702/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กำหนดเวลา “หนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด” ในการยื่นคำร้องขอคืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 หมายถึงกำหนดระยะเวลา 1 ปีนับแต่คดีเรื่องนั้นถึงที่สุด โดยเริ่มนับเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์หรือฎีกาแล้วไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกา มิใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบของกลาง แล้วไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ และแม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ในเรื่องริบของกลางแต่จำเลยยังอุทธรณ์เรื่องขอให้รอการลงโทษจำคุกอยู่ คดียังไม่ถึงที่สุด
เหตุเกิดในระหว่างสัญญาเช่าซื้อยังมีผลบังคับ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์อยู่ จึงเป็นผู้มีอำนาจร้องขอคืนของกลางได้การที่ผู้ร้องยังมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ ไม่ทำให้กรรมสิทธิ์เปลี่ยนไปจากผู้ร้องและจะถือว่าผู้ร้องทำไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีพฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ซึ่งตามทางนำสืบก็มิได้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1) (7) (8) (ที่ถูกมาตรา 335(1) (7) (8) วรรคสอง), 336 ทวิ จำคุกคนละ 9 เดือน ริบรถจักรยานยนต์และถุงผ้าของกลาง ส่วนนกเขียวและกรงนกของกลางคืนเจ้าของ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 2,500 บาทอีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี โดยคุมประพฤติจำเลยไว้ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องมีวัตถุประสงค์ให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ ผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ยี่ห้อซูซูกิ หมายเลขทะเบียนตรัง น – 1829 ของกลางได้ให้นางสาวละม่อม เกลี้ยงทิพย์ และจำเลยที่ 1 เป็นผู้เช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางราคา 42,400 บาท โดยผู้เช่าซื้อทั้งสองชำระเงินดาวน์จำนวน 5,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นรายเดือน เดือนละ 1,200 บาท เป็นเวลา 27 เดือนระหว่างสัญญาจำเลยที่ 1 นำรถจักรยานยนต์ของกลางไปกระทำความผิดคดีนี้ โดยผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้มีคำสั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง

โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลาง และผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อแรกของโจทก์ว่า จำเลยยื่นคำร้องขอคืนของกลางเกินกำหนด 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 บัญญัติให้เจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงเสนอคำขอต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด คำว่า “หนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด”หมายถึง กำหนดระยะเวลา 1 ปีนับแต่คดีเรื่องนั้นถึงที่สุด โดยเริ่มนับเมื่อสิ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์หรือฎีกาแล้วไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์หรือฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 มิใช่นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบของกลาง แล้วไม่มีฝ่ายใดอุทธรณ์ดังที่โจทก์ฎีกาคดีนี้แม้จำเลยจะมิได้อุทธรณ์ในเรื่องริบของกลางแต่จำเลยยังอุทธรณ์เรื่องขอให้รอการลงโทษจำคุกอยู่ คดีจึงยังไม่ถึงที่สุด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 วันที่ 28 กรกฎาคม 2540 โจทก์และจำเลยมิได้ฎีกาคดีจึงถึงที่สุดเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2540 การที่ผู้ร้องร้องขอคืนของกลางวันที่ 27 กรกฎาคม 2541 จึงเป็นการร้องขอต่อศาลภายใน 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

โจทก์ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า ผู้ร้องยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อจึงไม่มีสิทธิติดตามเอารถจักรยานยนต์ของกลางคืน แสดงว่าผู้ร้องใช้สิทธิแทนจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต จึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอคืนของกลาง เห็นว่า เหตุเกิดในระหว่างสัญญาเช่าซื้อยังมีผลบังคับ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถจักรยานยนต์อยู่ จึงเป็นผู้มีอำนาจร้องขอคืนของกลางตามบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นได้ การที่ผู้ร้องยังมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อหาทำให้กรรมสิทธิ์เปลี่ยนไปจากผู้ร้อง และจะถือว่าผู้ร้องทำไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 อันเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าผู้ร้องมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ซึ่งตามทางนำสืบก็มิได้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share