แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ร้อยตำรวจเอก ส. ได้สอบปากคำพยานโจทก์ทั้งสามหลังเกิดเหตุเพียงเล็กน้อยและทำบันทึกคำให้การทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น น่าเชื่อว่ารายละเอียดต่าง ๆ ในบันทึกคำให้การเป็นความจริงและพันตำรวจตรี ข. สอบสวนเพิ่มเติมให้พยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวดูตัวจำเลยในเวลาต่อมาหลังเกิดเหตุถึงสามปีเศษ พยานโจทก์ทั้งสามก็ยังยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย นอกจากนั้นโจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอก ป. พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งนำกำลังเจ้าพนักงานตำรวจไปที่เกิดเหตุหลังจากได้รับแจ้งเหตุว่าพยานในที่เกิดเหตุยืนยันว่าคนร้ายคือจำเลย ดังนั้น การที่พยานโจทก์ทั้งสามมาเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลว่าชายคนร้ายที่ยิงผู้ตายไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดนั้น เป็นการเบิกความบ่ายเบี่ยงไปอย่างขัดเหตุผล คำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ทั้งสามเชื่อได้ว่าเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาของศาล เมื่อรับฟังคำเบิกความของ ม. ภริยาผู้ตาย ประกอบกับคำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ทั้งสามแล้วรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 33, 288, 289(4) ริบของกลาง และนับโทษของจำเลยต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2057/2540 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) ลงโทษประหารชีวิตและริบของกลาง ที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อนั้น เมื่อศาลลงโทษประหารชีวิตจำเลยแล้ว จึงไม่อาจนับโทษต่ออีกได้
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุมีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายปิยะพงศ์ เซ่งซ่องกุล ผู้ตายจนถึงแก่ความตาย ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลย ปัญหาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่โจทก์มีประจักษ์พยานในที่เกิดเหตุสี่ปาก คือ นางมิตร ฉิมเรือง ภริยาผู้ตาย นายวิชัยบรรฐาน นายวิรัตน์ รองเดช และนายเหิม อินทร์เอียด โดยนางมิตรเบิกความว่าวันเกิดเหตุเวลาประมาณ 16.30 นาฬิกา นางมิตรช่วยล้างจานอยู่ในครัว เห็นผู้ตายนั่งอยู่ในเต็นท์งานเลี้ยงกับเพื่อน 3 ถึง 4 คน โรงครัวอยู่ห่างประมาณ 14 ถึง 15 เมตร เป็นพื้นที่โล่งสามารถมองเห็นเต็นท์และจุดที่ผู้ตายนั่งอยู่ได้ เวลาเกือบ 17 นาฬิกาได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด แล้วดังอีก 2 ถึง 3 นัด ติดต่อกัน นางมิตรวิ่งไปที่เต็นท์เห็นผู้ตายถูกยิงมองไปทางด้านซ้ายประตูวัดเห็นจำเลยถืออาวุธปืนวิ่งออกไปรู้จักจำเลยมาก่อนตั้งแต่เด็กโดยบ้านอยู่ใกล้กัน สาเหตุที่สามีถูกยิงเนื่องจากความขัดแย้งของสองตระกูล สำหรับประจักษ์พยานโจทก์อีกสามปากคือ นายวิชัย นายวิรัตน์และนายเหิมต่างเบิกความทำนองเดียวกันว่าวันเกิดเหตุเวลาใกล้ 18 นาฬิกา พยานโจทก์ทั้งสามนั่งอยู่กับผู้ตาย ได้ยินเสียงปืน 1 นัด ผู้ตายฟุบลงที่โต๊ะ พยานโจทก์ทั้งสามต่างลุกขึ้นวิ่งไปยังโรงครัว แอบอยู่ 3 ถึง 4 นาที ออกมาจากโรงครัวเห็นชายผู้หนึ่งถืออาวุธปืนสั้นวิ่งออกไปจากจุดเกิดเหตุขึ้นรถจักรยานยนต์หลบหนีไปไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดแต่ในชั้นสอบสวนพยานโจทก์ทั้งสามได้ให้การไว้ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.3 จ.6 และ จ.10 ซึ่งมีรายละเอียดว่า “ตอนที่คนร้ายยิงเสร็จแล้ววิ่งออกจากเต็นท์เห็นหน้าจำได้ว่าเป็นนายประจักษ์ บุญโยดม เนื่องจากรู้จักกันมาก่อนเห็นนายประจักษ์วิ่งถืออาวุธปืนไปติดเครื่องรถจักรยานยนต์ขับออกจากวัดไป”ปัญหาว่าคำเบิกความต่อศาลหรือคำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ทั้งสามส่วนใดเป็นความจริง ร้อยตำรวจเอกสุริยา ปัญญามัง พนักงานสอบสวนเบิกความว่าเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพบว่ามีการจัดงานศพอยู่ บริเวณหน้าโรงครัวมีเต็นท์อยู่ 3 หลังตั้งโต๊ะเลี้ยงอาหารอยู่ในเต็นท์หลังที่ 2 พบผู้ตายถูกยิงถึงแก่ความตายจากการสอบถามในเบื้องต้นผู้ที่นั่งร่วมโต๊ะอยู่ด้วยมีนายวิชัย นายวิรัตน์ และนายเหิมทราบว่าขณะเกิดเหตุนายประจักษ์จำเลยเข้ามาทางด้านหลังยิงผู้ตาย 3 นัด แล้ววิ่งขึ้นรถจักรยานยนต์หลบหนีไป พยานโจทก์ทั้งสามให้การตรงกันว่าคนร้ายคือจำเลยนี้ ร้อยตำรวจเอกสุริยาได้ให้พยานโจทก์ทั้งสามนั่งแสดงตำแหน่งในขณะเกิดเหตุและถ่ายรูปไว้ในทันทีตามภาพถ่ายแสดงการตรวจสถานที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.17 หลังจากทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุและตรวจสถานที่เกิดเหตุเรียบร้อยแล้วได้นัดให้พยานโจทก์ทั้งสามไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจในวันรุ่งขึ้น ได้สอบปากคำตามคำให้การชั้นสอบสวนเอกสารหมาย จ.3 จ.6 และ จ.10 หลังจากนั้นได้ส่งสำนวนให้ร้อยตำรวจเอกบุญชนะ สกุลณมรรคา สารวัตรสอบสวนตามระเบียบกรมตำรวจพันตำรวจตรีขวัญดี ฉิมพลี เป็นพนักงานสอบสวนคนต่อมาเบิกความว่า เมื่อจับจำเลยได้ในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ จึงนำคดีนี้มาตรวจสอบซึ่งจำเลยต้องหาว่าฆ่าผู้ตาย มีพยานในที่เกิดเหตุสี่คนได้เรียกพยานโจทก์ทั้งสี่คนมาดูตัว เมื่อดูแล้วพยานโจทก์ทั้งสี่ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย ได้สอบสวนเพิ่มเติมและทำบันทึกการดูตัวตามเอกสารหมาย จ.2 จ.4 จ.5 จ.8 จ.9 จ.11 และ จ.12 เห็นว่า ร้อยตำรวจเอกสุริยาได้สอบปากคำนายวิชัย นายวิรัตน์ และนายเหิม หลังเกิดเหตุเพียงเล็กน้อยและทำบันทึกคำให้การทั้งหมดในวันรุ่งขึ้น น่าเชื่อว่ารายละเอียดต่าง ๆ ในคำให้การหมาย จ.3 จ.6 และ จ.10 เป็นความจริง และพันตำรวจตรีขวัญดีสอบสวนเพิ่มเติมให้พยานโจทก์ทั้งสามดังกล่าวดูตัวจำเลยในเวลาต่อมาหลังเกิดเหตุถึงสามปีเศษ พยานโจทก์ทั้งสามก็ยังคงยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้าย นอกจากนั้นโจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกประทีป สมเปลี่ยน พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งนำกำลังเจ้าพนักงานตำรวจไปที่เกิดเหตุหลังจากได้รับแจ้งเหตุว่าพยานในที่เกิดเหตุยืนยันว่าคนร้ายคือจำเลย ดังนั้น การที่พยานโจทก์ทั้งสามมาเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลว่าชายคนร้ายที่ยิงผู้ตายไม่ทราบว่าเป็นผู้ใดนั้น เป็นการเบิกความบ่ายเบี่ยงไปอย่างขัดเหตุผล คำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ทั้งสามเชื่อได้ว่าเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความในชั้นพิจารณาของศาล เมื่อรับฟังคำเบิกความของนางมิตรภริยาผู้ตายประกอบกับคำให้การชั้นสอบสวนของพยานโจทก์ทั้งสามตามเอกสารหมาย จ.3 จ.6 และ จ.10 แล้ว รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริง ที่จำเลยนำสืบปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่นั้นไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ได้ พฤติการณ์ที่จำเลยเข้าไปยิงผู้ตายในวัดโดยลอบยิงทางด้านหลังขณะอยู่ในงานศพต่อหน้าผู้คนหมู่มากในเวลากลางวัน จึงเป็นการฆ่าผู้ตายและไตร่ตรองไว้ก่อน ทั้งเป็นการกระทำที่อุกอาจไม่เกรงกลัวต่อความผิด ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษจำเลยโดยกำหนดโทษประหารชีวิตเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน