คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 373/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ จะสิ้นสุดลงเมื่อคู่สัญญาบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและเรียกร้องให้หักทอนบัญชีรวมทั้งชำระหนี้ที่มีต่อกันโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนกว่าสัญญาเลิกกัน การที่จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินฝากเข้าและไม่ถอนเงินจากบัญชีกระแสรายวันถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญาแล้ว สัญญาบัญชีเดินสะพัดยังมีผลผูกพันจนถึงวันสุดท้ายที่โจทก์กำหนดในหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 10,404,989.18บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 9,375,826.43บาท และ 3,812 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11213, 11214, 14437, 23953 และ23955 ตำบลคลองสิบสอง (คลองสิบสาม) อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินไปชำระหนี้แก่โจทก์ หากขาดจำนวนอยู่เท่าใดให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบจำนวน

จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองไม่เคยทำสัญญาใด ๆ กับโจทก์ สัญญาที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นเอกสารปลอม ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกร้องเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ซึ่งเป็นโมฆะ จำเลยทั้งสองไม่เคยได้รับหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 7,476,465.90 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี ของต้นเงิน 7,472,653.90 บาทนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2540 ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19ต่อปี นับแต่วันที่ 30 เมษายน 2540 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงิน 3,812 บาท นับแต่วันที่ 22 เมษายน 2540จนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (วันที่ 26 พฤศจิกายน 2540) รวมทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 10,404,989.18 บาท หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11213, 11214, 14437, 23953 และ 23955 ตำบลคลองสิบสอง(คลองสิบสาม) อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบ

โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2540 หรือไม่ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2538ในวงเงิน 4,600,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ และใช้บัญชีเงินฝากประเภทกระแสรายวันสำหรับเดินสะพัดทางบัญชี จำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยให้โจทก์ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี และยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ตามที่โจทก์เห็นสมควร แต่ไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดให้เรียกได้โดยไม่ต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบก่อน กำหนดชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือนหากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดใดยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระมาทบเป็นต้นเงินได้ กำหนดหักทอนบัญชีทุกวันสิ้นเดือน จำเลยที่ 1 ได้จำนองที่ดินจำนวน 5 แปลง คือโฉนดเลขที่ 1131, 11214, 4437, 23953 และ 23955 ตำบลคลองสิบสอง (คลองสิบสาม) อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้มีข้อสัญญาว่าจำเลยที่ 1 จะเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างไว้เพื่อประโยชน์แก่โจทก์ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้โจทก์บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 จนครบจำนวน จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้นำเงินฝากเข้าบัญชีและถอนเงินหลายครั้ง ระหว่างนั้น โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยหลายครั้ง คือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2540 อัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี และนับแต่วันที่ 30 เมษายน 2540 เป็นต้นมาร้อยละ19 ต่อปี จำเลยที่ 1 ฝากเงินเข้าบัญชีอีกเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2538 และมีการฝากถอนในวันเดียวกันอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม2539 หลังจากนั้นไม่มีการฝากหรือถอนเงินกับโจทก์อีกเลย คงมีเพียงการคิดหักทอนบัญชีเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระเท่านั้น นอกจากนี้โจทก์ยังได้ชำระเบี้ยประกันภัยแทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 3,812 บาท หลังจากนั้นโจทก์มีหนังสือลงวันที่ 5 มีนาคม 2540 บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองภายในวันที่ 30 เมษายน 2540 หากคิดดอกเบี้ยทบต้นเรื่อยมาจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2540 จำเลยที่ 1 จะเป็นหนี้โจทก์จำนวน 9,375,426.43 บาท กับค่าเบี้ยประกันภัยอีก 3,812 บาทจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามแล้วไม่ชำระหนี้แก่โจทก์เห็นว่า เมื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการชำระหนี้ ดังนั้น สัญญาฉบับดังกล่าวจะสิ้นสุดลงเมื่อคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดนั้นและเรียกร้องให้หักทอนบัญชีรวมทั้งชำระหนี้ที่มีต่อกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 และ 859 ตราบใดที่ยังไม่มีการบอกเลิกสัญญาโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ตลอดไปจนกว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะเลิกกัน การที่จำเลยที่ 1 ไม่นำเงินฝากเข้าบัญชีเงินฝากกระแสรายวันและไม่ถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อโจทก์แล้ว สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังคงมีผลผูกพันจนถึงวันที่ 30 เมษายน 2540 อันเป็นวันสุดท้ายที่โจทก์กำหนดในหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2540 ซึ่งเป็นวันที่สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลง ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 สิ้นสุดลงแล้วตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2538 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 9,379,638.43บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากต้นเงิน 9,375,826.43บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยนั้นถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,024,919.11 บาท ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share