คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674-1675/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การทำสัญญาจะซื้อจะขาย ผู้จะขายไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่จะขายในขณะที่ทำสัญญา เพียงแต่จะต้องขวนขวายหาทรัพย์นั้นมาโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้จะซื้อได้ตามกำหนดในสัญญาเท่านั้น เมื่อผู้เสียหายทั้งสองทราบตั้งแต่เมื่อทำสัญญากับจำเลยที่ 1 ว่าที่ดินแปลงที่ทำสัญญายังเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่น จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่อย่างใด เพราะที่ดินที่ผู้เสียหายทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1 มีอยู่จริงและจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์จริง การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่ง คือ ไม่ปฏิบัติตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังซึ่งเป็นเวลาในอนาคตของเวลาที่ทำสัญญากันเท่านั้น หาใช่เป็นการหลอกลวงอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน

โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งสองโดยทุจริตร่วมกันหลอกลวงประชาชนทั่วไปด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริง ซึ่งควรบอกให้แจ้ง กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ได้จัดตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและแสดงตัวต่อประชาชนทั่วไปว่าเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงประชาชนโดยทั่วไปรวมทั้งนางสาวพรสุลี อันล้ำเลิศ ผู้เสียหายที่ 1 นางมาลี เงินสง่า ผู้เสียหายที่ 2 ว่าทำกิจการจัดสรรที่ดินและปลูกสร้างบ้านบนที่ดิน พร้อมทั้งได้ทำแผ่นปลิวโฆษณาแจกแก่ประชาชนทั่วไปในชื่อโครงการประกอบทรัพย์การ์เด้นท์โฮมโครงการ 3 โดยจำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงว่าจะนำที่ดินโฉนดเลขที่ 5298 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองมาจัดสรรเป็นแปลง ๆ แบ่งขายให้แก่ประชาชนผู้สนใจโดยทั่วไปซึ่งเป็นความเท็จ ความจริงแล้วที่ดินแปลงดังกล่าวที่จำเลยทั้งสองนำมาจัดสรรไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสองแต่เป็นของบุคคลอื่นและด้วยการหลอกลวงดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองหลงเชื่อตกลงซื้อที่ดินในโครงการของจำเลยทั้งสอง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343, 83 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 190,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 1 และจำนวน 400,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 และนับโทษของจำเลยที่ 1 ทั้งสองคดีติดต่อกัน

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 1 รับว่าเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 83 ให้จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี และปรับจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 10,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินจำนวน 190,000 บาทแก่ผู้เสียหายที่ 1 และจำนวน 400,000 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2 คำขออื่นให้ยก

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การทำสัญญาจะซื้อจะขายนั้น ผู้จะขายหาจำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ที่จะขายในขณะที่ทำสัญญาไม่ เพียงแต่จะต้องขวนขวายหาทรัพย์นั้นมาโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้จะซื้อได้ตามกำหนดในสัญญาเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้เสียหายทั้งสองทราบตั้งแต่เมื่อทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 1 แล้วว่าที่ดินแปลงที่ทำสัญญากันนี้ยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่น ดังนี้ จำเลยทั้งสองจึงมิได้แสดงข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแต่อย่างใดเพราะที่ดินที่ผู้เสียหายทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายกับจำเลยที่ 1 ก็มีอยู่จริง และจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้จะซื้อตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์จริง หากไม่มีกรณีพิพาทเกิดขึ้นระหว่างจำเลยทั้งสองกับเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยทั้งสองฝ่ายต่างปฏิบัติตามสัญญากันอย่างตรงไปตรงมาแล้ว จำเลยทั้งสองย่อมสามารถโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองได้ ดังที่จำเลยทั้งสองไม่เคยปฏิเสธสัญญาที่ทำกับผู้เสียหายทั้งสองและไม่เคยปฏิเสธว่าไม่ได้รับเงินจากผู้เสียหายทั้งสองเพียงแต่ยังไม่มีเงินคืนให้ผู้เสียหายทั้งสองได้ตามที่เรียกร้องและผู้เสียหายทั้งสองไม่ยอมเปลี่ยนไปเอาที่ดินในโครงการอื่นของจำเลยทั้งสองตามที่จำเลยทั้งสองเสนอให้เท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นเพียงการผิดสัญญาทางแพ่ง กล่าวคือไม่ปฏิบัติตามสัญญาอันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังซึ่งเป็นเวลาในอนาคตของเวลาที่ทำสัญญากันเท่านั้น หาใช่เป็นการหลอกลวงอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงไม่”

พิพากษายืน

Share